เปิดโมเดล "มหานครการบิน" จัดโซนนิ่งลงทุนรอบ 'สนามบินอู่ตะเภา'

10 ก.ย. 2561 | 05:01 น.
    รายงาน
    เปิดโมเดล "มหานครการบิน"
จัดโซนนิ่งลงทุนรอบสนามบินอู่ตะเภา

การพัฒนา "สนามบินอู่ตะเภา" และเมืองการบินภาคตะวันออก เป็น 1 ใน 6 โครงการสำคัญ ที่รัฐบาลนำร่องส่งเสริมให้เกิดการลงทุนในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ อีอีซี ซึ่งนอกจากโครงการรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) เชื่อม 3 สนามบิน , โครงการรถไฟทางคู่เชื่อม 3 ท่าเรือ ที่เดินหน้าประมูลกันไปแล้ว ในส่วนของแผนพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา ขณะนี้ถือว่ามีความคืบหน้าพอสมควร



PowerPoint Presentation




ทีโออาร์อู่ตะเภา ต.ค. นี้
โดยเฉพาะการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา มูลค่าการลงทุนกว่า 2 แสนล้านบาท ที่ได้มีการทำมาร์เก็ตซาวดิ้งไปแล้ว 2 ครั้ง เพื่อเชิญชวนเอกชนเข้ามาลงทุนในลักษณะอินเตอร์เนชั่นแนล บิดดิ้ง และหลังจากการทำมาร์เก็ตซาวดิ้ง ครั้งที่ 3 ในช่วงปลาย ก.ย. หรือ ต้น ต.ค. นี้ ก็จะสามารถสรุปทีโออาร์ในการเปิดประมูลได้ในเดือน ต.ค. นี้ เพื่อให้ผู้สนใจเข้ามายื่นเสนอตัวได้ในช่วงเดือน ม.ค. ปีหน้า เช่นเดียวกับการลงทุนศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานของการบินไทยที่จะเกิดขึ้น ดังนั้น ภายในช่วง 5 ปีนี้ เราคงได้เห็นการขยายศักยภาพของสนามบินอู่ตะเภาที่จะเกิดขึ้น

ไม่เพียงแค่การพัฒนาต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่ 6,500 ไร่ ในสนามบินเท่านั้น แต่สเต็ปต่อไปของการพัฒนาในช่วง 5-10 ปีนี้ คือ การพัฒนาเมืองรอบ ๆ 30 กิโลเมตร จากสนามบินอู่ตะเภา ครอบคลุมเมืองพัทยาจนถึงระยอง ให้เป็นมหานครการบิน เพราะมองว่า ต่อไปสนามบินอู่ตะเภาจะเป็นอีก 1 ฮับการบินของไทย ที่มีศักยภาพในการรองรับผู้โดยสารกว่า 50 ล้านคน ในอนาคต ทั้งนักท่องเที่ยวและกลุ่มที่เข้ามาดำเนินธุรกิจในพื้นที่อีอีซี

 

[caption id="attachment_314019" align="aligncenter" width="415"] ศ.จอห์น ดี. คาซาร์ดา (Professor John D. Kasarda) ศ.จอห์น ดี. คาซาร์ดา (Professor John D. Kasarda)[/caption]

ผู้เชี่ยวชาญมะกันร่วมออกแบบ
นี่เองจึงทำให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ได้นำผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาเมืองการบินมาจากประเทศสหรัฐฯ ศ.จอห์น ดี. คาซาร์ดา (Professor John D. Kasarda) ที่มีประสบการณ์สูงในด้านการพัฒนาเมืองการบินในต่างประเทศ มาเป็นที่ปรึกษาออกแบบพัฒนาพื้นที่รอบ ๆ เมืองการบินภาคตะวันออก สู่การเป็น "มหานครการบินภาคตะวันออก" โดยจะประกอบไปด้วย การพัฒนาพื้นที่เขตชั้นใน และชั้นนอกที่รัฐบาลได้กำหนดขอบเขตของการพัฒนา ตั้งแต่ระยะการพัฒนา 10 กิโลเมตร ในพื้นที่ชั้นใน และ 30 กิโลเมตร ในพื้นที่ชั้นนอก โดยมีสนามบินอู่ตะเภาเป็นศูนย์กลางในการพัฒนาครั้งนี้ เพื่อให้เป็นสนามบินนานาชาติอู่ตะเภาเป็นสนามบินพาณิชย์ของภาคตะวันออก ที่ถือว่าเป็นสนามบินขนาดใหญ่อีกแห่งหนึ่งของไทยและติดอันดับต้น ๆ ของโลก

