‘ยุทธ’ ลั่นขึ้นแท่น เจ้าพ่อการพิมพ์

05 ก.ย. 2561 | 09:51 น.
สัมภาษณ์
แม้สัดส่วนรายได้กว่า 60% จะมาจากธุรกิจโรงไฟฟ้า หลังจากที่ บริษัท โรงพิมพ์ตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรือ EPCO ได้เริ่มลงทุนธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับพลังงานทุกประเภทมากกว่า 5 ปี แต่ “ยุทธ ชินสุภัคกุล” ประธานกรรมการ EPCO ยังประกาศเดินหน้าขยายงานด้านการพิมพ์อย่างต่อเนื่อง หลังจากเข้าประมูลซื้อบริษัท ดับบลิวพีเอส จำกัด (WPS) ซึ่งเป็นเจ้าของโรงพิมพ์กลุ่มเดอะเนชั่น

“ยุทธ” เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ผลการดำเนินงานงวดครึ่งปี มีกำไรรวม 204.72 ล้านบาท เป็นการรับรู้จากธุรกิจโรงไฟฟ้า 132 ล้านบาท กลายเป็นว่า รายได้หลักมาจากบริษัทร่วมคิดเป็น 60% แต่ไม่ได้หมายถึงว่า จะทิ้งอันใดอันหนึ่ง จากนี้ไปจะเดินควบคู่กัน โดยโรงพิมพ์จะต้องหารายได้มากขึ้น เนื่องจากแนวโน้มจำนวนโรงพิมพ์จะลดลง จากการลดยอดพิมพ์ของหนังสือพิมพ์และหันมาใช้โรงพิมพ์ร่วมกัน ไม่ว่าจะเครือมติชน บางกอกโพสต์ หรือ ไทยรัฐ เดลินิวส์ ทำให้งานจะไหลมาที่โรงพิมพ์ที่เหลืออยู่มากขึ้น

[caption id="attachment_312970" align="aligncenter" width="270"] ยุทธ ชินสุภัคกุล ยุทธ ชินสุภัคกุล[/caption]

นอกจากนั้นการเข้าประมูลโรงพิมพ์เนชั่น บนพื้นที่ 25 ไร่ ที่บางนา จะทำให้มีพื้นที่มากขึ้น โดยจะโอนงานบางส่วนที่เครื่องพิมพ์เนชั่นไม่สามารถทำได้อย่างนิตยสารมาพิมพ์ที่โรงพิมพ์ตะวันออกแทน แล้วจะขยายงานพิมพ์เป็นโรงกล่องแทน เนื่องจากแนวโน้มการขยายตัวของธุรกิจอี-คอมเมิร์ซที่เพิ่มขึ้นมากจะทำให้มีความต้องการใช้กล่องเพิ่มขึ้นเช่นกัน ขณะเดียวกันยังมีแผนที่ผลิตกล่องที่สามารถปรับตามขนาดสินค้าได้ เพื่อลดพื้นที่ในการขนส่งลง

“การที่เรามีพันธมิตรมากขึ้น อย่างฐานเศรษฐกิจ ทั้งเครือเนชั่น ไม่ว่าจะเป็นกรุงเทพธุรกิจ เดอะเนชั่น และคมชัดลึกต่างก็พิมพ์ที่เรา นอกจากนั้นจะไปคุยกับกลุ่มบีทีเอส ซึ่งเป็นพันธมิตรกับเรา ปัจจุบันเขามีเอกสารแจกฟรีบนรถไฟฟ้าอยู่แล้ว ซึ่งอีก 3 ปี รถไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้นอีกมาก จึงเชื่อว่าจะมียอดพิมพ์เพิ่มขึ้นเช่นกัน และการที่บีทีเอสไปซื้อหุ้นในบริษัท เคอรี่ฯ ซึ่งทำโลจิสติกส์ ก็เป็นโอกาสดีที่เราจะไปคุยเรื่องการผลิตกล่องด้วย เพราะจุดมุ่งหมายผมคือ เจ้าพ่อการพิมพ์”

ส่วนธุรกิจโรงไฟฟ้า ซึ่งเป็นธุรกิจหลักในปัจจุบัน หลังจากช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ได้เข้าลงทุนในพลังงานความร้อนร่วม (Co-generation) ผ่านบริษัท อีสเทอร์น พาวเวอร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ EP จากการเข้าซื้อหุ้นสามัญทั้งทางตรงและทางอ้อมของบริษัท พีพีทีซี จำกัด (PPTC) ในสัดส่วน 49.5% และเข้าซื้อหุ้นสามัญทางอ้อมของบริษัท เอสเอสยูที จำกัด (SSUT) ในสัดส่วน 40% ก็มีแผนจะขยายการลงทุนในต่างประเทศเป็นหลัก โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศ CLMV เนื่องจากประเทศเหล่านี้ยังมีความต้องการใช้ไฟฟ้า ทำให้ได้ราคาขายดีกว่า ขณะที่ประเทศไทยมีกำลังไฟฟ้าเกินความต้องการอยู่ 20% ราคารับซื้อไฟของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ จึงค่อนข้างตํ่า ดังนั้นทิศทางโรงไฟฟ้าจากนี้ไปเป็นการลงทุนในต่างประเทศเป็นหลัก โรงพิมพ์ copy

อย่างไรก็ตาม สัดส่วนรายได้ 11% ของรายได้ทั้งหมดจากการขายไฟให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ (กฟผ.) จะจ่ายให้บริษัทเป็นสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ดังนั้นบริษัทจึงได้กู้เงินเป็นสกุลดอลลาร์เช่นกัน เป็นเงินหลายพันล้านบาท เพื่อให้สอดคล้องกับรายรับ แต่เนื่องจากเงินกู้เป็นเงินก้อนใหญ่ อายุ 18 ปี ต้องบันทึกทั้งจำนวน ขณะที่รายได้รับเป็นรายเดือน ทำให้ต้องรับรู้ผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนของบริษัทร่วมเป็นเงินกว่า 102 ล้านบาท จากกำไรสุทธิงวดครึ่งปีของ EPCO ที่ 158 ล้านบาท

“ถ้าดูจริงๆ กำไรครึ่งปี เราอยู่ที่ 158 ล้านบาท มากกว่าช่วงเดียวกันปีก่อน 20% จากที่มีกำไรสุทธิ 131 ล้านบาท เนื่องจากค่าเงินบาทอ่อนค่าลงมาที่ระดับ 33.33 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ หลังจากประธานาธิบดีสหรัฐฯ นายโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ใช้นโยบายกีดกันการค่ากับจีน แต่เชื่อว่า ไตรมาส 3 สถานการณ์จะดีขึ้น เพราะขณะนี้ค่าเงินได้แข็งขึ้นมาที่ระดับ 31-32 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ และบริษัทได้ซื้อฟอร์เวิร์ดป้องกันความเสี่ยงไว้แล้ว แต่เป็นการซื้อปีต่อปี เนื่องจากหากซื้อทั้งก้อน ต้นทุนจะสูงมาก”

หน้า 18 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับ 3,398 วันที่ 6-8 กันยายน 2561

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว