11วิชาชีพจี้ทบทวนร่างพ.ร.บ.การอุดมศึกษาฯ ชี้ขาดการมีส่วนร่วม  

06 ก.ย. 2561 | 10:27 น.
 

168466

วันนี้(6ก.ย.) สมาพันธ์สภาวิชาชีพแห่งประเทศไทย ซึ่งเกิดจากการรวมตัวของ 11 สภาวิชาชีพ ประกอบด้วย ประกอบด้วย แพทยสภา  สภาการพยาบาล  สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์  สภาเภสัชกรรม  ทันตแพทยสภา  สภาวิศวกร  สภาสถาปนิก  สัตวแพทยสภา  สภาเทคนิคการแพทย์  สภากายภาพบำบัด สภาวิชาชีพบัญชีในพระบรมราชูปถัมภ์  นำคณะเข้าพบนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ที่ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล เพื่อคัดค้านการยกร่าง พ.ร.บ.การอุดมศึกษา วิจัย และนวัตกรรมพ.ศ... เพราะไม่เปิดโอกาสให้สมาพันธ์สภาวิชาชีพฯ เข้าไปมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น ส่งผลให้การออกกฎหมายบางมาตรา อาจส่งผลกระทบต่อชีวิต และสวัสดิภาพของประชาชนไทย

 

นายทัศไนย ไชยแขวง อุปนายกสภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ ในฐานะประธานสมาพันธ์สภาวิชาชีพแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เหตุผลในการคัดค้านร่างกฎหมายฉบับนี้ โดยเฉพาะ มาตรา โดยเฉพาะในมาตรา 48,  มาตรา 64, มาตรา 65 และ มาตรา 66  ในร่าง พ.ร.บ.การอุดมศึกษาฯ ห้ามมิให้สภาวิชาชีพมีอำนาจในการรับรองหรือกำหนดจัดการเรียนการสอนในสถาบันอุดมศึกษา รวมทั้งมิให้ออกข้อบังคับหรือหลักเกณฑ์เพื่อจัดระเบียบการประกอบวิชาชีพ แต่ทำได้เพียงการจัดประเมินความรู้และทักษะให้แก่ผู้สำเร็จการศึกษา หรือการขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกอบวิชาชีพ ซึ่งทั้ง 3 มาตรานี้ จำกัดบทบาทและหน้าที่ของสภาวิชาชีพ

 

ทั้งนี้ ยืนยันว่าที่ผ่านมาไม่ได้เลือกปฏิบัติหรือก้าวก่ายการจัดการเรียนการสอนในสถาบันอุดมศึกษา แต่ดำเนินงานในลักษณะการส่งเสริมสนับสนุนและกำกับให้การเรียนการสอนเป็นไปตามมาตฐานสากล เพื่อให้นิสิตนักศึกษา มีความรู้และทักษะจนสามารถสอบผ่านการรับรองใบประกอบวิชาชีพได้ โดยได้รับความร่วมเป็นอย่างดีจากผู้บริหารสถาบันอุดมศึกษาทุกแห่ง เนื่องจากเป็นหนึ่งในแนวทางการประกันคุณภาพการศึกษา ซึ่งสภาวิชาชีพ ดำเนินการโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 54 วรรค 3 แห่งรัฐธรรมนูญราชอาณาจักรไทย 2560

 

“สำหรับสิ่งที่กังวลมากที่สุดคือ อาจมีนิสิตนักศึกษาตกงาน หรือไม่มีคุณภาพมากขึ้น เพราะสภาวิชาชีพไม่ได้กำกับดูการเรียนการสอนตั้งแต่ต้นน้ำ เป็นเพียงผู้จัดสอบใบประกอบวิชาชีพ ซึ่งอยู่ปลายน้ำเท่านั้น จึงเกิดความสูญเปล่าด้านการศึกษา”

 

นายทัศไนย  กล่าวว่า ส่วนมาตรา 48 ในร่าง พ.ร.บ.การอุดมศึกษาฯ ระบุว่า "สถาบันอุดมศึกษา มีหน้าที่ในการให้บริการทางวิชาการและวิชาชีพ และให้คำปรึกษาทางวิชาการและวิชาชีพแก่สังคมภายนอกสถาบันอุดมศึกษา โดยนำความรู้จากการจัดการศึกษา การฝึกอบรมทางวิชาการ การผลิตวิจัยและการสร้างนวัตกรรม การทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม มาดำเนินการดังกล่าว เพื่อพัฒนาสังคมในด้านการวิชาการหรือการพัฒนาความรู้ตลอดจนความเข้มแข็งของประเทศชาติและนานาชาติ"

 

มาตรานี้ยังมีความคลุมเครือ อาจนำไปสู่การประกอบธุรกิจของสถาบันอุดมศึกษา ซึ่งขัดต่อกฎหมายสภาวิชาชีพ จนอาจทำให้การบังคับใช้กฎหมายไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ เช่น ในปี 2559 สถาบันการศึกษา 2 แห่ง ไปเป็นคู่สัญญากับ กทม. รับจ้างสำรวจและออกแบบโครงการพัฒนาพื้นที่ริมน้ำเจ้าพระยา ในวงเงินค่าจ้าง 120 ล้านบาท โดยไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ จึงถือว่ากระทำการฝ่าฝืน พ.ร.บ.วิศวกร พ.ศ.2542 และ พ.ร.บ.สถาปนิก พ.ศ.2543 อย่างชัดเจน ดังนั้นสมาพันธ์สภาวิชาชีพฯ จึงขอให้ตัดคำว่า 'วิชาชีพ' ออกจากมาตรานี้

 

นายทัศไนย เปิดเผยว่า นายวิษณุ รับฟังข้อเสนอของสภาวิชาชีพฯ และจะนำไปเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) หากร่างกฎหมายฉบับนี้กลับเข้าสู่ ครม. อีกครั้ง หลังจากผ่านการพิจารณาในชั้นคณะกรรมการกฤษฎีกา

 

23626556