ชิปปิ้ง-อู่ต่อเรือโดนพิษศก.ชะลอ ออร์เดอร์หดตามปริมาณการค้าโลก ขณะยอดฝาก-ทำลายเรือพุ่ง

17 ก.พ. 2559 | 12:00 น.
สำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานว่า บริษัทต่อเรือ บริษัทเดินเรือสินค้า และบริษัทบริหารท่าเรือ ที่เคยได้รับอานิสงส์จากการขยายตัวอย่างรวดเร็วของเศรษฐกิจจีนและความเฟื่องฟูของตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ ปัจจุบันกลับเปลี่ยนสถานะกลายเป็นผู้ได้รับผลกระทบมากที่สุดกลุ่มหนึ่งจากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของจีนและภาวะตกต่ำของราคาสินค้าโภคภัณฑ์โดยเฉพาะน้ำมันดิบ ซึ่งทำให้ความต้องการสั่งซื้อแท่นขุดเจาะและอุปกรณ์ที่ใช้ในอุตสาหกรรมน้ำมันดิ่งฮวบลงตามราคาน้ำมัน

การส่งออกสินค้าของจีนลดลง 1.8 % ในปี 2558 ขณะที่การนำเข้าในปีเดียวกันลดลง 13.2% ดัชนีบอลติก ดราย ซึ่งเป็นดัชนีวัดมูลค่าการขนส่งถ่านหิน สินแร่เหล็ก ธัญพืช และสินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆที่ไม่ใช่น้ำมัน ลดลงมาแล้ว 76% นับตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2558 และปัจจุบันก็อยู่ในเกณฑ์ต่ำเป็นประวัติการณ์ อัตราค่าขนส่งสินค้าทางเรือที่มีต้นทางจากท่าเรือของเอเชียก็ลดลง เช่นเดียวกับปริมาณการขนส่งสินค้าจากท่าเรือหลักๆบางแห่งของภูมิภาค ยกตัวอย่างท่าเรือสิงคโปร์ซึ่งเป็นท่าเรือใหญ่อันดับ 2 ของโลก ปริมาณการขนส่งสินค้าลดลง 8.7 % ในปีที่ผ่านมา นับเป็นการลดลงครั้งแรกในรอบ 6 ปี ส่วนปริมาณการขนส่งสินค้าที่ท่าเรือฮ่องกง ซึ่งเป็นท่าเรือใหญ่อันดับสี่ของโลก ลดลงเช่นกันที่อัตรา 9.5% ด้านท่าเรือในภูมิภาคอื่นๆ เช่น ท่าเรือรอตเตอร์ดัมที่เนเธอร์แลนด์ การขนส่งสินค้าแบบตู้คอนเทนเนอร์ก็ลดลงทำลายสถิติในปีที่ผ่านมา

นายสะราวันนา กริชนา ผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท อินเตอร์เนชั่นแนล ชิปแคร์ บนเกาะลาบวน ประเทศมาเลเซีย ผู้ให้บริการดูแลและซ่อมบำรุงเรือเดินสมุทรและแท่นขุดเจาะน้ำมันที่ไม่ได้ใช้งาน เปิดเผยว่า ปัจจุบันที่ท่าจอดเรือของบริษัทบนเกาะลาบวนมีเรือของลูกค้านำมาฝากไว้ถึง 102 ลำ เป็นตัวเลขสูงกว่าในปีก่อนหน้ามากกว่า 2 เท่า และยังมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น

ด้านคลาร์คสัน รีเสิร์ช บริษัทที่ปรึกษาธุรกิจในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เปิดเผยว่า ในปีที่ผ่านมา ยอดการสั่งซื้อเรือเดินสมุทรลดลง 40 % คิดเป็นมูลค่า 6.9 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่ยอดการสั่งทำลายเรือเก่าที่ไม่ใช้แล้วพุ่งทะยานถึง 15 % สถานการณ์ดังกล่าวแตกต่างไปจากเมื่อ 2-3 ปีที่แล้วโดยสิ้นเชิง เนื่องจากในช่วงที่เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวและน้ำมันมีราคาสูงขึ้น ยอดการสั่งซื้อเรือใหม่ทะยานด้วยเช่นกัน โดยในปี 2556 ยอดรวมการสั่งซื้อเรือสินค้าแบบเทกอง (bulk carrier) สำหรับขนสินค้าประเภทสินแร่เหล็ก ถ่านหิน หรือข้าว มีจำนวนมากกว่า 1.2 พันลำ ขณะที่ปี 2558 ยอดสั่งซื้อเรือแบบเดียวกันมีจำนวนเพียง 250 ลำ เรือบรรทุกสินค้าจำนวนมากที่ต่อใหม่ออกมาขณะนี้อยู่ระหว่างการใช้งานแล้ว จึงกล่าวได้ว่าปริมาณเรือสินค้าในปัจจุบันอยู่ในภาวะล้นเกินความต้องการ

จีนเองเป็นหนึ่งในผู้ได้รับผลกระทบรุนแรงจากสถานการณ์ดังกล่าว เนื่องจากเป็นประเทศผู้ต่อเรือบรรทุกสินค้ารายใหญ่ของโลก สถิติจากกระทรวงอุตสาหกรรมและสารสนเทศของจีนชี้ว่า ในปี 2558 ยอดสั่งต่อเรือใหม่ลดลงเกือบ 50 % และในเดือนธันวาคมที่ผ่านมา บริษัท โจชาน หวูโจ ชิป รีแพริ่ง แอนด์ บิลดิ้ง ก็กลายเป็นรัฐวิสาหกิจผู้ต่อเรือและซ่อมบำรุงเรือรายแรกในรอบทศวรรษของจีนที่ก้าวเข้าสู่ภาวะล้มละลาย

ท่าเรือเองก็ได้รับผลกระทบในเรื่องนี้ สถิติชี้ว่า ท่าเรือเซี่ยงไฮ้มีรายได้ลดลงจาก 7.6 พันล้านหยวนในช่วงไตรมาสสามของปี 2557 เหลือเพียง 7.5 พันล้านหยวน (ประมาณ 39,600 ล้านบาท) ในช่วงเดียวกันของปี 2558 ขณะที่ยอดกำไรสุทธิลดลง 18 % มาอยู่ที่ 1.4 พันล้านหยวน ทางด้านบริษัทรับสร้างแท่นขุดเจาะน้ำมันอย่าง บริษัท เคพเพล และบริษัท เซมบ์คอร์ป อินดัสทรีส์ ซึ่งเป็น 2 ผู้สร้างแท่นขุดเจาะน้ำมันรายใหญ่ที่สุดในโลกที่มีกองทุนเทมาเสคของสิงคโปร์เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ต่างเผชิญภาวะยอดสั่งซื้อลดลงในปี 2558 โดยบริษัทระบุว่าเป็นยอดสั่งซื้อที่ต่ำสุดในรอบ 6 ปี เทมาเสคกำลังหาทางเพิ่มสภาพคล่องให้ทั้ง 2 บริษัทโดยอาจจะออกหุ้นใหม่เพื่อเพิ่มทุนหรืออาจขายสินทรัพย์ที่ไม่ใช่ธุรกิจหลักออกไป

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,131 วันที่ 14 - 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559