"ชาวนา"เฮเพิ่มค่าเก็บข้าว1พันบาท-ห้ามเช่าโกดังเอกชนปิดทางโกง

09 ก.ย. 2561 | 04:47 น.
ชาวนาเฮ นบข.ทบทวน เพิ่มค่าฝากเก็บข้าวให้ชาวนาเป็น 1,000 บาท ห้ามเช่าโกดังเอกชน ปิดทางทุจริต-บิดเบือนกลไกตลาด สหกรณ์เกษตรโบกมือลา อ้างค่าใช้จ่ายอื้อ รับความเสี่ยงสูง สกต.ศรีสะเกษผิดหวัง เป้าซื้อหอมมะลิ 2 หมื่นตันส่อวืด

โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2561/2562 หรือจำนำยุ้งฉางยังมีประเด็นที่ต้องติดตามต่อ หลังที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว(นบข.) ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชานายกฯ เป็นประธาน เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2561 ได้มีมติทบทวนโครงการ โดยกำหนดให้เกษตรกร
และสถาบันเกษตรกรต้องเก็บรักษาข้าวเปลือกในยุ้งฉางหรือสถานที่เก็บของตนเองเท่านั้น ไม่สามารถไปเช่าคลังเอกชนฝากเก็บได้ เพื่อป้องกันการทุจริตซํ้ารอยจำนำข้าว และปรับสัดส่วนค่าเก็บรักษาข้าวของชาวนาในยุ้งสถาบันเกษตรกรหรือสหกรณ์ เดิมให้สหกรณ์ตันละ 1,000 บาท ชาวนา 500 บาท กลับเป็นชาวนาได้1,000 บาท และสหกรณ์ได้ 500 บาท

นายศมณัฏฐ์ สุขก้อน ประธานกรรมการสหกรณ์การเกษตรเมืองตรอน จำกัด อำเภอตรอน จังหวัดอุตรดิตถ์ เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ค่าเก็บรักษาตันละ 500 บาทไม่คุ้ม สหกรณ์คงไม่เข้าร่วมโครงการแล้ว รับภาระไม่ไหว มีค่าใช้จ่ายมาก อาทิ ค่าจัดการลาน 100 บาท/ตัน ค่าขนย้ายข้าวไปอบลดความชื้น ไป-กลับ 100 บาทต่อตัน ค่าอบความชื้นตันละ 300 บาท ค่าเช่าโกดังตันละ 50 บาทต่อเดือน มีต้นทุนแล้ว 700 บาทต่อตัน ยังมีค่าถุงจัมโบ้ (บิ๊กแบ็ก) ที่ปีนี้นบข.กำหนดเงื่อนไขให้บรรจุเพื่อรักษาคุณภาพข้าวอีกใบละ 350 บาท ยังไม่รวมค่าระบบระบายอากาศ ค่าจ้างแรงงาน และอื่น ๆ สู้ให้เอกชนเช่าลานเก็บค่าเช่าตันละ 100 บาทดีกว่า

ชาวนา สอดคล้องกับนายสมพงษ์ จันทร์เพชร ประธานคณะกรรมการ สหกรณ์การเกษตรเพื่อการตลาดลูกค้าธ.ก.ส.ศรีสะเกษ จำกัด (สกต.ธกส.ศรีสะเกษ) กล่าวว่า รู้สึกผิดหวังมาตรการ นบข.ที่ทบทวนใหม่ ทำให้ไม่สามารถรับซื้อข้าวจากสมาชิกได้ในราคาสูงกว่าตลาด จากเดิมใช้ค่าฝากเก็บ 1,500 บาทต่อตัน ไปบริหารจัดการซื้อข้าวจาก
สมาชิกได้สูงกว่าราคาตลาด 700-800 บาท/ตัน เมื่อปรับลดสัดส่วนค่าฝากเก็บ สกต.ศรีสะเกษต้องปรับแผนรับซื้อข้าว จากเดิมตั้งเป้าปีนี้ 2 หมื่นตัน อาจจะไม่ได้ตามเป้าหมาย อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาการซื้อข้าวเป็นลักษณะซื้อขาดจากสมาชิก เป็นสิทธิ์ของ สกต.ที่จะนำข้าวไปแปรรูปจำหน่าย ชาวนาไม่มีสิทธิ์มาไถ่ถอนคืน

