สรท. ปรับเป้าส่งออกโต 9% ค่าเงิน-สงครามการค้าปัจจัยเสี่ยง

06 ก.ย. 2561 | 06:56 น.
สภาผู้ส่งออกปรับเป้าส่งออกเติบโตทั้งปี 9% ชี้ 7 ปัจจัยหนุน ขณะที่ยังมี 8 ปัจจัยเสี่ยงที่ต้องเฝ้าระวัง ทั้งค่าเงินผันผวน สงครามการค้า

นางสาวกัณญภัค ตันติพิพัฒน์พงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) หรือ สภาผู้ส่งออก เปิดเผยว่า สรท. ได้ปรับคาดการณ์ส่งออกทั้งปี 2561 ใหม่ จากเดิมคาดจะขยายตัวได้ที่ 8% เพิ่มเป็น 9%

ทั้งนี้ บนสมมติฐานค่าเงินบาทอยู่ที่ 33.0 (± 0.5) บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ (อัตราแลกเปลี่ยน ณ วันที่ 3 ก.ย. 61 – 33.77 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ) โดยมีปัจจัยบวกที่สำคัญ ได้แก่ 1) ตลาดหลักส่วนใหญ่ยังขยายตัวได้ดีสอดคล้องกับภาวะการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก โดยการส่งออกไปญี่ปุ่นและสหภาพยุโรป (15) ขยายตัวเร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้า ยกเว้นสหรัฐฯ อีกทั้ง ตลาดศักยภาพสูง อาทิ อินเดีย อาเซียน5 และ CLMV ยังเติบโตในระดับ 2 หลักได้อย่างต่อเนื่อง

2) การขาดดุลการค้าในเดือน ก.ค. เกิดจากการนำเข้าสินค้าทุนและวัตถุดิบอย่างต่อเนื่อง เป็นสัญญาณการลงทุนของภาคการผลิตเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการผลิตและการแข่งขันของผู้ประกอบการไทย 3) ดัชนีคาดการณ์ภาวะธุรกิจส่งออก สูงกว่าระดับ 55 แสดงให้เห็นถึงความมุมมองของผู้ส่งออกยังมีทิศทางเป็นบวกอยู่และส่งผลดีต่อภาคการส่งออกของไทย 4) ผลกระทบเชิงบวกจากสถานการณ์สงครามการค้าที่จีนและสหภาพยุโรป (อียู) ปรับขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าเกษตรจากสหรัฐฯ ส่งผลดีต่อสินค้าไทยที่มีโอกาสส่งออกไปสหรัฐฯ ทดแทนจีน เช่น พืชเกษตรและอาหารทะเล และมีแนวโน้มกระจายตลาดการส่งออกในตลาดใหม่มากขึ้น

5) ผลกระทบเชิงบวกจากวิกฤตค่าเงินตุรกี ที่ในกลุ่มสินค้าสิ่งทอ ที่อาจมีต้นทุนสูงขึ้น ผู้นำเข้าจากทั่วโลกยังคงไม่มีความเชื่อมั่นต่อสถานการณทางการเงินของตุรกี เป็นโอกาสของไทยจากการเป็นตลาดทดแทนในกลุ่มสิ่งทอ เพิ่มมากขึ้น 6) การย้ายฐานการผลิตอุตสาหกรรมเครื่องคอมพิวเตอร์ จากมาเลเซียกลับมาที่ไทย เช่น อุปกรณ์และส่วนประกอบ เนื่องจากติดปัญหาความซับซ้อนกฎข้อระเบียบบังคับภายในรวมถึงการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำของมาเลเซีย และ 7) การผ่อนคลายมาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี ระหว่างประเทศสมาชิกในกลุ่มอาเซียน เช่น เวียดนามยกเลิกจำกัดปริมาณการนำเข้าสินค้าอย่างไข่ไก่ เกลือ รวมถึงน้ำตาลที่ขณะนี้อยู่ในระหว่างการหารือ



เรือบรรทุกสินค้า


ขณะที่ ความเสี่ยงที่อาจเป็นอุปสรรคสำคัญประกอบด้วย 1) ค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น จากการไหลกลับเข้ามาของเงินทุนต่างประเทศในกลุ่มประเทศเกิดใหม่ (Emerging Market) ส่วนหนึ่งเป็นผลจากวิกฤติค่าเงินตุรกี สถานการณ์ค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่าและแนวโน้มที่จะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย ที่จะดึงดูดเม็ดเงินนักลงทุนเข้ามาในประเทศทำให้เงินบาทแข็ง และกระทบมูลค่าการส่งออกในรูปเงินบาท 2) มาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ ภายใต้กฎหมายการค้ามาตรา 201 และ 232 ยังคงส่งผลกระทบต่อยอดการส่งออกเครื่องซักผ้า แผงโซลาร์เซล เหล็ก ทั้งนี้ สถานการณ์ยังไม่แน่นอนจากการขึ้นภาษีตอบโต้ หากแต่ภาครัฐและผู้ประกอบการต้องติดตามสถานการณ์ที่อาจจะเป็นโอกาสอย่างใกล้ชิด ในขณะเดียวกันต้องระวังสินค้าจากสหรัฐฯ ที่จะไหลเข้าไทย ทั้งถั่วเหลือง ข้าวสาลี แต่ในภาพรวมไม่ได้ส่งผลกระทบด้านลบกับการส่งออกไทยมากนัก

3) ปัญหามาตรการคว่ำบาตรอิหร่านของสหรัฐฯ ทำให้ทิศทางราคาน้ำมันดิบปรับขึ้น ราคาน้ำมันดิบปิดตลาดปรับตัวสูงขึ้นกว่าร้อยละ 3 แตะระดับ 75 ดอลลาร์สหรัฐฯ/บาร์เรล ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตและต้นทุนการขนส่งสินค้าปรับสูงขึ้น กระทบต่อความสามารถในการบริโภคของอุปสงค์ภายในประเทศและผลกำไรของผู้ประกอบการในทางอ้อม 4) ราคาสินค้าเกษตรและประมงบางรายการ ที่ยังคงเผชิญสภาวะตกต่ำ โดยเฉพาะยางพารา (อุปทานล้นตลาด) ข้าว มันสำปะหลัง (จากสภาพอากาศส่งผลให้มีความชื้นสูง) กุ้ง (จากการขาดแคลนวัตถุดิบ) 5) ปัญหาด้านโลจิสติกส์ อาทิ ปัญหาความแออัดภายในท่าเรือแหลมฉบัง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อต้นทุนโลจิสติกส์และกฎระเบียบที่ไม่เอื้ออำนวยความสะดวกในการส่งออก

6) สหรัฐอเมริกา เตรียมทบทวนการให้สิทธิ GSP ในช่วงเดือน ต.ค. นี้ กับ 25 ประเทศในภูมิภาคเอเซียแปซิฟิก รวมถึงไทย ที่คาดว่าจะมีการปรับอัตราภาษีการนำเข้าจะเพิ่มขึ้น 10% ในขณะที่จีน ที่ถูกปรับขึ้นอัตราภาษีที่ 25% 7) วิกฤตภาวะเงินเฟ้อประเทศเวเนซุเอลากว่า 82,766% และการอพยพของประชากร การเพิ่มอัตราค่าแรงและการเปลี่ยนสกุลเงินที่อาจทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อที่หนักขึ้น และ 8) มาตรการกีดกันการค้าจากสหรัฐฯ ขึ้นภาษีเหล็กและอลูมิเนียม 50% ส่งผลให้นักลงทุนขาดความเชื่อมั่นในเศรษฐกิจตุรกีและเกิดวิกฤตการค่าเงินตุรกีอ่อนค่ารุนแรง สะท้อนถึงภาระหนี้ต่างประเทศที่สูงขึ้นและจากความไม่มีเสถียรภาพของค่าเงินจะทำให้กลุ่มธนาคารของยุโรปในฐานะเจ้าหนี้ได้รับผลกระทบที่ลุกลามเป็นวงกว้าง และกระทบภาคการส่งออกของตุรกีโดยตรง ผู้ประกอบการไทยต้องระมัดระวังเรื่องการค้าขายกับตุรกีรวมถึงเทอมการชำระเงิน


23626556