การยางประเทศไทยประเดิมปล่อยกู้พันล้าน เปิดช่องผู้ไม่มีเอกสารสิทธิ์ 7.5 แสนรายร่วม

16 ก.พ. 2559 | 08:30 น.
กยท. เตรียมปล่อยสินเชื่อ 1 พันล้านให้ชาวสวนยางกู้ ตามมาตรา 49 (3) คิกออฟ พ.ค.นี้ เล็งเปิดช่องให้กับผู้ที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ 7.5 แสนครัวเรือนเข้าร่วม ข้อแม้ต้องรวมกลุ่มจดเป็นสถาบันเกษตรกรก่อน เผยปีงบฯ 2559 กยท.มีเงินเหลือปลอดภาระผูกพันตุนในกระเป๋า 3.6 พันล้าน ขณะปี 2560 คาดมีรายได้จากการจัดเก็บเงินเซสส์ 5.6 พันล้าน

นายประสิทธิ์ หมีดเส็น กรรมการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) และในฐานะประธานคณะทำงานจัดทำงบประมาณและการบริหารเงินกองทุนพัฒนายางพาราตาม มาตรา 49 (3) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ตามมาตรานี้จะเป็นเรื่องการส่งเสริมและสนับสนุนและให้ความช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยาง สถาบันเกษตรกร ชาวสวนยางและผู้ประกอบกิจการยาง โดยในปีงบประมาณ 2559 ได้รับการจัดสรรวงเงิน 1.89 พันล้านบาท ซึ่งที่ประชุมได้มีมติที่จะจัดสรรวงเงินนี้ให้ตรงตามวัตถุประสงค์ ของ พ.ร.บ.การยางแห่งประเทศไทย พ.ศ.2558 ต่อไป

สำหรับในปีงบประมาณ 2559 นี้ จะมีการให้สินเชื่อแก่เกษตรกร วงเงิน 1 พันล้านบาท เพื่อใช้ในกิจกรรมต่างๆ ที่เปิดโอกาสให้เกษตรกรและผู้ประกอบการตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำได้พัฒนาผลิตภัณฑ์แปรรูปด้านอุตสาหกรรม ส่วนในปี 2560 ได้รับการจัดสรรงบ 1.19 พันล้านบาท คาดจะนำมาปล่อยสินเชื่อ 800 ล้านบาท โดยจะคิดอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 2% ซึ่งผลสรุปของคณะทำงานจะนำเสนอต่อคณะกรรมการบริหาร หรือบอร์ด กยท.เพื่อพิจารณาในวันที่ 16 กุมภาพันธ์นี้ หากบอร์ดเห็นชอบแล้ว จะมาวางระเบียบกฎเกณฑ์ให้รัดกุมเพื่อปล่อยกู้ต่อไป

"จะเปิดโอกาสให้เกษตรกร และผู้ประกอบการ สนใจที่จะเข้าร่วมโครงการมายื่นความจำนงเพื่อขอใช้สิทธิ์ในการขอสินเชื่อ ส่วนผู้ที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ก็สามารถที่จะเข้าร่วมได้เช่นเดียวกัน แต่ไปต้องจดทะเบียนในรูปของสถาบันเกษตรกร กับกรมส่งเสริมสหกรณ์ ซึ่งหากเป็นนิติบุคคลแล้วจะสามารถใช้สิทธิ์เข้าร่วมโครงการนี้ได้ คาดจะปล่อยสินเชื่อได้ประมาณเดือนพฤษภาคมที่จะถึงนี้"

สอดคล้องกับนายสาย อิ่นคำ กรรมการ กยท. ในฐานะประธานจัดทำงบประมาณและการบริหารเงินกองทุนพัฒนายางพาราตามมาตรา 49 (6) กล่าวว่า ตามเจตนารมย์ของกฎหมายต้องการให้ดูแลต้นยางทุกต้น น้ำยางทุกหยด ดังนั้นจากการประชุมบอร์ดล่าสุด ทางเจ้าหน้าที่ได้รายงานผู้ที่มีเอกสารสิทธิ์ ตามรายการที่ขึ้นทะเบียนของกรมส่งเสริมการเกษตร ที่จ่ายเงิน 1.5 พันบาทต่อไร่ ให้ทั้งเจ้าของสวนและคนกรีดยาง ไม่เกิน 15 ไร่ ในโครงการสร้างความเข้มแข็ง จำนวน 8.5 แสนครัวเรือน ส่วนตัวเลขประมาณการคนที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ จำนวน 7.5 แสนครัวเรือน ขณะนี้กำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณาเพื่อให้คนกลุ่มนี้ได้ขึ้นทะเบียนสมาชิก กยท. เพื่อจะได้ทราบว่าปริมาณยางที่แท้จริงในระบบมีเท่าไร เพื่อง่ายต่อการบริหารจัดการได้ในอนาคต ส่วนการจัดสรรงบประมาณตามมาตรา 49 ในปี 2559 เป็นงบจัดสรรทุนประเดิมของ กยท. จำนวน 4.5 พันล้านบาท และในปี 2560 งบประมาณ 5.68 พันล้านบาท (ดูตารางประกอบ) อย่างไรก็ดีสำหรับงบประมาณในปี 2560 แหล่งที่มาของรายได้จะมาจากการจัดเก็บเงินเซสส์(ค่าธรรมเนียมที่เรียกเก็บจากผู้ส่งออก) คาดปริมาณยางส่งออก 4.06 ล้านตัน ค่าจัดเก็บธรรมเนียมอัตรากิโลกรัมละ 1.40 บาท จะมีเงินประมาณ 5.68 พันล้านบาท

ทั้งนี้สถานะการเงินของกองทุนพัฒนายางพาราของ กยท. ในปีงบประมาณ 2559 ยอดยกมา ณ วันที่ 15 กรกฎาคม 2558 จำนวน 2.66 หมื่นล้านบาท หักเงินผูกพันเจ้าของสวนยาง 2.3 หมื่นล้านบาท เงินคงเหลือหลังจากหักเงินผูกพันเจ้าของสวนยาง (ปลอดภาระ) จำนวน 3.614 พันล้านบาท

อนึ่ง ตามคำสั่งของคณะกรรมการการยางแห่งประเทศไทย ที่ 10/2559 ลงวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2559 เรื่องแต่งตั้งคณะทำงานการจัดทำงบประมาณและการบริหารเงินกองทุนพัฒนายางพารา ตามมาตรา 49 ประกอบด้วย 4 คณะ ได้แก่ 1 คณะทำงานส่งเสริมสนับสนุน และให้ความช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยาง สถาบันเกษตรกร ชาวสวนยาง และผู้ประกอบกิจการยาง มาตรา 49 (3) 2. คณะทำงานส่งเสริมด้านการเงิน วิชาการ การศึกษาวิจัย และค้นคว้าทดลอง มาตรา 49 (4) 3. คณะทำงานจัดทำสวัสดิการเพื่อเกษตรกรชาวสวนยาง มาตรา 49(5) และ 4. คณะทำงานส่งเสริม และการสนับสนุนสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง มาตรา 49 (6)

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,131 วันที่ 14 - 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559