ธนาคารแห่งประเทศไทยหวั่นการฟื้นเศรษฐกิจกระจุกตัว เตือนรับมือสถานการณ์โลกผันผวน

16 ก.พ. 2559 | 15:00 น.
ธปท.มองเศรษฐกิจไทยปีนี้ยังฟื้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป จากแรงขับเคลื่อนภายใน คาดขยายตัวได้ที่ 3.5% แต่ห่วงฟื้นตัวยังเป็นแบบกระจุก ชี้การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ช่วยได้ เตือนรับมือสร้างภูมิคุ้มกันสถานการณ์การเงินโลกผันผวน พร้อมแจง 3 พันธกิจหลักธปท.มุ่งรักษาเสถียรภาพ “ศก.-สถาบันการเงิน-ระบบชำระเงิน”

[caption id="attachment_31596" align="aligncenter" width="372"] ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ดร.วิรไท สันติประภพ
ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย[/caption]

ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้กล่าวสุนทรพจน์ประจำปี 2559 หัวข้อ “มุมมองแนวโน้มเศรษฐกิจและภารกิจของ ธปท.ปี 2559” เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2559ว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้ยังฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป แต่ยังมีความเสี่ยงในการขยายตัวด้านตํ่าอยู่ค่อนข้างมาก โดยแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจยังมาจากปัจจัยในประเทศเป็นหลักทั้งการบริโภค การลงทุนภาคเอกชน และภาครัฐ ส่วนด้านต่างประเทศการท่องเที่ยวยังเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญโดยเฉพาะจากนักท่องเที่ยวจีน ขณะที่การส่งออกคาดยังทรงตัวต่อ โดยธปท.คาดเศรษฐกิจไทยปีนี้จะขยายตัวที่ 3.5%เพิ่มจากฐานปี 2558 ที่ขยายตัวราว 2.8%

อย่างไรก็ดีแม้ทิศทางเศรษฐกิจไทยยังฟื้นตัวต่อเนื่อง แต่การฟื้นตัวยังคงกระจุกตัว ซึ่งถือเป็นประเด็นที่น่าเป็นห่วงเพราะการฟื้นตัวไม่ได้กระจายไปยังภาคการเกษตร หรือภาคเศรษฐกิจในชนบทเนื่องจากรายได้ของเกษตรกรยังถูกกดดันจากราคาสินค้าเกษตรที่อยู่ในระดับต่ำรวมทั้งปัญหาภัยแล้ง และภาระหนี้สินที่ยังอยู่ในระดับสูง จึงมีผลกระทบต่อการใช้จ่ายและความสามารถในการชำระหนี้ของภาคครัวเรือน

ขณะที่มาตรการภาครัฐที่จะส่งผลต่อเนื่องในระยะยาวอย่างมีนัยสำคัญ ได้แก่โครงการลงทุนที่ช่วยยกระดับศักยภาพของเศรษฐกิจในระยะยาว โดยเฉพาะนโยบายด้านอุปทาน เช่น การสร้างระบบสาธารณูปโภค การส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าเพิ่มสูง การสร้างฐานสำหรับการแข่งขันในระยะยาว การปรับปรุงกฎหมายที่เป็นอุปสรรค ตลอดจนการปฏิรูปการกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ

“ความเป็นห่วงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่ยังไม่กระจายตัวนั้น มองว่าการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของภาครัฐ จะเข้ามามีส่วนช่วยทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยสามารถกระจายตัวลงไปสู่ภูมิภาคได้อย่างทั่วถึงมากขึ้น” ผู้ว่าการธปท. กล่าวและว่า

เศรษฐกิจไทยแม้จะมีความเชื่อมโยงกับระบบการเงินโลก แต่ภาคการเงินของไทยถือว่าได้รับผลกระทบจากความผันผวนในตลาดเงินตลาดทุนโลกค่อนข้างน้อย เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศกำลังพัฒนาแห่งอื่นๆ เนื่องจากไทยมีกันชนหรือมีภูมิคุ้มกันที่ดีโดยเฉพาะฐานะด้านการต่างประเทศที่อยู่ในเกณฑ์ที่เข้มแข็ง แต่ก็ไม่ควรชะล่าใจ เนื่องจากสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจโลกยังมีความเสี่ยงสูง โดยธปท.จะติดตามภาวะเศรษฐกิจ-การเงินโลกอย่างใกล้ชิด และประเมินผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างรอบด้าน

ส่วนพันธกิจหลัก 3 ประการของธปท.ในปีนี้ ได้แก่ 1.การรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงิน ซึ่งโดยรวมการดำเนินนโยบายการเงินในปัจจุบันอยู่ในทิศทางผ่อนปรน ทั้งด้านนโยบายอัตราดอกเบี้ยและอัตราแลกเปลี่ยน เพื่อประคับประคองการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ยังไม่เข้มแข็งดี อย่างไรก็ดีจากภาวะที่อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับตํ่าเป็นเวลานาน จึงต้องเฝ้าระวังและติดตามพฤติกรรมที่อาจนำไปสู่ความเสี่ยงสะสมจนก่อให้เกิดความไม่สมดุลในระบบการเงินในอนาคตได้ รวมทั้งต้องรักษาขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงินเพิ่มเติมในภาวะที่ความเสี่ยงต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังมีมากและตลาดเงินตลาดทุนโลกมีแนวโน้มผันผวนขึ้นในระยะข้างหน้า

2.การรักษาเสถียรภาพสถาบันการเงิน โดยแนวทางของ ธปท.จะมุ่งรักษาความมั่นคงของระบบสถาบันการเงินและส่งเสริมให้ระบบสถาบันการเงินทำหน้าที่สนับสนุนเศรษฐกิจได้เต็มประสิทธิภาพ โดยจะติดตามและประเมินความเสี่ยงต่างๆ ที่อาจส่งผลกระทบโดยต่อเนื่อง และในปีนี้ยังเป็นปีแรกที่ ธปท.เริ่มทำหน้าที่กำกับดูแลสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ (SFI) อย่างเต็มรูปแบบมากขึ้น โดยระยะแรก ธปท.จะมุ่งกำกับดูแลระบบการบริหารความเสี่ยงของ SFIเช่น การดำรงเงินกองทุน การดำรงสินทรัพย์สภาพคล่อง และกระบวนการด้านสินเชื่อ ส่วนระยะต่อไปจะมุ่งเน้นเรื่องการบริหารจัดการความเสี่ยงของ SFI ให้สอดคล้องกับผลิตภัณฑ์ และช่องทางการให้บริการทั้งในปัจจุบันและอนาคต

และ 3.การรักษาเสถียรภาพระบบการชำ ระเงิน โดยเห็นว่า ความสามารถในการเข้าถึงบริการการชำระเงิน ความมั่นคงปลอดภัย และความมีประสิทธิภาพ ซึ่งปัจจุบันระบบการชำระเงินต้องเผชิญกับความท้าทายที่หลากหลาย เช่น การคุกคามทางโลกไซเบอร์ ทำให้ต้องมีแนวทางในการรับมือที่สอดคล้องประสานกันอย่างเป็นระบบ

นายวิรไท ยังกล่าวต่อถึงประเด็นแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ หรือเฟด (FED)ว่า หากตลาดตีความว่าทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ มีแนวโน้มจะปรับขึ้นในลักษณะที่ชะลอลง เงินทุนก็จะไหลกลับมาสู่ประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่มากขึ้น อย่างไรก็ดียังมีปัจจัยอื่นที่ต้องพิจารณาเช่น ความกังวลในเรื่องตราสารการเงินบางประเภท ความกังวลเรื่องสถานะของธนาคารพาณิชย์บางแห่งในยุโรป ซึ่งจะทำให้เงินทุนไหลกลับมาในประเทศที่มีความปลอดภัยมากขึ้น โดยในช่วงที่ผ่านมาจะเห็นว่ามีเงินทุนไหลกลับเข้ามาในประเทศไทย และในภูมิภาคนี้มากขึ้น ดังนั้นการสร้างภูมิคุ้มกัน การบริหารความเสี่ยงจึงเป็นสิ่งจำเป็นของภาคธุรกิจทั้งการค้า และการลงทุนต่างประเทศ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,131 วันที่ 14 - 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559