คป.จับมือ26บริษัทรับโอนกรมธรรม์ หลังคลังเพิกถอนใบอนุญาต"เจ้าพระยา"

08 ก.ย. 2561 | 09:45 น.
คปภ.ประสาน26บริษัทรับโอนกรมธรรม์ช่วยผู้เอาประกันภัยและเจ้าหนี้หลังคลังสั่งเพิกถอนใบอนุญาต-พร้อมเปิดช่องให้บมจ.เจ้าะระยาฯยื่นคำฟ้องต่อศาลปกครองกลางภายใน90วันกรณีไม่เห็นชอบในคำสั่ง

คปภ
ตามที่คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (สำนักงาน คปภ.)มีมติ(ครั้งที่10/2561เมื่อวันที่29สิงหาคม2561)ให้เสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเพื่อพิจารณามีคำสั่งเพิกถอนใบ อนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยของบริษัทเจ้าพระยาประกันภัยจำกัด(มหาชน) เนื่องจากบมจ.เจ้าพระยามีหนี้สินรวมสูงกว่าทรัพย์สินจำนวน267.78ล้านบาทอัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุนติดลบ210.28%อาจเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เอาประกันภัยหรือประชาชนนั้น
ล่าสุดรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มีคำสั่งที่ 1213/2561 ลงวันที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2561 ให้เพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัย ของบริษัท เจ้าพระยาประกันภัย จำกัด (มหาชน) แล้ว โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 59 (1) (2) และ (5) แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 และหากบริษัทไม่เห็นด้วยกับคำสั่งนี้ มีสิทธิเสนอคำฟ้องยื่นต่อศาลปกครองกลางภายใน90วันนับแต่วันที่ได้รับทราบคำสั่ง
อย่างไรก็ตามสำนักงาน คปภ.เตรียมมาตรการต่างๆเพื่อรองรับมิให้ผู้เอาประกันภัยและประชาชนได้รับผลกระทบโดย แต่งตั้งให้กองทุนประกันวินาศภัย เป็นผู้ชำระบัญชี พร้อมแนวทางการช่วยเหลือผู้เอาประกันภัยและประชาชนไว้แล้ว
ทั้งนี้ สำนักงาน คปภ. ได้รับความร่วมมือจากบริษัทประกันวินาศภัย จำนวน 26 บริษัท ที่ยินดีรับโอนกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ที่ยังมีผลผูกพันของผู้เอาประกันภัยที่ได้ทำไว้กับบริษัท เจ้าพระยาประกันภัย จำกัด (มหาชน) โดยมีเงื่อนไข ดังนี้
- กรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ (ภาคสมัครใจ) ผู้เอาประกันภัยสามารถขอทำประกันภัยสำหรับความคุ้มครองตามระยะเวลาของกรมธรรม์เดิม โดยบริษัทจะขยายระยะเวลาความคุ้มครองเพิ่มเติมให้เท่ากับระยะเวลาที่เหลืออยู่ โดยไม่คิดค่าเบี้ยประกันภัยเพิ่ม หรือ ผู้เอาประกันภัยสามารถขอทำประกันภัยสำหรับความคุ้มครอง 1 ปี โดยบริษัทประกันภัยจะให้ส่วนลดเบี้ยประกันภัยเท่ากับจำนวนเบี้ยประกันภัยตามส่วนเฉลี่ยของระยะเวลาประกันภัยที่เหลืออยู่ตามกรมธรรม์เดิม ทั้งนี้ ส่วนลดที่จะให้แก่ผู้เอาประกันภัยจะไม่น้อยกว่า 25% ของเบี้ยประกันภัยเต็มปีของกรมธรรม์ประกันภัยเดิม
สำหรับ กรมธรรม์ประกันภัยประเภทอื่น ๆ นอกเหนือจากกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ (ภาคสมัครใจ) ผู้เอาประกันภัยสามารถขอทำประกันภัยสำหรับความคุ้มครองตามระยะเวลาของกรมธรรม์เดิม โดยบริษัทจะขยายระยะเวลาความคุ้มครองเพิ่มเติมให้เท่ากับระยะเวลาที่เหลืออยู่ โดยไม่คิดค่าเบี้ยประกันภัยเพิ่ม ซึ่งผู้เอาประกันภัยจะต้องโอนสิทธิที่จะได้รับเบี้ยประกันภัยสำหรับระยะเวลาที่เหลือจากกองทุนประกันวินาศภัย ในฐานะผู้ชำระบัญชีของบริษัท เจ้าพระยาประกันภัย จำกัด (มหาชน) ให้แก่บริษัทที่รับโอนกรมธรรม์ประกันภัยนั้นด้วย
กรณีที่กรมธรรม์ประกันภัยมีความเสียหายเกิดขึ้นแล้ว การเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดของกองทุนประกันวินาศภัย ในฐานะผู้ชำระบัญชีของบริษัท เจ้าพระยาประกันภัย จำกัด (มหาชน) โดยสำนักงาน คปภ. ในทุกพื้นที่ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาคจะทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานและอำนวยความสะดวกแก่ผู้เอาประกันภัยหรือประชาชนเป็นเบื้องต้น
สำหรับผู้เป็นเจ้าหนี้ตามสัญญาประกันภัยของบริษัท ให้ยื่นขอรับชำระหนี้ต่อกองทุนประกันวินาศภัย ในฐานะผู้ชำระบัญชีของบริษัท เจ้าพระยาประกันภัย จำกัด (มหาชน) ภายใน 60 วันนับแต่วันที่กองทุนประกันวินาศภัยกำหนดในประกาศ โดยให้นำเอกสารต้นฉบับพร้อมทั้งสำเนา จำนวน 2 ชุด ประกอบการยื่นขอรับชำระหนี้ ดังนี้ กรมธรรม์ประกันภัย บัตรประจำตัวประชาชน ใบเคลม ใบนัดชำระหนี้ หรือเอกสารอื่นใดที่แสดงถึงมูลหนี้ หนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคล (กรณีเป็นนิติบุคคล)
และเจ้าหนี้อื่นที่ไม่ใช่เจ้าหนี้ตามสัญญาประกันภัย ให้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อกองทุนประกันวินาศภัยในฐานะผู้ชำระบัญชีของบริษัท เจ้าพระยาประกันภัย จำกัด (มหาชน) ภายใน 60 วันนับแต่วันที่กองทุนประกันวินาศภัยกำหนดในประกาศ พร้อมทั้งนำเอกสารแสดงความเป็นเจ้าหนี้ ต้นฉบับพร้อมทั้งสำเนา จำนวน 1 ชุด ประกอบการยื่นขอรับชำระหนี้ ดังนี้ หลักฐานแสดงถึงมูลหนี้ บัตรประจำตัวประชาชน หนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคล (กรณีเป็นนิติบุคคล)
หากเจ้าหนี้ไม่สามารถยื่นได้ด้วยตนเอง จะต้องมีหนังสือมอบอำนาจโดยติดอากรแสตมป์ 30 บาท พร้อมกับสำเนาบัตรประชาชนผู้มอบอำนาจและผู้รับมอบอำนาจ ยื่นต่อกองทุนประกันวินาศภัย ในฐานะ ผู้ชำระบัญชีของบริษัท เจ้าพระยาประกันภัย จำกัด (มหาชน)