สนทช.ถกแผนเฝ้าระวังฝนตกเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

06 ก.ย. 2561 | 10:09 น.
คณะทำงานอำนวยการน้ำ เฝ้าระวังฝนตกต่อเนื่อง เชื่อมข้อมูลประเทศเพื่อนบ้านเพื่อบริหารน้ำให้มีประสิทธิภาพ  พร้อมซักซ้อมแผนผันน้ำ 13 ทุ่งหลังการเก็บเกี่ยวแล้วเสร็จ ผวาพื้นที่กระทบระบายน้ำ 2 เขื่อนใหญ่  ส่งซิก ปภ. เฝ้าระวัง 24 ชม. เผยน้ำท่วมกระทบกว่าแสนคน

1861267

วันนี้ ( 6 ก.ย.61)  นายสมเกียรติ  ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สนทช.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะทำงานอำนวยการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ครั้งที่ 6/2561 ณ ห้องประชุมศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ กรมชลประทาน สามเสน ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่า ที่ประชุมได้มีการประชุมติดตามการคาดการณ์ปริมาณฝนเดือนกันยายนและตุลาคม เพื่อวางแผนระบายน้ำของแหล่งเก็บกักน้ำขนาดใหญ่ กลางและเล็กให้เหมาะสมกับสถานการณ์ รวมถึงรับทราบผลกระทบและความช่วยเหลือ และคาดการณ์พื้นที่ที่อาจจะได้รับผลกระทบจากการระบายน้ำจากเขื่อน เช่น พื้นที่ท้ายน้ำที่อาจได้รับกระทบจากการพร่องน้ำจากเขื่อนศรีนครินทร์และเขื่อนวชิราลงกรณ รวมถึงลุ่มน้ำปราจีนบุรีและนครนายกที่อาจจะได้รับผลกระทบจากปริมาณฝนที่จะตกลงในพื้นที่เพิ่มมากขึ้นในช่วงกลางเดือนกันยายนนี้ด้วย

1861270

ขณะเดียวกัน ที่ประชุมได้พิจารณาร่วมกันใน 3 ประเด็นหลัก คือ  1 ติดตามสถานการณ์น้ำในแม่น้ำโขง โดยมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องประสานความร่วมมือและบูรณาการข้อมูลแม่น้ำโขงระหว่างประเทศ เช่น  กรณีเขื่อนน้ำงึม ประเทศลาว เพื่อประโยชน์ในการบริหารจัดการน้ำท่วมและแล้งให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น  2.การบริหารจัดการน้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยาในช่วงฤดูน้ำหลาก ปี 2561 เพื่อเน้นย้ำหน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด

โดยเฉพาะการบูรณาการกระบวนการติดตามและการแจ้งเตือนภัย การบริหารจัดการน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยา และการบริหารจัดการน้ำพื้นที่ลุ่มน้ำ 13 ทุ่ง โดยกรมชลประทานดำเนินการแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เกษตรกร และประชาชนในพื้นที่รับทราบแผนดำเนินการต่อเนื่องเป็นระยะด้วย และประเด็นที่สาม  คือ การหารือมาตรการการเตรียมการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ที่มีน้ำต้นทุนน้อย ปี 2561 โดยมอบหมายให้หน่วยงานที่มีอ่างเก็บน้ำที่มีความเสี่ยงน้ำน้อย เตรียมการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ที่มีน้ำต้นทุนน้อย ปี 2561 และการพิจารณาปรับแผนการระบายน้ำ และประสานกรมฝนหลวง เพื่อเติมน้ำเข้าอ่างเก็บน้ำด้วย

1861276

ด้านนายสำเริง  แสงภู่วงค์ รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราวในภาวะวิกฤต เปิดเผยถึงภาพรวมสถานการณ์น้ำประเทศไทย ณ วันที่ 6 ก.ย.61 ว่า วันนี้มีฝนลดลง แต่ยังมีฝนตกหนักบางพื้นที่บริเวณด้านตะวันตกของภาคเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก โดยมีพื้นที่เสี่ยงภัยฝนตกหนัก 16 จังหวัด ภาคเหนือ จ.แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ ลำพูน ตาก กำแพงเพชร ภาคกลาง อุทัยธานี ชัยนาท ภาคตะวันออก จ.นครนายก ปราจีนบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด ภาคตะวันตก จ.กาญจนบุรี ราชบุรี ภาคใต้ จ.ระนอง พังงา  ซึ่งปริมาณฝนสะสม 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา มีฝนตกปานกลางถึงหนักในภาคเหนือ จ.น่าน 51.0 มม. พิษณุโลก 46.2 มม. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.ศรีสะเกษ 56.4 มม. หนองบัวลำภู 37.0 มม. ภาคตะวันออก จ.นครนายก 69.4 มม. จันทบุรี 44.5 มม. ปราจีนบุรี 38.5 มม. ภาคใต้ จ.พังงา 85.0 มม. ขณะที่ในช่วง 7–11 ก.ย. 61 คาดการณ์ว่าจะมีฝนเพิ่มมากขึ้น กับมีฝนตกหนักบางพื้นที่บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ตอนบน

1861273

สำหรับสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ ซึ่งเป็นอ่างฯขนาดใหญ่ที่มีระดับเกินเกณฑ์ควบคุม (Upper Rule Curve) และปริมาณน้ำเกินร้อยละ 80 ของความจุ ที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้บริหารจัดการน้ำ โดยเร่งพร่องน้ำตามการคาดการณ์ฝนที่ยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง ติดตามสถานการณ์ฝนในพื้นที่เพื่อปรับแผนการระบายน้ำ รวมเขื่อนเฝ้าระวังขนาดใหญ่ทั้งสิ้น  6 แห่ง ได้แก่ เขื่อนน้ำอูน จ.สกลนคร เขื่อนแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี  เขื่อนวชิราลงกรณ จ.กาญจนบุรี เขื่อนศรีนครินทร์ จ.กาญจนบุรี เขื่อนขุนด่านปราการชล จ.นครนายก โดยล่าสุดเพิ่มการเฝ้าระวังเพิ่มเติมที่เขื่อนนฤบดินทรจินดา จ.ปราจีนบุรี ปริมาณน้ำ 260 ล้าน ลบ.ม.  คิดเป็น 88% ปริมาณน้ำไหลเข้าวันละ 5.11 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณน้ำไหลออกวันละ 3.43 ล้าน ลบ.ม.

ทั้งนี้สถานการณ์น้ำในแม่น้ำต่างๆ ที่น้ำสูงกว่าระดับตลิ่ง ประกอบด้วย แม่น้ำเข็ก บริเวณ ต.นางนกแอ่น อ.วังทอง จ.พิษณุโลก แม่น้ำป่าสัก บริเวณ อ.หล่มสัก อ.หนองไผ่ จ.เพชรบูรณ์ แม่น้ำสงคราม จ.สกลนคร อ.เซกา จ.บึงกาฬ ห้วยหลวง จ.อุดรธานี แม่น้ำโขง บริเวณ จ.หนองคาย จ.นครพนม และ จ.มุกดาหาร  พื้นที่ลุ่มต่ำ แม่น้ำเพชรบุรี บริเวณ ต.กลัดหลวง อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี  แม่น้ำนครนายก บริเวณ อ.องครักษ์ จ.นครนายก แม่น้ำปราจีนบุรี บริเวณ อ.เมือง จ.ปราจีนบุรี

kobchai

ด้านกอบชัย บุญอรณะ รองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย(ปภ.) กระทรวงมหาดไทย เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่าจากการพยากรณ์อากาศของกรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์ว่าในระหว่างวันที่ 7-9 กันยายน 2561 ประเทศไทยตอนบนมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่ง ซึ่งพื้นที่ยังคงมีสถานการณ์อุทกภัยต่อเนื่อง อาจมีน้ำล้นตลิ่ง น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ดินโคลนถล่ม ได้แก่ บริเวณจังหวัดน่าน พิษณุโลก เลย หนองบัวลำภู อุดรธานี สกลนคร สระบุรี นครนายก ปราจีนบุรี จันทบุรี ตราด ชุมพร ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล ขอให้ประชาชนและผู้ที่เกี่ยวข้องติดตามข้อมูลข่าวสารสภาพอากาศ ปริมาณน้ำท่า ปริมาณน้ำฝนสะสมจากทางราชการอย่างใกล้ชิด ตลอด 24 ชั่วโมง

ปัจจุบันยังคงมีน้ำท่วม 9 จังหวัด ได้แก่ บึงกาฬ นครพนม หนองคาย สกลนคร กาฬสินธุ์ อุบลราชธานี นครนายก  ปราจีนบุรี  และเพชรบุรี  ผู้ที่ได้รับผลกระทบ 45 อำเภอ 222 ตำบล 1,418 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 3.71 หมื่นครัวเรือน 1.1 แสนคน

ด้านศูนย์ติดตามและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ช่วงภัย 12 กรกฎาคม – ปัจจุบัน จำนวน 39 จังหวัด แบ่งเป็น ด้านพืช 32 จังหวัด เกษตรกร 163,235 ราย พื้นที่การเกษตรได้รับผลกระทบ 1,154,976 ไร่ แบ่งเป็น ข้าว 872,900 ไร่ พืชไร่ 121,931 ไร่ พืชสวนและอื่นๆ 160,145 ไร่ ด้านประมง 27 จังหวัด เกษตรกร 9,061 ราย พื้นที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำได้รับผลกระทบ ได้แก่ บ่อปลา บ่อกุ้ง ปูหอย จำนวน 10,270 บ่อ รวมพื้นที่ 7,402 ไร่กระชัง 900 กระชังรวมพื้นที่ 16,414 ตรม. ด้านปศุสัตว์ 14 จังหวัด เกษตรกร 11,101 ราย สัตว์ได้รับผลกระทบ 202,561 ตัว แบ่งเป็น โค-กระบือ 33,070 ตัว สุกร 3,346 ตัว แพะ 1,278 ตัว สัตว์ปีก 164,867 ตัว แปลงหญ้า 898 ไร่

ด้านกรมชลประทาน รายงานสภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลาง (447 แห่ง) ปริมาตรน้ำในอ่างฯ 57,069 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 75 (ปริมาตรน้ำใช้การได้ 33,136 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 64) ปริมาตรน้ำในอ่างฯ เทียบกับปี 2560 (52,380 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 69) มากกว่าปี 2560 จำนวน 4,689 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณน้ำไหลลงอ่างฯ จำนวน 493.97 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณน้ำระบาย จำนวน 331.97 ล้าน ลบ.ม. สามารถรับน้ำได้อีก 19,076 ล้าน ลบ.ม.

c9bb4c7f0c9866b0e2f71540286cacd3f_19720313_๑๘๐๙๐๖_0003

ส่วนการปฏิบัติการฝนหลวง โดยกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เริ่มปฏิบัติฝนหลวงสู้ภัยแล้ง ประจำปี 2561 ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2561 โดยจัดตั้งหน่วยปฏิบัติการ 14 แห่ง ใน 5 ภูมิภาค ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ พิษณุโลก นครสวรรค์ กาญจนบุรี ลพบุรี ขอนแก่น อุดรธานี นครราชสีมา อุบลราชธานี สุรินทร์ จันทบุรี สระแก้ว สงขลา และอำเภอหัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ มีการขึ้นปฏิบัติการฝนหลวง จำนวน 175 วัน มีฝนตกจากการปฏิบัติการฝนหลวงคิดเป็นร้อยละ 94.67ขึ้นปฏิบัติงาน จำนวน 3,073 เที่ยวบิน (4,563:19 ชั่วโมงบิน) จังหวัดที่มีรายงานฝนตกรวม 58 จังหวัด อาทิ  จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ ตาก และน่าน เป็นต้น

23626556