เชียงใหม่คอนสตรัคชั่น รุกรับเหมาเล็งกวาดงานเพิ่ม4พันล.

07 ก.ย. 2561 | 03:30 น.
“เชียงใหม่คอนสตรัคชั่น” ชี้ภาพรวมเศรษฐกิจยังฝืด วอนรัฐป้อนงานต่อเนื่อง ยันยังใช้ผู้รับเหมาช่วงและเร่งกำหนดสเปกสนองงานรับเหมาให้ทั่วถึงกัน เล็งกวาดแบ็กล็อกเพิ่มอีก 4,000 ล้านบาท พร้อมแตกไลน์จัดสรรที่ดินพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ สะสมที่ดินรองรับอีกราว 500 ไร่

ปัจจุบันโซนภาคเหนือแม้ภาครัฐจะมีแผนพัฒนาโครงการขนาดใหญ่อย่างรถไฟทางคู่เส้นทางเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ หรือรถไฟความเร็วสูงเส้นทางกรุงเทพ-พิษณุโลก-เชียงใหม่ แต่นั่นเป็นเพียงแผนเนื่องจากยังไม่มีการเปิดประมูลเกิดขึ้น ส่งผลให้ภาพรวมงานรับเหมาก่อสร้างในภาคเหนือมีผลกระทบตามไปด้วย เช่นเดียวกับบริษัท เชียงใหม่คอนสตรัคชั่น จำกัด ในฐานะผู้รับเหมาระดับชั้นพิเศษของไทยที่ต้องออกไปรับงานนอกพื้นที่หลายโครงการ

[caption id="attachment_312893" align="aligncenter" width="377"] คะแนน สุภา คะแนน สุภา[/caption]

ทั้งนี้นายคะแนน สุภา ประธานกรรมการ บริษัท เชียงใหม่ คอนสตรัคชั่น จำกัด ให้สัมภาษณ์พิเศษ“ฐานเศรษฐกิจ” ว่าภาพรวมเศรษฐกิจรับเหมาของภาคเหนือยังฝืด  แต่เรายังป้อนงานให้ผู้รับเหมาช่วงเพื่อให้อยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืนแม้ว่าจะมีงานน้อยในช่วงปีที่ผ่านมาและปีนี้ก็ตาม โดยปัจจุบันมีผู้รับเหมาช่วงในทีมประมาณ 10 รายที่ทำงานร่วมกันมาโดยตลอด

ป้องกันความเสี่ยงทางธุรกิจไว้อย่างไร

ปัจจุบันบริษัทมีปริมาณงานในมือ (แบ็กล็อก) ประมาณ 4,000 ล้านบาท และมีเป้าหมายหาเพิ่มอีกราว 4,000 ล้านบาท ประกอบกับได้ตั้งบริษัทลูกที่ลูกชายเข้าไปรับผิดชอบด้านการจัดสรรที่ดิน 50 ไร่พัฒนาโครงการบ้านจัดสรรในโซนถนนวงแหวนรอบนอกด้านที่ 3 คาดว่าปีนี้จะมีรายได้เข้ามาเพิ่มขึ้น

“ช่วงนี้ยังเป็นห่วงธุรกิจบ้านจัดสรรที่มีปริมาณมากจนล้นตลาด จะพบว่ามีป้ายโฆษณาตามสี่แยกละลานตาไปหมด บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่จากส่วนกลางเข้ามาในพื้นที่ครบทั้งหมด ซึ่งบริษัทเชียงใหม่ฯ ยังแบ่งขายที่ดินให้บางส่วนกับรายอื่นไปพัฒนาโครงการ ปัจจุบันยังมีที่ดินที่ซื้อมาจากอดีตนายกรัฐมนตรี (นายบรรหาร ศิลปอาชา) อีกราว 500 ไร่โซนอำเภอแม่ออน แต่ยังไม่มีแผนพัฒนาโครงการต่างๆเกิดขึ้นในช่วงนี้ แต่ที่ดินในเขตเมืองที่พัฒนาเป็นโรงแรมระดับ 4 ดาว “รอยัลล้านนา” ในโซนไนท์บาซาร์ขนาด 270 ห้องปัจจุบันลูกสาวดูแลกิจการและโซนใกล้มหาวิทยาลัยเชียงใหม่อีก 3-4 แปลง”

090861-1927-9-335x503

การลงทุนปีนี้มีสะดุดอย่างไรหรือไม่

ตามแผนการลงทุนในปีนี้นั้นยังไม่สะดุด แต่ได้รอบคอบการรับงานและการลงทุนมากขึ้น โดยการรับงานในเชียงใหม่ยังเป็นอันดับ 1  ซึ่งในโซนภาคเหนือมี  3-4 รายที่จัดเป็นผู้รับเหมาชั้นพิเศษ แต่ละจังหวัดจะแบ่งความรับผิดชอบกันอย่างลงตัว ยกเว้นงานขนาดใหญ่ภาครัฐที่เกิดขึ้นในต่างจังหวัดจะชวนกันเข้าไปร่วมประมูลด้วย

โดยปัจจุบันผลกระทบแรงงานยังไม่มี การลงทุนด้านเครื่องจักรยังมีต่อเนื่อง มีผลกระทบบ้างทางธุรกิจในเครือตามสภาวะทางเศรษฐกิจ แต่บริษัทยังมีโรงโม่หินทั้งใช้งานเองและป้อนออกขายให้กับผู้รับเหมาทั่วไป ดังนั้นจึงสามารถบริหารจัดการวัสดุได้อย่างลงตัว ราคาขายส่วนใหญ่ยังพิจารณาตามโซนพื้นที่นั้นๆ เป็นหลัก

สำหรับงานในปี 2562-2563 คาดว่าจะมีงานโครงการขนาดใหญ่เกิดขึ้นอีกหลายโครงการในโซนภาคเหนือ อาทิ รถไฟทางคู่ เส้นทางช่วงเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ซึ่งในเรื่องนี้ได้เคยนำเสนอนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ไปแล้วว่าควรกำหนดในรายละเอียดว่างานบางโครงการควรจะให้ผู้รับเหมาในพื้นที่มีส่วนดำเนินการ ไม่ควรกำหนดเฉพาะ 5-6 ผู้รับเหมาจากส่วนกลางเท่านั้น

“รัฐบาลโดยกระทรวงคมนาคมควรกำหนดรายละเอียดในทีโออาร์ให้กระจายงานไปสู่ผู้รับเหมาระดับชั้นต่างๆ ในพื้นที่ได้รับไปดำเนินการเพื่อให้สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ มูลค่างานจำนวนมากน่าจะสามารถใช้ในการขับเคลื่อนธุรกิจของแต่ละรายต่อไปได้อีกหลายปี กระตุ้นเศรษฐกิจให้เกิดการหมุนเวียนได้ตามที่รัฐบาลต้องการ ทั้งกรณีการประมูลงานดิน งานหิน งานวางราง งานไม้หมอน เป็นต้น โดยกำหนดรายละเอียดหรือสเปกสอดคล้องกับมูลค่างานที่กลุ่มผู้รับเหมาแต่ละระดับชั้นสามารถรับงานไปดำเนินการได้”

หน้า 29 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับ 3,398 วันที่ 6-8 กันยายน 2561 23626556