จากเป้าหมายนี้ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องอาศัยความชำนาญและเชี่ยวชาญในโครงการพัฒนาเมืองการบินหลายแห่งทั่วโลก อย่าง ศ.จอห์น ดี. คาซาร์ดา เข้ามาทำแผนรายละเอียดของการออกแบบพื้นที่ เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงของระบบอุตสาหกรรมการบินของไทยและภูมิภาคอาเซียนที่มีประสิทธิภาพ และตอบสนองต่อการเข้ามาลงทุนของผู้ประกอบการที่อยู่ใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย


MP22-3399-Bweb


เปิดผังมหานครการบิน
จนเกิดโมเดลโครงการ "มหานครการบิน" รอบสนามบินอู่ตะเภาอย่างที่เราเห็น มีการแบ่งโซนนิ่งการลงทุนต่าง ๆ ทั้งในส่วนของอุตสาหกรรมเป้าหมาย การท่องเที่ยว ในรัศมี 30 กิโลเมตร ไปจนถึง 60 กิโลเมตร เชื่อมโยงโลจิสติกส์ ทั้งการเดินทางโดยรถยนต์ ทางอากาศ และการเดินทางโดยรถไฟความเร็วสูงที่จะเกิดขึ้น

จากการออกแบบพื้นที่ดังกล่าว จึงเป็นไกด์ไลน์ที่ต่อไปรัฐบาลและอีอีซีก็มองว่า จะผลักดันการพัฒนามหานครการบิน ที่จะนำร่องในพื้นที่ 30 กิโลเมตร รอบสนามบินอู่ตะเภา โดยภาครัฐเตรียมจะเซ็นเอ็มโอยูกับเมืองเจิ้งโจว ซึ่งปัจจุบันเมืองเจิ้งโจว มีการพัฒนามหานครการบิน ซึ่งหลัก ๆ มีเมืองอุตสาหกรรม เมืองการค้า และเมืองคาร์โกอยู่แล้ว เพื่อให้เขาเข้ามาช่วยแนะนำการสร้างมหานครการบินของไทยด้วย

ปัจจุบัน กองทัพเรือ (ทร.) ได้ว่าจ้าง บริษัท AECOM จากประเทศสหรัฐฯ เป็นที่ปรึกษาจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก และบริษัท KPMG จากประเทศอังกฤษ วางแนวทางในการศึกษาร่วมทุนใน 6 กิจกรรมภายในสนามบิน ได้แก่ การให้บริการและบำรุงรักษาอาคารผู้โดยสารหลังที่ 3 , ศูนย์ธุรกิจการค้า (Commercial Gateway) , ธุรกิจขนส่งสินค้าทางอากาศและโลจิสติกส์ (Air Cargo) ระยะที่ 2 , ธุรกิจซ่อมเครื่องบิน (Maintenance Repair and Overhaul, MRO) ระยะที่ 2 , ศูนย์ฝึกอบรมบุคลากรการบินระยะที่ 2 และกลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรมอากาศยาน (Free Trade Zone) เพื่อการยกระดับสนามบินอู่ตะเภาสู่สนามบินระดับโลก เพื่อเพิ่มศักยภาพอุตสาหกรรมการบินของไทยขึ้นชั้นระดับโลก และพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานที่ทันสมัย เพื่อรองรับกับการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยในระยะยาว


....................
รายงาน โดย ธนวรรณ วินัยเสถียร

หน้า 22 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3399 ระหว่างวันที่ 9 - 12 กันยายน 2561


ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว