บตท.เดินหน้าซื้อหนี้บ้าน ออกหุ้นกู้ Securitization ตั้งเป้าปีนี้4พันล้าน

08 ก.ย. 2561 | 03:00 น.
บตท.เดินสายคุย บค.-การเคหะฯ เจรจาซื้อสินเชื่อบ้าน มาหนุนหลังออกหุ้นกู้ ลั่น 4 พันล้านปีนี้ หลังจัดระบบภายในให้สอดรับเกณฑ์กำกับธปท.เสร็จ แจงมีความมั่นคง ผลตอบแทนสูง แต่ยังมีปริมาณน้อย ไม่ถึงมือรายย่อย เหตุยังซับซ้อนในการลงทุน

ช่วงหลายปีที่ผ่านมา ตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชนเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีการออกหุ้นกู้ประเภทใหม่ๆ ที่มีความหลากหลายมากขึ้น ซึ่งหุ้นกู้ Securitization เป็นหุ้นกู้อีกประเภทที่น่าสนใจ เพราะมีความมั่นคงและให้ผลตอบแทนสูง ซึ่งปัจจุบัน บรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย (บตท.)ถือเป็นผู้มีบทบาทหลักในการทำ Securitization

นางวสุกานต์ วิศาลสวัสดิ์ กรรมการและผู้จัดการ บตท.เปิดเผยว่า พันธกิจหลักของบตท.คือ การทำ Securitization แต่เฉพาะเจาะจงเฉพาะสินเชื่อที่อยู่อาศัย ซึ่งขณะนี้กำลังคุยกับคู่ค้าอื่นๆ ทั้งบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ฯ(บค.) การเคหะแห่งชาติ(กคช.)หรือผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ เพื่อไปซื้อสินเชื่อที่อยู่อาศัยมาเป็นหลักประกันในการออกตราสารหนี้เสนอขายให้กับนักลงทุน จากเดิมที่จะเป็นการซื้อสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์เป็นหลัก โดยปีนี้ตั้งเป้าทั้งปีที่ 4,000 ล้านบาท

MP19-3398-A

“เราจะซื้อสินเชื่อที่อยู่อาศัยที่ยังเป็นหนี้ดี แล้วนำมาเป็นสินทรัพย์หนุนหลังในการออกตราสารหนี้ ซึ่งปีนี้เราเริ่มซื้อได้ 100กว่าล้านบาทไม่มากนัก เนื่องจากธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ได้มากำกับดูแลตั้งแต่ 1 มกราคม 2560 จึงเป็นช่วงปรับกระบวนการทำงานภายใน ประกอบมีสินเชื่อที่ซื้อมาตั้งแต่ปีก่อนที่โตเร็วมาก จึงพยายามทำให้สอดคล้องกับเกณฑ์ของธปท.แต่ขณะนี้เราก็เริ่มเดินสายคุยกับคู่ค้าที่ต้องการแหล่งทุนระยะยาวไปใช้ในการทำธุรกิจ”

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันตราสารหนี้ประเภทที่เป็น Securitization ยังถือว่า มีน้อย ทำให้มีปัญหาเรื่องสภาพคล่องและยังไม่สะท้อนความต้องการที่แท้จริง ทำให้อัตราดอกเบี้ยยังอยู่ในระดับสูง ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับนักลงทุน ขณะเดียวกันยังเป็นตราสารหนี้ที่มีความมั่นคงมาก เพราะมีสินทรัพย์หนุนหลัง และยังรับประกันผลตอบแทนจากการลงทุนด้วย เพียงแต่ปัจจุบันตราสารประเภทนี้ยังไม่ถูกกระจายไปถึงมือนักลงทุนรายย่อย เพราะมีความซับซ้อนโดยยังเป็นการเสนอขายให้กับนักลงทุนโดยเฉพาะเจาะจง (พีพี)

090861-1927-9-335x503

เนื่องจาก Securitization จะเป็นการซื้อพอร์ตสินเชื่อที่อยู่อาศัยจากธนาคารพาณิชย์หรือคู่ค้าอื่นๆ และโอนไปยัง SPV หรือนิติบุคคลเฉพาะกิจที่บตท. จัดตั้งขึ้นเพื่อแยกความเสี่ยงของกองสินทรัพย์ออกจากความเสี่ยงของ บตท. และของเจ้าหนี้เดิม SPV จะเป็นผู้ออกหุ้นกู้ที่หนุนหลัง โดยกระแสรายรับจากกองสินเชื่อที่อยู่อาศัยนั้น

“แม้ตราสารประเภทนี้ยังมีปริมาณน้อย แต่คิดว่า ในอนาคตจะค่อยๆ ดีขึ้นเรื่อยๆ และจะทำให้อัตราดอกเบี้ยสะท้อนผลตอบแทนที่เป็นจริง เพราะเราเองถือว่า เป็นหน่วยงานรัฐ ยิ่งความเสี่ยงองค์กรอยู่ในระดับตํ่า อัตราดอกเบี้ยตราสารก็ควรจะถูก แต่ปัจจุบันยังอยู่ในระดับสูง”

ทั้งนี้ บตท.มียอดคงค้างของการออกตราสารหนี้ หรือ mortgage-backed security (MBS) ประมาณ 13,000 ล้านบาท และมีขายพันธบัตรของบตท.อีก 5,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นการระดมทุน เพื่อนำเงินมาใช้ในการบริหารงาน ในระหว่างที่ยังไม่สามารถออกหุ้นกู้ Securitization ได้

หน้า 19 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,398 วันที่ 6-8 ก.ย. 2561

23626556