ด้านนายเกรียงศักดิ์ ตาป นานนท์ นายกสมาคมโรงสีข้าวไทย ออกมาหนุนการปรับสัดส่วนค่าฝากเก็บข้าวใหม่ที่ให้ชาวนาได้ 1,000 บาทต่อตัน ว่า ทำให้สกต.หรือสหกรณ์มีเงินค่าฝากเก็บไปบิดเบือนกลไกได้น้อยลง ที่ผ่านมาสหกรณ์หรือสกต.ซื้อข้าวขาดจากชาวนา ซึ่งมีความเสี่ยงเรื่องราคา แล้วมีสิทธิ์ในการขายเพื่อปันผลกำไรสู่สมาชิก หรือสถาบันเกษตรกรนั้นๆ ตามผลการบริหาร แต่ถ้าราคาตํ่ากว่ากำหนดก็ปล่อยให้หลุดจำนำ ก็จะตกเป็นหน้าที่ของ ธ.ก.ส.ที่จะนำข้าวในโกดังนั้นไปประมูลขาย หรือใช้วิธีอื่น ๆ เพื่อนำเงินมาคืนรัฐบาล ผลขาดทุนธ.ก.ส.ขอรัฐชดเชยได้

ขณะที่นายเจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่ง
ออกข้าวไทย และในกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) กล่าวว่า การจำนำยุ้งฉางที่ชาวนานำข้าวไปฝากไว้ในโกดังของสหกรณ์/สถาบันเกษตรกรที่ตนเป็นสมาชิกนั้น ชาวนายังคงเป็นเจ้าของข้าวอยู่ เมื่อราคาข้าวปรับสูงขึ้นชาวนามีสิทธิ์ที่จะไถ่ถอน เพื่อนำข้าวออกมาขายได้ในช่วงราคาตลาดปรับตัวสูงขึ้น เหมือนชาวนาจ้างสหกรณ์รับฝากข้าวต่ออีกทอดหนึ่ง ทั้งนี้ กรณีนบข.ทบทวนมาตรการ โดยไม่ให้เกษตรกรหรือสถาบันเกษตรกรไปเช่าโกดังเอกชนฝากเก็บข้าวนั้นรู้สึกสบายใจไปเปราะหนึ่ง เพราะหากไม่ทบทวนจะเป็นบ่อเกิดการทุจริต และอาจทำให้กลไกตลาดส่งออกข้าวบิดเบือนได้

ด้านนายสุเทพ คงมาก นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย กล่าวสั้นๆว่า พอใจและขอบคุณรัฐบาลที่เข้าใจชาวนาและได้รับประโยชน์จากจำนำยุ้งฉางมากขึ้น

เช่นเดียวกับนางสาวชุติมา บุณยประภัศร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่กล่าวว่า ค่าฝากเก็บข้าวอัตราที่ ธ.ก.ส.เสนอเดิมให้สหกรณ์ตันละ 1,000 บาท เกษตรกรได้ 500 บาท ในที่ประชุม นบข.นายกรัฐมนตรีไม่ยอม เห็นว่าชาวนาไม่ได้ประโยชน์ไม่ถูกต้องตามเจตนารมณ์ จำเป็นที่จะต้องปรับใหม่เพื่อประโยชน์สูงสุดของชาวนา อย่างไรก็ดีในที่ประชุมครม.วันที่ 4 กันยายน 2561 ไม่มีวาระรายงานมติที่ประชุม นบข.ดังกล่าวให้ครม.รับทราบ เพราะเรื่องเข้าครม.ไม่ทัน แต่ทุกอย่างเป็นไปตามมตินบข.

หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,398 วันที่ ุ6-8 ก.ย. 2561