‘ทรู’ กับบทพิสูจน์ กฎหมายศักดิ์สิทธิ์

08 ก.ย. 2561 | 14:00 น.
[caption id="attachment_314719" align="aligncenter" width="503"] ธนินท์ เจียรวนนท์ ธนินท์ เจียรวนนท์[/caption]

ธุรกิจโทรคมนาคมกลับมาร้อนแรงขึ้นอีกครั้งหลังจาก บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น หรือ ทรู ธุรกิจโทรคมนาคม ในเครือซีพี ของ “เจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์” มหาเศรษฐีอันดับต้นๆ ของไทย เจ้าของทฤษฎี 2 สูง ส่งเอกสารถึงตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ชี้แจงปัญหาข้อพิพาทระหว่างบริษัทกับหน่วยงานรัฐ 2 กรณี พร้อมประกาศเดินหน้าต่อสู้ตามขั้นตอนทางกฎหมายต่อไปจนกว่าคดีจะถึงที่สุด

กรณีแรกคือ บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น หรือ ทรู เตรียมยื่นเรื่องดำเนินการอุทธรณ์ตามขั้นตอนทางกฎหมาย เพื่อขอให้ศาลเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการที่ชี้ขาดกรณีข้อพิพาทเกี่ยวกับการให้บริการอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง (ADSL) กับ บมจ.ทีโอที ให้ทรูฯ ชำระค่าผิดสัญญาให้แก่ทีโอที เป็นเงินต้นรวมกว่า 76,000 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย

ข้อพิพาทระหว่างทรูกับทีโอทีนั้น เป็นปัญหาที่ยืดเยื้อมากว่า 13 ปี ตั้งแต่วันที่ 28 ตุลาคม 2548 บมจ.ทีโอที ได้ยื่นคำเสนอข้อพิพาทต่อสถาบันอนุญาโตตุลาการ ระบุว่าทรูละเมิดข้อตกลงในสัญญาสัมปทานโทรศัพท์พื้นฐาน โดยนำอุปกรณ์ในระบบโทรศัพท์พื้นฐานไปให้บริการอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง แต่ไม่ได้แบ่งรายได้ให้กับทีโอทีในฐานะเจ้าของสัญญาสัมปทาน ทีโอที จึงเรียกค่าเสียหายจากการขาดรายได้จากการให้บริการอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงจากทรู กระทั่งเมื่อวันที่ 4 กันยายน 2561 คณะอนุญาโตตุลาการ ได้มีคำชี้ขาดให้บริษัทชำระเงินค่าผิดสัญญาให้แก่ทีโอทีรวมเป็นเงินกว่า 76,000 ล้านบาทพร้อมดอกเบี้ย
090861-1927-9-335x503 เพิ่มเพื่อน

อีกกรณี คือ การที่ ทรู แสดงความไม่เห็นด้วยกับมติ กสทช.ต่อกรณีการเรียกให้บริษัท ทรู มูฟ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อย ต้องนำส่งเงินรายได้จากการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่บนคลื่นความถี่ย่าน 1800 ในช่วงคุ้มครองผู้ใช้บริการ นับตั้งแต่วันที่เข้าสู่มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการเป็นการชั่วคราว จำนวน 3,381.95 ล้านบาท

ต้องยอมรับว่าการใช้กระบวนการอนุญาโตตุลาการระงับข้อพิพาทระหว่างหน่วยงานรัฐและเอกชน น้อยครั้งมากที่หน่วยงานของรัฐจะเป็นผู้ชนะ จนในที่สุดต้องมีการนำเรื่องยื่นอุทธรณ์เพื่อขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งอนุญาโตตุลาการ ซึ่งหลายครั้งศาลตัดสินให้หน่วยงานรัฐเป็นผู้ชนะ

หลังจากนี้หน่วยงานของรัฐรวมทั้งทีโอที จะต้องเตรียมความพร้อต่อสู้คดีกับบริษัททรูฯ เพื่อเรียกผลประโยชน์ที่รัฐควรจะได้กลับมาแบบเต็มเม็ดเต็มหน่วย เช่นเดียวกับกสทช.องค์กรอิสระที่กำกับดูแลกิจการโทรคมนาคม ก็ต้องบังคับใช้กฎหมายที่มีอยู่ในมืออย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด เพื่อให้ข้อพิพาททั้ง 2 กรณีเป็นบทพิสูจน์ความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมาย

|บทบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ
|หน้า 6 ฉบับ 3399 ระหว่างวันที่ 9-12 ก.ย.2561
23626556