อินโดฯ ขึ้นภาษีนำเข้าสินค้ากว่าพันรายการ!! แก้ปัญหาขาดดุลบัญชีเดินสะพัด ฉุดค่าเงินดิ่ง

07 ก.ย. 2561 | 06:38 น.
รัฐบาลอินโดนีเซียเตรียมขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าสำเร็จรูปในอัตราระหว่าง 7.5-10% และสินค้านำเข้าประเภทวัตถุดิบ ในอัตรา 2.5% เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายควบคุมการนำเข้า แก้ปัญหาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด ซึ่งขาดดุลเพิ่มขึ้นเป็น 3% ของจีดีพี และมีส่วนทำให้ค่าเงินรูเปียของอินโดนีเซียดำดิ่ง ทำสถิติใหม่อยู่ในเวลานี้

"จาการ์ตาโพสต์" สื่อท้องถิ่นของอินโดนีเซีย รายงานว่า นางศรี มุลยานี อินทราวาตี รัฐมนตรีคลัง เปิดเผยเมื่อวันที่ 5 ก.ย. ที่ผ่านมา เกี่ยวกับกฎระเบียบใหม่ของกระทรวงการคลัง ที่จะปรับขึ้นอัตราภาษีนำเข้าสินค้าจำนวน 1,147 รายการ ว่า สินค้าเหล่านี้อยู่ในกลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือย (Non-Essential Goods) หรือ มีสินค้าที่เหมือนกันหรือใกล้เคียงกัน ที่ผลิตได้เองภายในประเทศอินโดนีเซีย เป้าหมายของมาตรการนี้ก็เพื่อควบคุมการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภค



Jakar1


กฎระเบียบใหม่นี้จะถูกนำมาใช้แทนกฎกระทรวงฉบับเก่า หมายเลข 34/2017 (Ministerial Regulation No.34/2017) ในช่วงสัปดาห์หน้า โดยจะปรับขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าในกลุ่มของใช้ส่วนตัว (Personal Care Products) อาทิ แชมพู สบู่ และเครื่องสำอาง รวมทั้งสินค้าอุปโภคบริโภคอื่น ๆ อีก 215 รายการ เป็นอัตรา 10% จากอัตราเดิม 2.5%

ส่วนสินค้าที่จะถูกปรับภาษีนำเข้าเพิ่มจากอัตราเดิม 7.5% เป็น 10% มีจำนวน 210 รายการ ได้แก่ สินค้าหรูหรา อย่างเช่น รถยนต์ซูเปอร์คาร์ นอกจากนี้ยังมีสินค้าที่จะถูกเก็บภาษีนำเข้าเพิ่มขึ้นจากอัตราเดิม 2.5% เป็นอัตรา 7.5% อีกจำนวน 719 รายการ ได้แก่ ลำโพงเครื่องเสียงและชุดว่ายน้ำ เป็นต้น ทั้งนี้ มีสินค้านำเข้าจำนวน 57 รายการ ที่จะคงอัตราภาษีไว้ที่อัตราเดิม 2.5% เนื่องจากพิจารณาเห็นว่าเป็นสินค้าจำเป็นต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมภายในประเทศ

นอกเหนือจากรูปแบบการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าแล้ว มาตรการควบคุมการนำเข้าที่รัฐบาลอินโดนีเซียจะนำมาใช้ ยังครอบคลุมไปถึงการขึ้นภาษีรายได้จากการนำเข้า หรือ Import Income Tax ด้วย



The Port of Jakarta also known as Tanjung Priok Port is the largest Indonesian seaport and one of the largest seaports in the Java Sea basin, with an annual traffic capacity of around 45 million tonnes of cargo and 4,000,000 TEU


ทางด้านการขาดดุลการค้านั้น ในเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา อินโดนีเซียขาดดุลการค้าเพิ่มขึ้นจาก 1,740 ล้านดอลลาร์ ในเดือน มิ.ย. เป็น 2,030 ล้านดอลลาร์ โดยมีการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคเพิ่มขึ้น คิดเป็นมูลค่า 1,720 ล้านดอลลาร์ หรือเพิ่มขึ้น 70.5% เมื่อเทียบกับเดินก่อนหน้า

รัฐมนตรีคลังอินโดนีเซีย ให้ความเห็นเมื่อต้นสัปดาห์เกี่ยวกับมาตรการพยุงค่าเงินรูเปีย ว่า มาตรการต่าง ๆ ที่รัฐบาลกำลังจะนำมาใช้นั้น จะมีการเผยแพร่ต่อสาธารณะเพื่อผู้ที่เกี่ยวข้องจะสามารถรับทราบและปรับตัว ทั้งนี้ ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ค่าเงินรูเปียของอินโดนีเซียตกดิ่ง ทำสถิติอ่อนที่สุดในรอบ 20 ปี โดยลงไปอยู่ที่ 15,000 รูเปียต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ก่อนที่จะแข็งค่าขึ้นเล็กน้อย มาอยู่ในระดับกว่า 14,900 รูเปียต่อดอลลาร์ ในช่วงหลายสัปดาห์ ทำให้รัฐบาลและธนาคารกลางต้องเร่งนำมาตรการในเชิงควบคุมมาใช้ ซึ่งรวมถึงมาตรการสอดส่องดูแลการทำธุรกรรมด้านการปริวรรตเงินตรา เพื่อป้องกันการเก็งกำไร

นอกจากนี้ การที่ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งขึ้น ยังทำให้เกิดการเทขายสกุลเงินและสินทรัพย์ของประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ รวมถึงอินโดนีเซีย ที่พันธบัตรรัฐบาลอยู่ในการถือครองของต่างชาติในสัดส่วนถึง 40% ทำให้สุ่มเสี่ยงจะได้รับผลกระทบหนัก หากเกิดภาวะเงินทุนไหลออกฉับพลัน

นับตั้งแต่เดือน พ.ค. 2561 เป็นต้นมา แบงก์ชาติอินโดนีเซียปรับขึ้นดอกเบี้ย เพื่อช่วยสกัดการไหลออกของทุนและพยุงค่าเงินรูเปียแล้วถึง 4 ครั้ง และยังมีการเข้าแทรกแซงตลาดโดยตรง แต่ก็ยังไม่สามารถสกัดการอ่อนตัวของค่าเงินรูเปียได้สำเร็จ


……………….
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
'มาลี' ผนึกทุนอินโดฯ!! บุกตลาดเพอร์ซันนอลแคร์เมืองไทย
นายกฯ ห่วงใยพื้นที่น้ำท่วม กำชับการช่วยเหลือเร่งด่วน พร้อมสั่งดูแลคนไทยในอินโดฯ หลังเกิดเหตุแผ่นดินไหว

เพิ่มเพื่อน

23626556