ข้าพระบาท ทาสประชาชน : ปตท.ยุคผลัดใบ กับบทบาทใหม่ที่ท้าทาย

07 ก.ย. 2561 | 09:06 น.
2636+5659 ผมได้เขียนบทความเรื่อง GPSC ซื้อ GLOW ใครได้ใครเสีย? ผูกขาดหรือแข่งขัน ลงตีพิมพ์ในฐานเศรษฐกิจ รวม 3 ตอนจบ โดยลงตีพิมพ์ครั้งแรกในฉบับที่ 3,380 วันที่ 5-7 กรกฎาคม 2561 และในฉบับต่อๆ มาจนจบทั้ง 3 ตอน ซึ่งเป็นการแสดงความคิดเห็นด้วยความสุจริต ตามความรู้และในฐานะความมีวิชาชีพทางกฎหมาย เพื่อแสดงความคิดเห็นต่อประชาชน และผู้ประกอบการธุรกิจทั้งหลายที่พึงต้องให้ความสนใจ เนื่องจากการเข้าซื้อกิจการของ ปตท.จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงบทบาทครั้งสำคัญอีกครั้งหนึ่งของ ปตท. จากการเป็นผู้ดำเนินกิจการด้านพลังงานปิโตรเลียมและก๊าซ มาสู่ธุรกิจเป็นผู้ผลิตพลังงานด้านไฟฟ้า เพื่อแข่งขันกับเอกชน และ กฟผ.ลูกค้าของตน ที่ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงในสาระสำคัญต่างไปจากวัตถุประสงค์ของการก่อตั้ง ปตท.ที่เป็นรัฐวิสาหกิจ และมีความสุ่มเสี่ยงที่อาจเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญ 2561 มาตรา 75 อีกด้วย

การแสดงความคิดเห็นดังกล่าว ด้วยความเป็นห่วงและกังวลต่อปัญหาของ ปตท. ว่า ถ้าหากดำเนินการต่อไปในแนวทางนี้ ปตท.อาจกลายเป็นหมู่บ้านกระสุนตก ถูกวิพากษ์วิจารณ์โจมตีอย่างหนักได้ ยิ่งเมื่อรวมกับปัญหาค้างเก่าที่ยังเคลียร์ไม่จบ และที่มีคดีความกับภาคประชาชนนับสิบๆ เรื่อง อาจทำให้ ปตท.ไม่เป็นอันต้องทำงาน เพราะต้องรบกับประชาชนหรือกลุ่มธุรกิจอื่นๆ ที่ได้รับผลกระทบไม่จบสิ้น

[caption id="attachment_314252" align="aligncenter" width="336"] ชาญศิลป์ ตรีนุชกร ชาญศิลป์ ตรีนุชกร[/caption]

การแสดงความคิดเห็นของผู้เขียน มิได้เกี่ยวข้องใดๆ กับภาคประชาชนที่ติดตามตรวจสอบ ปตท. แต่ก็อาจทำให้ผู้บริหารและกรรมการบริษัท ปตท.ชุดเก่าบางท่าน ไม่เข้าใจหรือคลางแคลงใจในตัวผู้เขียนก็ได้ หรืออาจเหมารวมว่าเป็นพวกจ้องทำลายเล่นงาน ปตท.ไปโน่นเลย นี่เป็นท่าทีของผู้บริหารชุดเดิม ที่ผู้เขียนได้รับเสียงสะท้อนกลับมา ทั้งนี้โดยมิได้พิจารณาเนื้อหาสาระว่า ผู้เขียนเสนอแนะอย่างไร ควรนำข้อคิดมาพิจารณาหาทางปรับปรุงแก้ไขหรือไม่ โดยเปิดใจกว้างรับฟัง นำสิ่งที่จะเป็นประโยชน์แก่องค์กรมาปฏิบัติ ป้องกันผลเสียที่อาจจะเกิดขึ้น แต่ผู้เขียนกลับไม่เห็นสัญญาณดังกล่าว

ในที่สุดวันนี้ สิ่งที่คาดการณ์ไว้ก็เป็นจริง ประเด็นปัญหาที่ผู้เขียนตั้งคำถามและข้อสงสัยไว้ มีผู้ออกมาถามและส่งเสียงดังๆ มายัง ปตท.จนได้ ซึ่งมิใช่ระดับบุคคลธรรมดาๆ เสียด้วย เป็นอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายกรณ์ จาติกวณิช ในฐานะประธานนโยบาย ของพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นบุคคลที่อยู่ในฐานะทางสังคมที่ได้รับการยอมรับและเป็นที่เชื่อถืออย่างสูง โดยคุณกรณ์ ได้โพสต์ลงในเฟซบุ๊กของตน เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม ซึ่งผู้เขียนขออนุญาตคัดมาโดยสรุปดังนี้

"ความคาดหวังจาก ปตท.ในฐานะที่เป็นรัฐวิสาหกิจไทยที่เป็น 'National Champion' และเหตุผลที่การซื้อบริษัทผลิตไฟฟ้า Glow และยุทธศาสตร์ Cafe Amazon จึงเป็นเรื่องอันตราย"
20160613093349 ผมได้รับเชิญไปแชร์ความคิดในหัวข้อ "การพัฒนาในยุค Digital Age" กับกลุ่มผู้บริหารรุ่นใหม่ของบริษัทในเครือ ปตท. ผมเลยถือโอกาสท้าทายคนเก่งกลุ่มนี้ว่า ด้วยความที่ ปตท.เป็นองค์กรชั้นนำของประเทศ เป็นที่รวมผู้มีความสามารถ ปตท.ควรที่จะใช้ศักยภาพและทรัพยากรของตนในการสร้างรายได้ให้กับประเทศ ด้วยการลงทุนขยายกิจการไปในตลาดต่างประเทศ หรือหากทำธุรกิจในประเทศ ก็ควรลงทุนทำธุรกิจใหม่ๆ ที่มีผลในเชิงยุทธศาสตร์ของประเทศ มากกว่าจะทำในสิ่งที่ผู้ประกอบการคนไทยเจ้าอื่นทั่วไปเขาสามารถทำได้

นี่คือบทบาทที่แท้จริงของ National Champion แต่ที่ ปตท.ไม่ควรทำคือใช้อำนาจทางการตลาด (ที่ได้มาจากความได้เปรียบในฐานะรัฐวิสาหกิจ) ในการทำธุรกิจลักษณะทำให้คนอื่นเสียเปรียบ ซึ่งว่าไปแล้วนอกจากจะขัดต่อกฎหมายจัดตั้ง ปตท.แล้ว ยังน่าจะขัดกับรัฐธรรมนูญอีกด้วย ผมได้ถือโอกาสเล่าให้ชาว ปตท.ฟังว่าด้วยเหตุนี้ ในฐานะประธานนโยบายของพรรคประชาธิปัตย์ ผมจะยื่นร้องเรียนต่อผู้มีอำนาจใน 2 กรณีที่เกี่ยวกับ ปตท.

เรื่องแรกคือ กรณีที่ ปตท.ใช้บริษัทลูกของตน GPSC เข้าซื้อหุ้น 69% ในบริษัทผลิตไฟฟ้าเอกชนชื่อ GLOW ซึ่งปัญหาสำคัญคือ 1.ปตท.เป็นผู้ขายก๊าซผูกขาดให้กับผู้ผลิตไฟฟ้าทุกโรงในประเทศไทย ดังนั้นหาก ปตท.ลงมาผลิตไฟฟ้าเอง จะทำให้การแข่งขันในอุตสาหกรรมผลิตไฟฟ้าบิดเบี้ยวทันที โดยที่ผู้ที่จะรับเคราะห์สุดท้ายคือประชาชนในฐานะผู้ซื้อไฟ

2.ปตท.จัดตั้งขึ้นมาตาม พรบ.การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย มีภารกิจเจาะจงให้ทำธุรกิจปิโตรเลียมเท่านั้น 3.รัฐธรรมนูญระบุไว้ชัดว่า ห้ามรัฐทำธุรกิจแข่งกับเอกชน(มาตรา75) ดังนั้น ปตท.จะทำธุรกิจผลิตไฟฟ้าแข่งกับเอกชนไม่ได้ 4.หากอ้างความมั่นคง ผมคงต้องถามว่า แล้วเรามีการไฟฟ้าฝ่ายผลิตไว้ทำอะไร
l_5813_14677902941657247309 ส่วนเรื่องที่ 2 คือ “กาแฟอเมซอน” เรื่องนี้อ่านแล้วอาจจะคิดว่าเรื่องเล็กน่ะครับ แต่มันคือเรื่องแบบนี้ ที่ทำให้ผู้ประกอบการและคนไทยทั่วไปมีโอกาสในการทำมาหากินน้อยลงไปเรื่อยๆ ในช่วงแรกที่ ปตท.เปิดร้านกาแฟในปั๊มน้ำมัน ผมก็รู้สึกว่าไม่เป็นปัญหา แต่พอระยะหลังเริ่มออกมาเปิดสาขามากขึ้นตามห้าง และบนท้องถนนในหัวเมืองทั่วประเทศ ผมจึงเริ่มมีความรู้สึกว่า เรื่องนี้ไม่ถูกต้องและเป็นการแข่งขันโดยตรงกับชาวบ้านทั่วไปที่ไม่มีทางจะสู้ได้ ด้วยกำลังทุนที่ต่างกันราวฟ้ากับดิน และ ปตท.ประกาศแล้วว่ามีแผนจะทำโรงแรมด้วย แล้วเอกชนที่สายป่านสั้นกว่าเขาจะอยู่รอดได้อย่างไร

รัฐธรรมนูญ มาตรา 75 ห้ามรัฐไม่ให้ทำธุรกิจแข่งกับประชาชน ซึ่งหากบริษัทยักษ์ใหญ่ของรัฐ ยังขายกาแฟแข่งกับประชาชนได้แบบนี้ ผมก็อยากรู้เหมือนกันว่า รัฐธรรมนูญมาตรานี้เขียนไว้เพื่ออะไร ในภาพใหญ่เราต้องใส่ใจเรื่องการแข่งขันที่เป็นธรรม และเรื่องอิทธิพลทุนใหญ่

ผมว่าจุดเริ่มต้นที่ดีคือรัฐเองอย่าไปเบียดพื้นที่หากินชาวบ้าน ส่วน ปตท.นั้น เป็นความหวังของเราทุกคนครับ ผมเชื่อว่าคุณสร้างประโยชน์ให้กับประเทศชาติได้มากกว่าจะมาขายกาแฟแข่งกับชาวบ้าน หรือไล่ซื้อกิจการของลูกค้าของตนอย่างกรณี GLOW พรรคประชาธิปัตย์ จะยื่นร้องเรียนต่อท่านนายกรัฐมนตรี ในฐานะฝ่ายบริหารนโยบาย ยื่นต่อคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ในฐานะผู้กำกับดูแลอุตสาหกรรมผลิตไฟฟ้า และต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ในกรณีที่เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ"

[caption id="attachment_314259" align="aligncenter" width="351"] กรณ์ จาติกวณิช กรณ์ จาติกวณิช[/caption]

นี่คือข้อความที่ คุณกรณ์ จาติกวณิช ได้โพสต์ลงในเฟซบุ๊ก ซึ่งเป็นประเด็นที่มีสาระสำคัญและมีประเด็นในทางกฎหมายที่น่าสนใจอย่างยิ่ง จะเป็นความบังเอิญหรืออย่างไรไม่ทราบ ที่ความคิดเห็นหลายส่วนของคุณกรณ์ ตรงกับที่ผู้เขียนเคยเขียนลงใน “ฐานเศรษฐกิจ” ก่อนหน้านี้ แต่ที่เข้มข้นกว่าก็คือ คุณกรณ์ยังประกาศเดินหน้าที่จะร้องเรียนต่อผู้มีอำนาจหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ไปจนถึงยื่นเรื่องไปยังผู้ตรวจการแผ่นดินและศาลรัฐธรรมนูญ นับว่าเป็นบทบาทใหม่ที่สำคัญยิ่งของคุณกรณ์ ในฐานะนักการเมืองน้ำดีคนหนึ่ง ซึ่งผู้เขียนก็เห็นว่าชอบแล้ว เพื่อจะได้เป็นบรรทัดฐานทางกฎหมายและในทางสังคม ธุรกิจ การค้าที่เป็นธรรมต่อไป คงต้องติดตามบทบาทของคุณกรณ์ในเรื่องนี้ว่าจะจบลงอย่างไร


ในส่วนของ ปตท.วันนี้องค์กรของ ปตท.ได้มีการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญคือ มีประธานคณะกรรมการ ปตท.คนใหม่ แทน ดร.ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ และมี นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร เป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท.คนใหม่ แทน นายเทวินทร์ วงศ์วานิช ที่หมดวาระลงในวันที่ 30 สิงหาคม 2561

ปตท.จึงเข้าสู่ยุคผลัดใบ มีคณะผู้บริหารชุดใหม่มากุมบังเหียนของ ปตท. แล้วอย่างเป็นทางการ ผู้บริหารชุดใหม่จะนำพาองค์กร ปตท. ก้าวต่อไปอย่างไร ท่ามกลางกระแสคลื่นที่กำลังถาโถมเข้ามาอย่างหนัก จึงเป็นบทบาทใหม่ที่ท้าทายยิ่งนัก

| คอลัมน์ : ข้าพระบาท ทาสประชาชน
| โดย : ประพันธุ์ คูณมี
| หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3398 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 6-8 ก.ย.2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว