ปตท.อัดงบ5พันล้านขยายปั๊ม ทั้งในและต่างประเทศพร้อมนำเข้าแอลพีจีส่งออกเพื่อนบ้าน

16 ก.พ. 2559 | 23:00 น.
ปตท.อัดงบ 4 พันล้านบาท ลุยขยายสถานีบริการน้ำมันในประเทศ 100 แห่ง ต่างประเทศ 51 แห่ง โหมในสปป.ลาวและกัมพูชา เป็นหลัก หลังยอดขายดีต่อเนื่อง พร้อมขยายร้านค่าเฟ่ อเมซอนเพิ่มอีก 250 แห่ง ล่าสุดเจรจากรมธุรกิจพลังงานศึกษาแผนนำเข้าเพื่อส่งออกแอลพีจีไปยังตลาดอาเซียน คาดสรุปแผนได้ภายในปีนี้

นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจน้ำมัน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า สำหรับทิศทางการทำธุรกิจน้ำมันในปีนี้ทาง ปตท. มีแผนที่จะขยายสถานีบริการน้ำมันทั้งในและต่างประเทศ แบ่งเป็นสถานีบริการน้ำมันในประเทศ 100 แห่ง จากปัจจุบันอยู่ที่ 1,450 แห่ง ซึ่งจะทำให้มีสถานีบริการน้ำมันเพิ่มขึ้นเป็น 1,575 แห่ง เมื่อหักจำนวนสถานีบริการที่ต้องปิดกิจการไป 25 แห่ง ซึ่งการลงทุนปั๊มในประเทศจะใช้เงินแห่งละ 30 ล้านบาท

นอกจากนี้ยังมีสถานีบริการน้ำมันขนาดเล็ก (คอมแพ็กต์ โมเดล) ในถนนสายรองอีก 50 แห่ง ใช้เงินลงทุน 12-15 ล้านบาทต่อแห่ง หรือต้องใช้เงินลงทุนรวมประมาณ 3.75 พันล้านบาท ขณะที่การขยายสถานีบริการน้ำมันในต่างประเทศจะเพิ่มอีก 51 แห่ง จากปัจจุบันอยู่ที่ 151 แห่งหรือ เพิ่มเป็น 202 แห่งภายในสิ้นปีนี้ ซึ่งส่วนใหญ่จะเน้นไปที่สปป.ลาว จากปัจจุบันอยู่ที่ 25 แห่ง เพิ่มเป็น 40 แห่ง กัมพูชา จาก 26 แห่ง เพิ่มเป็น 42 แห่ง เนื่องจากทั้ง 2 ประเทศนี้แบรนด์ ปตท.ได้รับความสนใจ ส่งผลให้ยอดจำหน่ายในแต่ละปั๊มอยู่ในปริมาณค่อนข้างสูง ส่วนที่ฟิลิปปินส์ จาก 96 แห่ง เพิ่มเป็น 101 แห่ง และเมียนมา จากปัจจุบัน 4 แห่ง เพิ่มเป็น 10 แห่ง ภายในปีนี้ โดยใช้เงินลงทุนเฉลี่ย 20-25 ล้านบาทต่อแห่ง หรือประมาณ 1.27 พันล้านบาท นอกจากนี้คณะกรรมการบริษัท (บอร์ด) ปตท.ตั้งเป้าขยายจำนวนสถานีบริการน้ำมัน ปตท.ในต่างประเทศเพิ่มขึ้นเป็น 500 แห่งภายในปี 2563 ดังนั้น ในปีนี้ปตท.จะใช้เงินสำหรับการขยายสถานีบริการน้ำมันราว 5 พันล้านบาท

"การลงทุนสถานีบริการน้ำมันเพิ่มขึ้นทั้งในและต่างประเทศ คงใช้เงินประมาณ 5 พันล้านบาท จะมีทั้ง ปตท.เป็นผู้ลงทุน และตัวแทนจำหน่ายเป็นผู้ลงทุน โดยส่วนใหญ่ลูกค้าจะเป็นผู้ลงทุน ส่วนสถานีบริการรูปแบบคอมแพ็กต์โมเดล 50 แห่ง แม้ว่ามีขนาดเล็ก แต่ก็รวบรวมทั้งร้านสะดวกซื้อเซเว่นอีเลฟเว่น,ร้านคาเฟ่ อเมซอน เพื่อบริการลูกค้าด้วย ขณะที่การขยายสถานีบริการในต่างประเทศเพิ่มเป็น 202 แห่ง เพื่อรองรับความต้องการของลูกค้าเพิ่มขึ้นในอนาคต"นายอรรถพล กล่าว

นายอรรถพล กล่าวอีกว่า สำหรับการขยายร้านคาเฟ่ อเมซอน ปัจจุบันอยู่ที่ 1,437 แห่ง แบ่งเป็นในประเทศ 1,411 แห่ง และต่างประเทศอีก 26 แห่ง โดยตั้งเป้าขยายร้านคาเฟ่ อเมซอนในประเทศเพิ่มขึ้นอีก 250 แห่ง และในต่างประเทศเพิ่มขึ้นอีก 20 แห่ง ส่งผลให้ภายในสิ้นปีนี้ จะมีร้านคาเฟ่ อเมซอนรวมทั้งสิ้น 1,707 แห่ง แบ่งเป็นในประเทศ 1,661 แห่ง และต่างประเทศ เป็น 46 แห่ง ใช้เงินลงทุน 2 ล้านบาทต่อแห่ง

ส่วนสถานีบริการก๊าซปิโตรเลียมเหลว(แอลพีจี) คงไม่มีการขยายเพิ่ม จากปัจจุบันอยู่ที่ 315 แห่ง แต่จะเน้นการให้บริการด้านนอนออยล์ภายในสถานีบริการเพิ่มขึ้น เนื่องจากธุรกิจสถานีบริการแอลพีจีถึงจุดอิ่มตัว เสมือนกับเค้กก้อนเดิม ดังนั้นจะต้องเพิ่มคุณภาพมาตรฐาน การบริการที่ดีเพื่อดึงดูดลูกค้า

นอกจากนี้ ภายหลังกระทรวงพลังงานส่งเสริมนำเข้าแอลพีจีเสรี ทำให้ ปตท. ต้องกลับมาคิดว่าจะทำอย่างไรจึงจะใช้ท่าเรือและคลังแอลพีจีที่ลงทุนก่อสร้างขึ้น จากปัจจุบันรองรับได้ 1.3 แสนตันต่อเดือน และการขยายกำลังจะเสร็จในเดือนเมษายนนี้ สามารถรองรับได้ 2.5 แสนตันต่อเดือน เพราะหากเอกชนรายอื่นสามารถนำเข้าแอลพีจีเสรี จะทำให้ปริมาณการนำเข้าของ ปตท. ลดลง จากปัจจุบันอยู่ที่ 8 หมื่นถึง 1 แสนตันต่อเดือน ดังนั้นทาง ปตท.ได้หารือกับกรมธุรกิจพลังงาน(ธพ.) เพื่อศึกษาแผนการนำเข้าเพื่อส่งออกแอลพีจีไปยังประเทศในแถบในอาเซียน เนื่องจากปัจจุบันรัฐยังไม่อนุญาตให้ส่งออกแอลพีจี ซึ่งต้องหารือข้อกำหนดต่างๆ คาดว่าจะสามารถสรุปแผนดังกล่าวได้ภายในปีนี้

"สาเหตุที่ไทยน้ำเข้าเพื่อส่งออกแอลพีจีไปยังประเทศเพื่อนบ้านไม่ได้เพราะก่อนหน้านี้ราคาแอลพีจีของไทยต่ำกว่าตลาดโลก จึงมีการลักลอบบางส่วน แต่ตอนนี้มีการลอยตัวราคาแอลพีจี และส่งเสริมการนำเข้าแบบเสรีแล้ว ดังนั้นจึงเป็นโอกาสที่จะขยายตลาดเพิ่ม เบื้องต้นอาจจะไปตั้งโรงบรรจุในประเทศเพื่อนบ้านและกระจายไปยังประเทศต่างๆ แต่เรื่องนี้คงต้องมีความชัดเจนจาก ธพ.ก่อน โดยเฉพาะเรื่องภาษี สูตรราคาขายที่ต้องเป็นไปตามต้นทุน เป็นต้น"นายอรรถพล กล่าวโดยข้อมูลของกระทรวงพลังงานพบว่าความต้องการใช้แอลพีจีในปี 2558 ลดลง 5.4%

ขณะที่เฉพาะเดือนธันวาคม 2558 ที่ผ่านมา ความต้องการใช้แอลพีจีลดลง 14% เมื่อเทียบกับปีก่อน ทั้งนี้พบว่าการใช้แอลพีจีภาคครัวเรือนยังคงเติบโตได้ตามปกติในอัตรา 3-4% ต่อปี แต่ในส่วนของกลุ่มขนส่งหดตัวลงอย่างมาก โดยในปีที่ผ่านมาลดลงประมาณ 10% และน่าจะยังคงหดตัวต่อเนื่อง ซึ่งการศึกษาเพื่อนำเข้า-ส่งออกแอลพีจีของปตท.จะช่วยทำให้สามารถใช้สาธารณูปโภคทั้งท่าเรือ และคลังแอลพีจีได้อย่างคุ้มค่ามากขึ้น โดย ปตท.ให้ความสนใจที่จะทำตลาดส่งออกในแถบอาเซียนเป็นหลัก ทั้งในกัมพูชา และลาว แต่ในส่วนการส่งออกไปลาวอาจจะต้องใช้การขนส่งทางรถยนต์เป็นหลัก

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,131 วันที่ 14 - 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559