ปั้นมิกซ์ยูส‘ดินแดง’ทุบ72ตึกทำเลไข่แดงเนรมิตเมืองใหม่ขึ้นตึกสูงรับสายสีส้ม

05 ก.ย. 2561 | 10:00 น.
กคช.  ปิดตำนานแฟลตดินแดง เนรมิตเมืองใหม่   ลุยทุบ 72 ตึกทำเลไข่แดงดันที่พุ่ง รับสายสีส้ม ดีเดย์ต.ค เริ่มทุบ 5 อาคาร  สร้างเฟส 2  ขณะเฟส 3  ร่วมพัฒนากับเอกชน 3 หมื่นล้าน เผยโมเดลมิกซ์ยูสเนื้อหอม  เอกชนไทย-เทศ สน

ตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ.2560-2579) การเคหะแห่งชาติ (กคช.) มีบทบาทหน้าที่พัฒนาที่อยู่อาศัยรองรับประชาชนที่ไม่มีกรรมสิทธิ์ด้านที่อยู่อาศัย ประมาณ 2.27 ล้านครัวเรือน ตั้งเป้าภายในปี 2565 ช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยให้มีบ้าน รวม 3.5 แสนหน่วย เฉลี่ย 6-7 หมื่นหน่วยต่อปี ก่อนเพิ่มการพัฒนาในช่วงถัดไปเฉลี่ย 1 แสนหน่วยต่อไปจนครบและโครงการฟื้นฟูแฟลตดินแดง  หนื่งในโครงการยกระดับคุณภาพชีวิตชุมชน ให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นและเพิ่มศักยภาพที่ดินให้เกิดประโยชน์สูงสุด  หลังจากอาคารพักอาศัยเฟสแรก แปลง G จำนวน 334 หน่วย ก่อสร้างแล้วเสร็จ ผู้อาศัยเดิมในอาคารแฟลตที่ 18-22 ทยอยเข้าอยู่อาศัยเรียบร้อยแล้ว  ภายในเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน  2561 จะเริ่มทุบอาคารเก่าออกและสร้างเป็นอาคารขนาดใหญ่อีก 2 อาคารขึ้นแทนที่  รองรับผู้อยู่อาศัยเดิมที่เหลือส่งผลต่อทำเลไข่แดงมีมูลค่าเพิ่มขึ้นอีกทั้งยังเชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีส้ม (ตะวันตก) ช่วง ศูนย์วัฒนธรรมฯ-บางขุนนนท์-ตลิ่งชัน ที่จะมีสถานีรองรับอยู่บริเวณหน้าศาลาว่าการกรุงเทพ มหานครหลังใหม่ MP29-3398-A

นายธัชพล กาญจนกูล ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ (กคช.) เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า  รอคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติ พัฒนาเฟส 2 และ 3 โครงการฟื้นฟูแฟลตดินแดง (ผู้อยู่อาศัยเดิม) โดยทุบอาคารเก่าจำนวน 5 อาคาร ซึ่งเป็นตึกแปลงเอ (18-19-20 ) และแปลงบี (21-22)      ส่วนเฟส 3-4  (ผู้อยู่อาศัยภายนอก) จะใช้วิธีร่วมทุนเอกชน หรือรูปแบบให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (PPP) กคช.ไม่ต้องรองบประมาณสนับสนุนจากภาครัฐเป็นหลัก และเสนอขอร่นระยะเวลาพัฒนาจากเดิม 8 ปีเหลือ 3 ปี ซึ่งครม.จะพิจารณาอีกรอบ   ขณะกระแสตอบรับพบว่า มีเอกชนสนใจเสนอตัวเข้าร่วมลงทุนเป็นจำนวนมาก

สำหรับการเตรียมความพร้อม ขณะนี้อยู่ระหว่างพิจารณารายละเอียดและขั้นตอนการเปิดประมูล และจะทุบอาคารเก่ากว่า 60 อาคาร

ส่วนรูปแบบจะมีอาคารเชิงพาณิชย์และอื่นๆ ให้เช่า ในลักษณะคล้ายโครงการมิกซ์ยูสทั่วไป ขณะที่ราคาของโซนที่อยู่อาศัยอาจสูงขึ้นจากเดิมเล็กน้อย แต่อย่างไรก็ตาม ยังมีหน่วยราคาถูกรองรับผู้มีรายได้น้อยตามวัตถุประสงค์ของโครงการตามเดิม เช่นเดียวกับการอยู่ระหว่างทบทวนเร่งรัดแผนงาน เพื่อให้ประชาชนเข้าพักอาศัยได้เร็วขึ้น

“ตอนนี้ เท่าที่สำรวจมา เอกชนอยากร่วมกับเราเยอะมาก  ไม่ว่าจะเป็นรายในประเทศหรือต่างประเทศ ต้นปี 2562 จะเคาะได้ ส่วนมูลค่าโครงการที่จะเกิดขึ้น คงไม่ตํ่ากว่า 3 หมื่นล้านบาท  และอาจจะมากกว่านั้น ขึ้นอยู่กับการลงทุนของเอกชน นับรวมพื้นที่การค้าที่จะเป็นส่วนหารายได้เพิ่ม เพื่อชดเชยสิ่งที่เขาพัฒนาให้ผู้มีรายได้น้อย เช่น คอมมิว นิตีมอลล์ หรือ ร.พ. โดยโครงการแฟลตดินแดง จะเป็นโครงการ 1 ใน 3 ของโครงการร่วมลงทุนกับเอกชน (หนองหอย, ร่มเกล้า) ที่ต้องนำเข้าให้ที่ประชุม ครม.อนุมัติ”

taspol

ทั้งนี้ หากพัฒนาเป็นเมืองดินแดง แล้วจะเพิ่มมูลค่าที่ดินสูงหลายเท่า เนื่องจากเป็นทำเลไข่แดงกลางเมือง และมีรถไฟฟ้าสายสีส้มผ่าน ซึ่งสถานีอยู่บริเวณด้านหน้า ผู้อาศัยเดินไม่กี่ก้าว ก็เชื่อมถึงสถานีเข้าเมืองได้สะดวก

อย่างไรก็ดีก่อนหน้านี้ปี 2550 สถาบันเทคโนโลยี แห่งเอเซีย หรือเอไอที ได้ศึกษากรณีแฟลตดินแดงพบว่า มีอาคารเสี่ยงอันตรายต้องเร่งฟื้นฟูคือ อาคาร 1-32 เกือบ 2,000 หน่วย หรือโซนเอ โซนอีโซนดี ซึ่งโซนเอ พัฒนาก่อน ด้านถนนจตุรทิศตึก 9-20 จำนวน 12 อาคาร 672 หน่วย ซึ่งจะพัฒนา 6 อาคารสูง 28 ชั้น 4,000 หน่วย ตามด้วยโซนอี ตึก 1-8 จำนวน 640 หน่วย พัฒนาที่อยู่อาศัยบริเวณติดกับถนนดินแดงตรงข้ามโรงเรียนพิบูลประชาสรรค์ โซนดี ตึก 21-32 จำนวน 672 หน่วย 12 อาคาร พัฒนาศูนย์การค้า ฯลฯ

นายธัชพล ยังกล่าวถึงแผนโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยตามแนวรถไฟฟ้าเกิดใหม่ในเขตกรุงเทพฯ-ปริมณฑล ว่า ขณะนี้ กคช.มีโครงการใหม่ที่อยู่ในเส้นทางรถไฟฟ้ารวม 2 โครงการ คือ ประชานิเวศน์, ลำลูกกา รวม 1 พันหน่วย และอยู่ระหว่างการรอความชัดเจน เพื่อเข้าพัฒนาในพื้นที่ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) อีก 2 แปลง ขณะที่มีเอกชนเสนอที่ดินให้อีกหลายรายในลักษณะร่วมทุน ซึ่งกำลังศึกษาถึงศักยภาพของพื้นที่ว่าคุ้มค่าในการลงทุนหรือไม่ เพื่อให้สอดคล้องตามแผนพัฒนาตามแนวรถไฟฟ้า 3 พันหน่วยต่อปี หลังจากที่ผ่านมามักมีปัญหาหาที่ดินไม่ได้

พร้อมระบุว่าในแต่ละปี กคช. มีโครงการที่ร่วมพัฒนากับเอกชนปีละประมาณ 30-40 โครงการทั่วประเทศ แต่มีแผนเพิ่มอีกเท่าตัวในอนาคต เฉลี่ยเกือบ 100 โครงการต่อปี ซึ่งหากสถาบันการเงินตอบรับ ก็จะทำให้การเปิดตัวแต่ละโครงการดำเนินการได้รวดเร็วขึ้น

หน้า 29 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับ 3,398 วันที่ 6-8 กันยายน 2561

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว