นักวิเคราะห์เตือนนักลงทุนตลาดเงินอย่าตื่นตูม

06 ก.ย. 2561 | 09:07 น.
ค่าเงินของประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ยังคงร่วงลงอย่างต่อเนื่อง แต่นักวิเคราะห์มองว่าปฏิกริยาที่เกิดขึ้นในตลาดที่หวาดหวั่นว่าการอ่อนตัวของค่าเงินในขณะนี้จะแพร่ระบาดลุกลามไปทั่วโลกนั้นอาจจะเกินเลยความเป็นจริง

ในบรรดาสกุลเงินที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือ รูเปียห์ของอินโดนีเซีย ที่อ่อนค่าลงไปทำสถิติใหม่อีกครั้ง โดยเป็นการอ่อนค่าลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 2 ทศวรรษ หรือในรอบ 20 ปีเลยทีเดียว ที่อัตราแลกเปลี่ยน 14,940 รูเปียห์ต่อดอลลาร์สหรัฐฯ

แม้ตลาดจะกลัวว่าการอ่อนค่าเงินของสกุลเงินต่างๆจะลุกลามไปทั่ว  แต่นักวิเคราะห์ก็ติงเตือนว่า นักลงทุนไม่ควรตื่นตระหนกไปตามความรู้สึกในเชิงลบที่เกิดขึ้น  การเทขายสกุลเงินเมื่อวันอังคารส่งผลให้หลายสกุลเงินราคาร่วงลงตามๆกัน และบางสกุลก็ทำสถิติต่ำสุดอย่างที่กล่าวมา  เช่นรูเปียห์ แม้วันพุธจะปรับค่าขึ้นมาบ้าง แต่ก็ขึ้นน้อยมาก คือมาอยู่ที่ประมาณ 14,925 รูเปียห์ต่อดอลลาร์สหรัฐฯ

ส่วนเปโซอาร์เจนติน่าราคาร่วงลงประมาณ 3 % เมื่อวันอังคาร หลังจากที่ร่วงลงมาแล้ว 16% ในช่วงสัปดาห์ที่แล้ว กล่าวโดยสรุปคือนับตั้งแต่ต้นปีมานี้ เปโซอาร์เจนติน่าอ่อนค่าลงมาแล้วเกือบๆ 50% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ (จากการรายงานของสำนักข่าวบลูมเบิร์ก)

[caption id="attachment_313607" align="aligncenter" width="503"] ค่าเงินแรนด์โดนทุบอีกครั้ง หล่นลงมาราว 3% จากข่าวเศรษฐกิจแอฟริกาใต้เข้าสู่ภาวะถดถอย ค่าเงินแรนด์โดนทุบอีกครั้ง หล่นลงมาราว 3% จากข่าวเศรษฐกิจแอฟริกาใต้เข้าสู่ภาวะถดถอย[/caption]

หันมามองค่าเงินรูปีของอินเดีย อัตราแลกเปลี่ยนเมื่อเช้ากลางสัปดาห์ (5 กันยายน) ร่วงลงมาทำสถิติต่ำสุดครั้งใหม่ในรอบ 7 วันที่อัตรา 71.78 รูปีต่อดอลลาร์ สกุลอื่นๆไม่ว่าจะเป็นลีราของตุรกีหรือแรนด์ของแอฟริกาใต้ก็ประสบชะตากรรมเดียวกัน โดยเฉพาะค่าเงินแรนด์นั้นโดนทุบอีกครั้งหล่นลงมาราว 3% จากข่าวเศรษฐกิจแอฟริกาใต้เข้าสู่ภาวะถดถอย

โดยภาพรวมคือ ดัชนีสกุลเงินตลาดเศรษฐกิจเกิดใหม่ (MSCI Emerging Markets Currency Index) ปรับลดลงอีก 0.46% ซึ่งนับว่าลดลงมากที่สุดในรอบ 2 สัปดาห์ และทำให้สถิติทั้งปีนับจากต้นปีมาจนถึงขณะนี้ ดัชนีดังกล่าวร่วงลงมาแล้ว 5.53%

คาริน เฮิร์น นักวิเคราะห์จากบริษัทบริหารจัดการสินทรัพย์ อีสต์ แคปปิตอล ให้ความเห็นว่า สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นนี้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯที่กำลังแข็งมาก ประกอบกับราคาน้ำดิบในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้น แต่ต้นเหตุที่แท้จริงที่ทำให้ตลาดปั่นป่วนอยู่ในขณะนี้เป็นเพราะปฏิกริยาของนักลงทุนเอง ทั้งนี้ โดยทั่วไปแล้ว ตลาดเศรษฐกิจเกิดใหม่จะมีความผกผันหรืออ่อนไหวต่อปฏิกริยาของนักลงทุนมากอยู่แล้ว เนื่องจากนักลงทุนส่วนใหญ่ในตลาดเหล่านี้เป็นนักลงทุนต่างชาติ ไม่ใช่นักลงทุนในท้องถิ่น ดังนั้นความรู้สึกหรือปฏิกริยาที่ครอบงำตลาดจึงมักมาจากความรู้สึกหรือความหวั่นวิตกที่มาจากปัจจัยต่างๆทั่วโลก เช่น การเผชิญหน้าทางการค้าของประเทศคู่ค้าทั่วโลก แต่หากจะมองให้ดี จะเห็นว่าสิ่งที่หวั่นๆกันอยู่นี้ ยังไม่มีผลกระทบหนักๆ ต่อรายได้ของบริษัทเอกชน ดูไปแล้วในตอนนี้ภาคธุรกิจในภาพรวม ยังไม่ได้รับผลกระทบมากนัก

+เงินบาทแข็งแรงสวนกระแส

นักวิเคราะห์ชี้ว่า ตอนนี้ในตลาดเกิดใหม่ของเอเชีย “รูปีกับรูเปียห์” คือสกุลเงินที่ได้รับแรงกดดันมากที่สุด แต่หากพิจารณาดูปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจของอินโดนีเซีย ก็จะเห็นว่า ไม่ได้เลวร้ายอะไรเลย จีดีพีไตรมาสสองก็ยังมีการเจริญเติบโต  ฝ่ายวิจัยตลาดเอเชียของธนาคารเอเอ็นแซดชี้ว่า สิ่งที่เกิดขึ้นกับค่าเงินรูเปียห์ของอินโดนีเซียส่วนใหญ่เกิดจากปฏิกริยาของตลาดการเงินที่มีต่อความหวาดกลัวว่าการอ่อนตัวของค่าเงินจะระบาดเป็นวงกว้าง ทำให้รัฐบาลอินโดนีเซียต้องหันมาโฟกัสเรื่องการรักษาสเถียรภาพของค่าเงินเป็นอันดับแรก แต่ประธานาธิบดี โจโค วิโดโด ของอินโดนีเซียก็ออกมายอมรับว่า เรื่องนี้ (การอ่อนค่าของเงินรูเปียห์) มีปัจจัยมากมายจากภายนอก  ตอนนี้ภารกิจหลักอันดับต้นๆ ของรัฐบาลก็คือการเพิ่มการลงทุนและการส่งออก เพื่อรักษาสมดุลของดุลบัญชีเดินสะพัด เพราะโดยทั่วไปแล้วเมื่อมีการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดมากขึ้นก็จะยิ่งส่งผลให้ค่าเงินอ่อนตัวลงไปอีก เพราะเมื่อการนำเข้าเพิ่มสูงขึ้นก็จะมีความต้องการซื้อสกุลเงินต่างชาติเพิ่มขึ้นด้วยเพื่อตอบโจทย์ความต้องการในด้านการค้า ผู้นำอินโดนีเซียย้ำว่า มีสองสิ่งที่เป็นกุญแจสำคัญในการแก้ไขปัญหาค่าเงินรูเปียห์  นั่นคือ การส่งเสริมให้มีการลงทุนมากยิ่งขึ้น และต้องเพิ่มการส่งออกในขณะเดียวกัน เพื่อที่อินโดนีเซียจะสามารถคลี่คลายปัญหาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด และนั่นก็จะช่วยให้ค่าเงินแข็งขึ้นตามมา

[caption id="attachment_313608" align="aligncenter" width="503"] ประธานาธิบดี โจโค วิโดโด ของอินโดนีเซียก็ออกมายอมรับว่า การอ่อนค่าของเงินรูเปียห์ มีปัจจัยมากมายจากภายนอก ประธานาธิบดี โจโค วิโดโด ของอินโดนีเซียก็ออกมายอมรับว่า การอ่อนค่าของเงินรูเปียห์ มีปัจจัยมากมายจากภายนอก[/caption]

นักวิเคราะห์จากธนาคารมิสุโฮ ให้ความเห็นว่า ความตื่นตระหนกว่าค่าเงินที่อ่อนตัวลงจะแพร่ระบาดไปทั่วโลกนั้น แม้จะ “เกินเลย” หรือตื่นตระหนกเกินเหตุไปหน่อย แต่ก็พอจะเข้าใจได้  แต่ทั้งนี้ต้องเข้าใจว่า เป็นเรื่องสำคัญมากที่นักลงทุนจะต้องไม่ตื่นตูมไปตามกระแสความหวาดหวั่นของตลาดเศรษฐกิจเกิดใหม่ และยิ่งต้องมองให้ชัดว่า การอ่อนตัวของค่าเงินเปโซอาร์เจนติน่าและเงินลีราของตุรกีนั้น มีเหตุปัจจัยแตกต่างจากการอ่อนค่าของเงินรูปีอินเดียและรูเปียห์อินโดนีเซีย แต่ทั้งหมดทั้งมวลก็อาจถูกแรงกดดันจากปัจจัยภายนอก เช่น ความตึงเครียดของสงครามการค้า เข้ามาสร้างแรงกดดันทุบให้ค่าเงินอ่อนตัวลงได้อีก แต่ท่ามกลางสถานการณ์ดังกล่าวนี้ มีสกุลเงินหนึ่งของเอเชียที่ทวนกระแสรอบข้างที่กำลังเกิดขึ้น นั่นก็คือ สกุลเงินบาทของไทย นักวิเคราะห์ของธนาคารเอเอ็นแซด ให้ความเห็นว่า นักลงทุนรู้ดีว่า ประเทศไหนน่ากังวล และประเทศไหน สบายใจได้ และสำหรับประเทศไทย เมื่อพิจารณาดูก็จะพบว่า ไทยมีดุลบัญชีเดินสะพัดที่เกินดุลอยู่ คิดเป็นสัดส่วนเกือบๆ 10% ของจีดีพี อีกทั้งเศรษฐกิจก็เริ่มมีการขยายตัวและกำลังเข้าสู่ทิศทางขาขึ้น

23626556