"รูปี-รูเปีย" ดิ่งรอบประวัติศาสตร์!!

07 ก.ย. 2561 | 05:24 น.
070961-1208

เปิดฉากสัปดาห์นี้ (3 ก.ย. 2561) ค่าเงินรูปีของอินเดียร่วงลงทะลุ 71 รูปีต่อดอลลาร์สหรัฐฯ แตะระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ ฉุดให้ดัชนี Sensex ตลาดหุ้นอินเดียดิ่งลงกว่า 300 จุด ทำสถิติทรุดตัวลงมากที่สุดภายในวันเดียว นับตั้งแต่เดือน มี.ค. ที่ผ่านมา โดยดัชนี Sensex ปรับตัวลงติดต่อกัน 4 วันทำการ ท่ามกลางความหวั่นวิตกของนักลงทุนเกี่ยวกับการอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่องของเงินรูปี ประกอบกับปัจจัยความไม่แน่นอนที่เกิดจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับประเทศคู่ค้า

ค่าเงินรูปีของอินเดียร่วงลงอย่างต่อเนื่อง โดยทรุดจากระดับ 70.74 ไปแตะระดับ 71 รูปีต่อดอลลาร์ ตั้งแต่ปลายเดือน ส.ค. ซึ่งนักวิเคราะห์มองว่า เงินรูปีอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วงระยะหลัง ๆ นี้ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการที่กลุ่มผู้ส่งออกต้องการสกุลเงินดอลลาร์ในช่วงปลายเดือน และส่วนหนึ่งเป็นผลจากการพุ่งขึ้นของราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านั้นตลอดทั้งปี เงินรูปีก็อยู่ในทิศทางขาลงโดยตลอด โดยเริ่มต้นปี 2561 ที่อัตราแลกเปลี่ยน 63.67 รูปีต่อดอลลาร์สหรัฐฯ หลังจากนั้นก็ค่อย ๆ รูดลงจนกระทั่งทะลุ 71 รูปี ในปัจจุบันปัจจัยซ้ำเติมจากภายนอกนั้นมีมาตั้งแต่ผลพวงการอ่อนค่าของเงินลีราในตุรกี ที่พลอยทำให้เกิดการเทขายสกุลเงินของบรรดาประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ รวมทั้งอินเดียและอินโดนีเซีย ฉุดให้ค่าเงินพลอยดิ่งตามลงไปด้วย

 

[caption id="attachment_314018" align="aligncenter" width="503"] ©pprasantasahooo ©pprasantasahooo[/caption]

สื่ออินเดียรายงานว่า ผลของค่าเงินที่อ่อนตัวลง ทำให้การนำเข้าน้ำมันดิบ ปุ๋ย ยา และแร่เหล็ก มีราคาต้นทุนพุ่งสูงขึ้น ที่ผ่านมา ธนาคารกลางอินเดีย (RBI) ได้พยายามพยุงค่าเงินด้วยการปรับขึ้นดอกเบี้ยแล้วถึง 2 ครั้ง (นับจากต้นปี) แต่ก็ยังไม่ประสบผลสำเร็จ ในทางกลับกันค่าเงินที่อ่อนตัวยังมีผลทำให้ตัวเลขขาดดุลบัญชีเดินสะพัดของอินเดียขยับขึ้นสูง ซึ่งเป็นไปตามมูลค่าการนำเข้าที่พุ่งแซงมูลค่าการส่งออก เมื่อเร็ว ๆ นี้ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) พยากรณ์ว่า อินเดียจะเผชิญกับตัวเลขบัญชีขาดดุลเดินสะพัดที่เพิ่มขึ้นอีกราว 2.6% ในปีงบประมาณ 2561/2562 ล่าสุด คณะกรรมาธิการนโยบายการเงินของ RBI มีกำหนดประกาศว่า จะมีการขึ้นดอกเบี้ยเป็นครั้งที่ 3 หรือไม่ ในวันที่ 5 ต.ค. ที่จะถึงนี้

ด้าน ธนาคารกลางอินโดนีเซียกำลังเตรียมมาตรการชุดใหม่ในการพยุงค่าเงินรูเปียและพันธบัตรรัฐบาลเช่นกัน โดยส่วนใหญ่เป็นมาตรการประกันความเสี่ยงในรูปแบบต่าง ๆ (Hedging) เช่น การทำธุรกรรมแลกเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ย (Interest-Rate Swaps) และการแลกเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยข้ามคืนเป็นอัตราดอกเบี้ยคงที่ (Overnight Index Swaps) โดยขณะนี้ กำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณา คาดว่าจะมีการประกาศใช้ในเร็ววันนี้ นักวิเคราะห์กล่าวว่า อินโดนีเซียมีบริษัทที่มีหนี้สินในรูปสกุลเงินดอลลาร์จำนวนมากกว่าบริษัทที่มีรายได้ในรูปเงินดอลลาร์ ซึ่งอย่างหลังนั้น มีความพร้อมที่จะประกันความเสี่ยงอันเกิดจากอัตราแลกเปลี่ยนของรายได้มากกว่ากลุ่มแรกก่อนหน้านี้ นับตั้งแต่เดือน พ.ค. ที่ผ่านมา ธนาคารกลางอินโดนีเซียปรับขึ้นดอกเบี้ยมาแล้ว 4 ครั้ง และยังมีการแทรกแซงตลาดโดยตรง แต่ก็ยังไม่สามารถฉุดค่าเงินรูเปียขึ้นมาได้ ความหวั่นวิตกในหมู่ผู้ส่งออกและนำเข้าเกี่ยวกับการดำดิ่งลงของค่าเงินรูเปีย ยังส่งผลให้มีความต้องการถือครองเงินดอลลาร์ ซึ่งผลักให้ค่าเงินรูเปียยิ่งอ่อนลงไปอีก

นอกจากนี้ รัฐบาลอินโดนีเซียจะประกาศมาตรการควบคุมการนำเข้าในกลางสัปดาห์นี้ ด้วยการประกาศรายชื่อสินค้าที่จะถูกขึ้นภาษีนำเข้า เพื่อแก้ปัญหาค่าเงินอ่อนอีกมาตรการ


……………….
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,398 วันที่ 6-8 ก.ย. 2561 หน้า 01-02

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
‘บูธแลกเงิน’ หยุดซื้อขาย ‘รูปี’ ทุกราคา
กรุงศรีนําร่องเทรด "ริงกิต-รูเปีย"


เพิ่มเพื่อน
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว