กลุ่มปิโตรฯ ลุ้นบอร์ดบีโอไอ ดัน 6 นิยามหนุนทุน 5 แสนล้าน

17 ก.พ. 2559 | 04:00 น.
เอกชนแห่ลงทุนคลัสเตอร์ปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ เสนอแผนลงทุนให้"อรรชกา"เห็นแล้ว 5.67 แสนล้านบาท พร้อมลงทุนในปีนี้ 3.66 แสนล้านบาท แต่ต้องวัดใจบีโอไอจะไฟเขียวคลอด 6 นิยามประเภทกิจการใหม่ตามที่ร้องขอหรือไม่ หากยังลังเลยอดลงทุนหดเหลือแค่ 2 แสนล้านบาท พร้อมขอขยายเวลายื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนออกไปจากปีนี้ เหตุสร้างโรงงานไม่ทัน

[caption id="attachment_31658" align="aligncenter" width="503"] แผนการลงทุนของคลัสเตอร์ปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แผนการลงทุนของคลัสเตอร์ปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม[/caption]

ดร.เกรียงศักดิ์ วงศ์พร้อมรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันพลาสติก ในฐานะเลขานุการคณะอนุกรรมการเร่งรัดนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษคลัสเตอร์ปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เปิดเผยกับ"ฐานเศรษฐกิจ"ถึงความคืบหน้าในการดำเนินงานว่า จากที่คณะอนุกรรมการได้มีการกำหนดผลิตภัณฑ์เป้าหมายที่มีศักยภาพ กลุ่มนักลงทุนเป้าหมาย และมาตรการสนับสนุน ให้ที่ประชุมคณะกรรมการเร่งรัดนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษในรูปแบบคลัสเตอร์ ที่มีดร.อรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธาน รับทราบไปแล้วเมื่อช่วงปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมาโดยได้พิจารณากลุ่มประเภทกิจการเพิ่มเติมขึ้นมาใหม่ใน 6 กลุ่มประเภทกิจการ พร้อมกับคำนิยามประเภทกิจการของคลัสเตอร์ปิโตรเคมี ที่จะได้รับการส่งเสริมด้านสิทธิประโยชน์สูงสุด จากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนหรือบีโอไอ ให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น ได้แก่ 1.ประเภทกิจการ Finechemicals/Materials ที่เป็นเคมีภัณฑ์และวัสดุ ที่มีความบริสุทธิ์สูง หรือที่มีโครงสร้างเคมีเฉพาะเจาะจง ซึ่งผลิตจากกระบวนการสังเคราะห์/กระบวนการสกัด/กระบวนการแยก ที่มีความพิถีพิถัน

2.ประเภทกิจการ SpecialtyChemicals/Materials ซึ่งเป็นเคมีภัณฑ์และวัสดุ ที่มีคุณสมบัติทางเคมีที่พิเศษ และทางกายภาพที่พิเศษ มีประสิทธิภาพในการใช้งานสูงกว่าเคมีภัณฑ์และวัสดุทั่วไป รวมถึงเคมีภัณฑ์และวัสดุที่ได้จากการผสมและควบรวมของเคมีภัณฑ์และวัสดุหลายชนิด ทำให้เป็นเคมีภัณฑ์และวัสดุ ที่มีคุณสมบัติทางกายภาพและหรือทางเคมีที่พิเศษ มีประสิทธิภาพในการใช้งานสูงกว่าเคมีภัณฑ์และวัสดุทั่วไป

3.การลงทุนเพื่อลดภาวะทางสิ่งแวดล้อม ที่จะเป็นการลงทุนในหน่วยผลิตในโรงงานที่มีอยู่ในปัจจุบัน โดยการสร้างใหม่และการเปลี่ยนใหม่ เพื่อลดการใช้ปิโตรเลียมหรือพลังงาน หรือลดมลพิษทางสิ่งแวดล้อม เช่น ลดปริมาณของเสียจากกระบวนการผลิต เป็นต้นอีกทั้ง 4.การลงทุนเพื่อปรับปรุงด้านเทคโนโลยี ที่เป็นการลงทุนปรับเปลี่ยนโครงสร้างการผลิตใหม่ ขยายกำลังการผลิต การปรับปรุงอุปกรณ์หรือหน่วยผลิตด้วยการรื้อและประกอบใหม่ และการเปลี่ยนอุปกรณ์หน่วยผลิต ด้วยการรื้อถอนหรือปรับปรุงหน่วยผลิตเดิมเป็นหน่วยผลิตใหม่ที่ทันสมัยหรือใช้เทคโนโลยีขั้นสูง และลดมลพิษทางสิ่งแวดล้อม

5.อุตสาหกรรมชีวภาพ ที่เป็นการลงทุนเพื่อสร้างอุตสาหกรรมการผลิตสินค้าชีวภาพ จากวัตถุดิบที่เป็นสินค้าเกษตร มีการใช้เทคโนโลยีชีวภาพ มีการใช้ตัวเร่งปฏิกิริยาเคมีและตัวเร่งปฏิกิริยาชีวภาพ เช่น เอนไซม์/จุลินทรีย์ เป็นตัวเร่งปฏิกิริยา และมีการร่วมมือกันระหว่าง สถาบันวิจัย สถาบันการศึกษา และสถาบันฝึกอบรมในด้านเทคโนโลยีขั้นสูง เป็นตัน และ6.กลุ่มประเภทกิจการอื่นๆ เช่น การลงทุนเพื่อพัฒนาทางด้านเทคโนโลยี กิจกรรมสนับสนุนการผลิต โครงสร้างพื้นฐานและโลจิสติกส์

ดร.เกรียงศักดิ์ กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ ผลจากการกำหนดคำนิยามประเภทกิจการของคลัสเตอร์ปิโตรเคมีที่ออกมา ส่งผลให้ภาคเอกชนแสดงความสนใจที่จะลงทุนเข้ามาเป็นจำนวนมาก เห็นได้จากแต่เดิมมีภาคเอกชนที่ได้เสนอแผนการลงทุนเข้ามาประมาณ 2 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นเป็น 5.67 แสนล้านบาท(ดูตารางประกอบ) โดยแบ่งเป็นการลงทุนในช่วงปี 2559 จำนวน3.66 แสนล้านบาท แยกเป็น การลงทุนจากโครงการเดิมที่มีอยู่แล้ว 1-1.02 แสนล้านบาท และเป็นโครงการลงทุนใหม่ 2.64 แสนล้านบาท ส่วนการลงทุนหลังจากปี 2559 ไปแล้ว จะอยู่ในราว 1.868-2.01 แสนล้านบาท แบ่งเป็น การลงทุนจากโครงการเดิมที่มีอยู่แล้ว 8-8.6 หมื่นล้านบาท และเป็นโครงการลงทุนใหม่ 1.05-1.14 แสนล้านบาท

แต่ทั้งนี้ การลงทุนจะเป็นไปตามที่ภาคเอกชนเสนอมากหรือไม่นั้น ต้องขึ้นอยู่กับว่าทางบอร์ดบีโอไอ จะพิจารณาเห็นชอบตามคำนิยามประเภทกิจการทั้ง 6 กลุ่มหรือไม่ ซึ่งในเรื่องนี้ทาง ดร.อรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการ ในฐานะประธานคณะกรรมการ ก็ได้มอบหมายให้บีโอไอไปพิจารณาแล้ว แต่ขึ้นอยู่กับบอร์ดบีโอไอจะอนุมัติหรือไม่ เพราะหากบีโอไอไม่เห็นด้วยกับคำนิยามประเภทกิจการที่จะได้รับการส่งเสริมการลงทุน ผู้ประกอบการที่จะลงทุนใน 6 กลุ่มประเภทกิจการนี้ อาจจะปรับเม็ดเงินลงทุนลดลงเหลือเพียง 2 แสนล้านบาทก็เป็นได้

นอกจากนี้ ทางภาคเอกชนยังเห็นว่า บีโอไอควรขยายระยะเวลาในการยื่นคำขอรับการส่งเสริมการลงทุน ที่กำหนดไว้ภายในปี 2559 และปิดดำเนินการในปี 2560 ถึงจะได้รับการส่งเสริมการลงทุนนั้นมองว่า การก่อสร้างโรงงานเป็นโครงการขนาดใหญ่ต้องใช้ระยะเวลาก่อสร้างถึง 3 ปี อีกทั้ง โครงการลงทุนจะต้องนำเสนอบอร์ดผู้บริหารของแต่ละบริษัท และจะต้องทำการศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุน ดังนั้น ระยะเวลาที่บีโอไอกำหนดออกมา จึงไม่เอื้อให้เกิดการลงทุนได้ทัน อีกทั้ง ทางคณะอนุกรรมการ ได้มีข้อเสนอที่จะขอเพิ่มพื้นที่จังหวัดเป้าหมายในการส่งเสริมการลงทุนของคลัสเตอร์ปิโตรเคมีออกไปด้วย จากเดิมที่กำหนดไว้ในจังหวัดระยองและชลบุรี เนื่องจากเห็นว่าทั้ง 2 พื้นที่ดังกล่าว ไม่เอื้ออำนวยต่อการตั้งโรงงานอุตสาหกรรมชีวภาพ เพราะอยู่ไกลจากแหล่งการปลูกอ้อย ที่ต้องใช้น้ำตาลเป็นวัตถุดิบ ซึ่งคณะกรรมการได้มอบหมายให้บีโอไอนำไปพิจารณาตามความเหมาะสมแล้ว

ส่วนการแก้ไขปัญหาผังเมืองรวมจังหวัดระยองและสิ่งแวดล้อมนั้น ทางคณะอนุกรรมการกำหนดให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(กนอ.) ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินงานปรับปรุงการบริหารจัดการและกำกับดูแลด้านสิ่งแวดล้อมในพื้นที่มาบตาพุด และการแก้ไขพื้นที่ผังเมืองรวม จะมีการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งผลักดัน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการประสานและจัดทำมาตรการในการแก้ไขปัญหาอยู่

ขณะที่การส่งเสริมการใช้พลาสติกชีวภาพนั้น ทางคณะอนุกรรมการ เห็นว่าภาครัฐควรจะมีมาตรการ Green Tax Credil ให้สำหรับผู้ที่ใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพ สามารถนำค่าใช้จ่ายจากการใช้ผลิตภัณฑ์นำไปหักลดค่าใช้จ่ายได้ 200-300 % ในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคล เพื่อเป็นการสร้างตลาดให้เกิดขึ้นในประเทศ ซึ่งในส่วนนี้ทางกระทรวงการคลังได้รับหลักการในเรื่องนี้ไปพิจารณาแล้ว แต่ยังไม่มีความชัดเจนออกมา

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,131 วันที่ 14 - 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559