ผู้เลี้ยงกุ้งเมินขายหมื่นตัน

05 ก.ย. 2561 | 05:27 น.
ผู้เลี้ยงกุ้งหน้าใส ราคาพุ่งต่อเนื่อง เมินขายเข้าโครงการรักษาเสถียรภาพราคา 1 หมื่นตัน ชี้ผลพวงผลผลิตมีน้อย บริโภคในประเทศเพิ่ม จีนนำเข้าพุ่ง 100% ข้างห้องเย็นเดือดร้อนหนักขาดแคลนวัตถุดิบ จี้กรมประมงเร่งออกหลักเกณฑ์นำเข้ากุ้งอินเดีย 5 หมื่นตัน

นายบรรจง นิสภวาณิชย์ ประธานสมาพันธ์เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งไทย เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ขณะนี้ราคากุ้งที่เกษตรกรขายได้ปรับตัวสูงขึ้นเป็นที่น่าพอใจ มีปัจจัยจากผลผลิตกุ้งในประเทศต่อเดือนมีไม่มาก คาดปีนี้ไทยจะมีผลผลิตกุ้งระหว่าง 2.9-3 แสนตัน (จากปีที่แล้วมีผลผลิตประมาณ 3 แสนตัน และปีนี้ตั้งเป้าผลผลิต 3.3 แสนตัน) ขณะที่ความต้องการบริโภคกุ้งในประเทศมีเพิ่มขึ้นมาก อีกด้านหนึ่งมีผู้ประกอบการจากจีนมาสั่งซื้อกุ้งสดและกุ้งต้มแช่แข็งจากไทยเพื่อไปบริโภคในจีนเพิ่มขึ้น เนื่องจากเวลานี้จีนได้ลดการเลี้ยงกุ้งในประเทศ เพื่อนำที่ดินไปพัฒนาด้านอื่นที่ให้ผลตอบแทนดีกว่า คาดในปีนี้จีนจะนำเข้ากุ้งจากไทยเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาเป็นกว่า 100%

ขณะที่ผลพวงราคากุ้งที่ดีดังกล่าว ส่งผลให้เกษตรกรไม่สนใจนำกุ้งที่ผลิตได้ไปขายให้กับโครงการประชารัฐรักษาเสถียรภาพราคากุ้งขาวแวนนาไมปี 2561 ที่สมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย(กลุ่มห้องเย็น) จะรับซื้อกุ้งในราคานำตลาดจากเกษตรกรที่จับคู่กับโรงงานเป้าหมาย 1 หมื่นตัน (ระยะเวลาซื้อขายตามโครงการระหว่าง 25 พ.ค.-23 ก.ค. 61) แต่จากราคาตลาดข้างนอกที่ดีกว่าขายให้กับโครงการ ส่งผลให้เกษตรกรไม่สนใจนำกุ้งไปขายให้กับโครงการ ที่มีเงื่อนไขกุ้งที่จะขายให้ต้องได้ขนาดหรือไซซ์ตามที่ห้องเย็นกำหนดด้วย

“ช่วงต้นปีราคากุ้งตกตํ่าแต่พอเริ่มโครงการประชารัฐรักษาเสถียรภาพราคากุ้งฯ ราคากลับดีขึ้น ช่วงแรกเกษตรกรก็ขายให้กับห้องเย็นบ้าง แต่พอราคาตลาดข้างนอกดีกว่าก็มีทางเลือกไม่ขายให้กับโครงการ ซึ่งจากโครงการที่ปิดไปแล้วมีเกษตรกรนำกุ้งมาขายให้เพียงหลักร้อยตัน อย่างไรก็ดีทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ระบุว่าหากหลังจากนี้ราคากุ้งกลับมาตกตํ่าอีกก็ให้ทำโครงการนี้ต่อ”

จากการตรวจสอบของผู้สื่อข่าวถึงราคากุ้งในโครงการประชารัฐรักษาเสถียรภาพราคากุ้งขาวแวนนาไมปี 2561 ตัวอย่างกุ้งขนาด 40, 50, 60 ตัวต่อกิโลกรัม (กก.) ราคารับซื้อหน้าฟาร์มอยู่ที่ 170, 160 และ 145 บาท/กก.ตามลำดับ (ดูกราฟิกประกอบ) ซึ่งปัจจุบัน (ณ วันที่ 3 ก.ย. 61) กุ้งไซซ์ข้างต้นราคารับซื้อที่ตลาดทะเลไทย จ.สมุทรสาครอยู่ที่ 175, 170 และ 155 บาท/กก. หรือราคาต่างกัน 5-10 บาท/กก. จากราคากุ้งที่ดีทำให้เวลานี้เกษตรกรได้ลงกุ้งเลี้ยงเพิ่มจำนวนมาก โดยเฉพาะในภาคใต้ตอนบน และฝั่งอันดามัน คาดจะทำให้ผลิตกุ้งช่วง 4 เดือนนับจากนี้จะมีเพิ่มขึ้น ขณะโซนภาคตะวันออกเมื่อเข้าช่วงหน้าหนาว (พ.ย.-ธ.ค.)จะเลี้ยงกุ้งลดลงเพราะมีความเสี่ยงเรื่องโรคตัวแดงดวงขาว TP7-3398-A
ด้านแหล่งข่าวจากห้องเย็นกล่าวว่า จากผลผลิตกุ้งในประเทศที่มีไม่เพียงพอกับความต้องการของห้องเย็นเพื่อแปรรูปส่งออก ขอให้ทางกรมประมงได้เร่งพิจารณา และออกหลักเกณฑ์ ขั้นตอน การรับรองการนำเข้ากุ้งจากอินเดียที่ทางสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทยเคยขอไว้ที่ 5 หมื่นตันเมื่อช่วงต้นปีโดยเร่งด่วน เพราะจากความกังวลของเกษตรกรที่เกรงจะนำโรคกล้ามเนื้อตายจากการติดเชื้อ (IMNV) เข้ามาระบาด ทำให้ยังไม่สามารถนำเข้ากุ้งจากอินเดียเข้ามาได้จนถึง ณ เวลานี้
“การขาดแคลนกุ้ง และกุ้งในประเทศก็มีราคาแพง แย่งซื้อก็ยาก ส่วนนำเข้าก็ยังติดปัญหา ส่งออกก็มีการแข่งขันสูงอีก ธุรกิจห้องเย็นปีนี้ไม่สดใส(ปีที่แล้วไทยส่งออกกุ้งสดแช่เย็นแช่แข็งและแปรรูป ปริมาณ 2.04 แสนตันเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 9.2% มูลค่า 6.85 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 11.3% ส่วนช่วง 6 เดือนแรกปีนี้ส่งออกแล้ว 7.91 หมื่นตัน มูลค่า 2.49 หมื่นล้านบาท ลดลง 17% และ 13% ตามลำดับเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน) ดังนั้นจึงขอให้ทุกฝ่ายเห็นใจด้วย

หน้า 7 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับ 3,398 วันที่ 6-8 กันยายน 2561

e-book-1-503x62-7