‘ตู้บุญเติม’รุกหนัก 3 แพลตฟอร์ม

06 ก.ย. 2561 | 05:11 น.
ปั้นช่องทางเป็นเซเว่นฯ เคลื่อนที่

กำลังกลายเป็นคำถามว่า “ตู้เติมเงินมือถือ” จะอยู่ได้ต่อไปหรือไม่ หลังการไหลบ่าของโมบายแบงกิ้ง ที่สามารถโอนเงิน-เติมเงิน ผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ และเมื่อพลิกดูตัวเลขปริมาณการใช้งาน ปรากฏว่าธนาคารแห่งประเทศไทยได้รายงานบัญชีที่ใช้บริการเมื่อเดือนมีนาคม 2561 อยู่ที่จำนวน 4,503,696 บัญชี

“ฐานเศรษฐกิจ” สัมภาษณ์นายณรงค์ศักดิ์ เลิศทรัพย์ทวี กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟอร์ท สมาร์ท เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) ผู้ให้บริการตู้เติมเงินมือถือ เกี่ยวกับแผนรับมือ

 

[caption id="attachment_312261" align="aligncenter" width="305"] ณรงค์ศักดิ์ เลิศทรัพย์ทวี ณรงค์ศักดิ์ เลิศทรัพย์ทวี[/caption]

ผลกระทบโมบายแอพ

ถ้าดูภาพรวมของประเทศมีประชากร 70 ล้านคน กลุ่มคนที่มีเงินฝากอยู่ที่ 20-30 ล้านคน ที่เหลือครึ่งประเทศซึ่งเป็นกลุ่มรากหญ้าไม่มีบัญชีเงินฝากมีรายได้ต่อวันอยู่ที่ 300 บาท เพราะฉะนั้นกลุ่มที่มีบัญชีเงินฝากจะใช้แอพพลิเคชัน ซึ่งเป็นกลุ่มโพสต์เพด ส่วนกลุ่มรากหญ้าจะใช้ระบบเติมเงินซึ่งมีจำนวนมากกว่ากลุ่มที่มีบัญชีเงินฝาก

แม้ธนาคารจะยกค่าธรรมเนียมในธุรกรรมการเงินของโมบายแบงกิ้ง แต่ก็ไม่ได้มีผลกระทบต่อผลการดำเนินงานของบริษัทแต่อย่างใด เนื่องจากกลุ่มลูกค้าเป้าหมายหลักของบริษัท และกลุ่มธนาคารแตกต่างกัน โดยลูกค้าของตู้บุญเติมจะเป็นระดับรากหญ้า
ปรับยุทธศาสตร์อย่างไร

ได้วางยุทธศาสตร์สู่ 3 แพลตฟอร์มใหม่ คือ 1.พัฒนาตู้บุญเติมให้เป็นตู้อัจฉริยะ พร้อมรุก 2 ธุรกิจใหม่ ได้แก่ บริการขายซิมโทรศัพท์หน้าตู้ โดยลูกค้าสามารถเลือกเบอร์ เลือกค่ายและลงทะเบียนผ่านหน้าตู้ โดยช่วงต้นจำหน่าย “ซิม” ของ เอไอเอส ในเบื้องต้นและจะเปิดทดลองตู้แรกปลายปีนี้ บริษัทพร้อมมีแผนปรับปรุงระบบภายในไตรมาส 1-2 ของปี 2562 และ บริการ Electronic Know Your Customer (e-KYC)ซึ่งเป็นการนำอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ในขั้นตอนการแสดงตน/ระบุตัวตน (Identification) และการตรวจสอบข้อมูลการแสดงตน (Verification) เพื่อรองรับการเปิดบัญชีเงินฝากอิเล็กทรอนิกส์และลงทะเบียนซิม

ส่วนแพลตฟอร์มที่ 2 ขยายกลุ่มลูกค้าใหม่ บริษัทมุ่งเน้นที่จะขยายกลุ่มลูกค้าใหม่ ในรูปแบบแอพพลิเคชันกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์บนมือถือ (E-wallet) ภายใต้ชื่อ “BeWallet” โดยเปิดให้บริการกว่า 2 ปีมีเป้าหมายผู้ใช้บริการ ไม่ตํ่ากว่า 200,000 ราย แต่ใช้งานจริงจำนวน 7 หมื่นราย ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มการต่อยอดธุรกิจใหม่ของกลุ่มลูกค้าที่สนใจในเทคโนโลยีและมีรายได้ประจำ ซึ่งแนวโน้มการใช้สมาร์ทโฟนมีการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่วนการบริการในรูปแบบดังกล่าวจะมีบริการทุกอย่างที่ตู้เติมเงินมี และจะมีบริการบางประเภทที่เพิ่มเติมขึ้นมาด้วย เพื่อรองรับการดำเนินธุรกิจการเป็นตลาดกลางในการซื้อขายออนไลน์

แพลตฟอร์มสุดท้าย คือ การซื้อขายออนไลน์ในรูปแบบ (e-Marketplace) ภายใต้ชื่อ “BeMall” และรองรับการขยายตัวของธุรกิจที่เกี่ยวกับพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์(e-Commerce) โดยชำระค่าบริการผ่านแอพพลิ เคชันกระเป๋าเงิน

MP20-3398-1 อิเล็กทรอนิกส์บนมือถือที่รองรับการใช้งานทั้งระบบ iOS และ Android และยังสามารถใช้ชำระเงินเมื่อซื้อสินค้าจากตู้กดเครื่องดื่มอัตโนมัติ (Vending Machine) ได้อีกด้วย ในขณะเดียวกัน การขยายกลุ่มลูกค้าใหม่ ในรูปแบบแอพพลิเคชัน กระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์บนมือถือจะเป็นการเรียนรู้พฤติกรรมของกลุ่มลูกค้าไร้เงินสด (Cashless) และผู้ที่ชื่นชอบเทคโนโลยี ซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าคนละกลุ่มกับตู้บุญเติม
เป้าหมาย

ตู้บุญเติมจะเจาะกลุ่มฐานใหญ่ของตลาดผู้ใช้เงินสดและไม่ชื่นชอบเทคโนโลยี ส่วน Be-Wallet จะเจาะกลุ่มลูกค้าที่มีรายได้ประจำและใช้เทคโนโลยีในการอำนวยความสะดวกในการใช้จ่ายและชำระเงิน ซึ่งจะช่วยขยายฐานลูกค้าและสร้างความเชื่อมโยงของระบบนิเวศเพื่อให้บริการกับลูกค้า
สัดส่วนการเติมเงิน

เติมเงินผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ มียอดเป็นอันดับ 1 คือ 75%, โอนเงิน อยู่ที่ 17%, เติมผ่านกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ หรือ Be-Wallet จำนวน 4-5% และ ชำระค่าบิลต่างๆ จำนวน 4-5%
ไม่หยุดแค่ตู้เติมเงิน

ใช่ แล้ว FSMART จะไม่หยุดในการพัฒนาตู้เติมเงิน เพราะตอนนี้บริษัทได้พัฒนาไปสู่บริการใหม่ เพราะจำนวน “ตู้บุญเติม” มีจำนวน 1.3 แสนตู้ครอบคลุมทั่วประเทศแล้วยังติดตั้งและให้บริการในระดับอำเภอ และตำบล

“อย่าจำกัดความว่าเราให้บริการตู้เติมเงินเท่านั้น ตอนนี้บริษัทได้พัฒนาบริการเพิ่มเติมทั้งขายนํ้า-ขนมขบเขี้ยว-รับโอนเงิน-รับชำระค่าบริการ เรามีช่องทางเหมือน 7-11 เคลื่อนที่กระจายเข้าถึงหมู่บ้าน”

หน้า 20 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3,398 ระหว่างวันที่ 6-8 กันยายน 2561

23626556