ทายาทใบหยกกรุ๊ป โชว์วิชัน

06 ก.ย. 2561 | 03:21 น.
การตลาดและคุณภาพ คือหัวใจของธุรกิจ

ในฐานะทายาทคนโตของ พันธ์เลิศ ใบหยก ประธานใหญ่ใบหยกกรุ๊ป ย่านประตูนํ้า กรุงเทพฯ“คุณเบียร์ - ปิยะเลิศ  ใบหยก” ได้ก้าวเข้ามาทำหน้าที่บริหารธุรกิจร่วมกับคุณพ่อ ตั้งแต่อายุ 24 ปี ในตำแหน่งรองประธานกลุ่มใบหยก โดยถูกมอบหมายให้ดูแลการตลาดของตึกใบหยก สกาย หรือ ใบหยก 2 ตามความถนัดและความชอบ หลังเรียนจบปริญญาโทด้านมาร์เก็ตติ้ง มาจากประเทศอังกฤษ และจบปริญญาตรีด้านครุศาสตร์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

“ส่วนใหญ่ผมจะเน้นทำมาร์เก็ตติ้ง เพราะเป็นความชอบ ผมชอบด้านการตลาดมาตั้งแต่เด็ก เพราะของทุกอย่างต้องมีมาร์เก็ตติ้ง และได้สัมผัสการทำงานกับคุณพ่อมาตั้งแต่เด็กๆ พ่อไปทำงานก็ตามคุณพ่อไปด้วย”

BB4A9213

ขณะที่ช่วยคุณพ่อบริหารธุรกิจโรงแรม “คุณเบียร์” ก็ผุดอีกหนึ่งธุรกิจที่ถือเป็นความชอบส่วนตัว นั่นคือ ธุรกิจอาหารญี่ปุ่น ด้วยการนำเข้าแบรนด์ร้านอาหารญี่ปุ่น เข้ามาเปิดในประเทศไทย และสร้างแบรนด์ร้านอาหารญี่ปุ่นขึ้นเอง ภายใต้บริษัท พีดีเอส โฮลดิ้ง จำกัด ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งธุรกิจในเครือใบหยก จนปัจจุบันมีอยู่ทั้งหมด 7 แบรนด์ เป็นแบรนด์นำเข้า 4 แบรนด์ และแบรนด์ที่ทำเองอีก 3 แบรนด์ และปีหน้าจะนำเข้าอีก 2 แบรนด์ เป็นแบรนด์ ชาบู ชาบู 1 และของหวาน 1 และในอีก 2 ปี เขาจะนำบริษัทนี้เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ MAI โดยระหว่างนี้เป็นช่วงเตรียมความพร้อม จัดโครงสร้างบริษัท

จากการทำธุรกิจร้านอาหาร ที่มีคนต่อคิวยาว จนล้นออกมานอกประตู ทั้งร้าน Pablo ชีสทาร์ต ที่ทำยอดขายได้ถึงวันละ 1 ล้านบาท และร้านที่เพิ่งเปิดล่าสุด คือ Gram แพนเค้ก คาเฟ่ ที่สยามพารากอน ที่ยังมีลูกค้าต่อคิวยาว
ทุกวัน หลายคนมองว่า นั่นคือความสำเร็จ แต่สำหรับนักบริหารคนนี้ เขามองว่า มันคือความสำเร็จในระดับหนึ่งเท่านั้น ร้านเหล่านี้จะอยู่ในกระแสแค่ช่วงเวลาหนึ่ง แต่หลังจากนั้น จะทำอย่างไรให้ร้านอาหารเหล่านี้สามารถอยู่รอดได้ นั่นคือสิ่งที่เขาให้ความสำคัญ

“คุณเบียร์” เล่าว่า จุดเริ่มต้นของการทำธุรกิจอาหาร เริ่มจากการทำแบรนด์เนื้อย่างประสบความสำเร็จ หลังจากมีคนมาขอซื้อต่อไปด้วยมูลค่าที่สูงขึ้นถึง 10 เท่า ทำให้เขารู้สึกชะล่าใจ และใจร้อนที่จะลงทุนต่อ โดยไม่ได้คิดให้ดีก่อน
ในที่สุดก็พลาด หลังจากนั้นเลยเริ่มกลัว ก่อนจะลงทุนทุกครั้งจะคิดอย่างละเอียดและระมัดระวังมากขึ้น แต่ไม่ใช่กลัวจนไม่กล้าจะทำอะไรต่อ เพราะเขารู้ว่าการทำธุรกิจมันมีความเสี่ยงอยู่แล้ว ไม่มีอะไรที่ 100%

ช่วงนี้ “คุณเบียร์” ค่อนข้างให้นํ้าหนักกับธุรกิจอาหารมากเป็นพิเศษ เพราะอยู่ในช่วงจัดทัพ และขยายตัว แต่ในระยะยาวธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ยังเป็นธุรกิจหลักที่ต้องให้ความใส่ใจ ซึ่งต่อไปกลุ่มใบหยกจะไม่โฟกัสตัวเองอยู่แค่ธุรกิจโรงแรม แต่จะขยายไปในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์อื่นๆ อาทิ คอมมิวนิตีมอลล์ ออฟฟิศบิวดิ้ง ซึ่งขณะนี้เขากำลังหาทำเลที่เหมาะสมในการขยายการลงทุน

ส่วนของธุรกิจโรงแรม ถือว่าแบรนด์ของใบหยก เป็นที่รู้จักในตลาดอยู่แล้ว สิ่งที่ทำคือรักษาระดับคุณภาพและบริการ พร้อมมองหาตลาดใหม่ๆ ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญของทั้งธุรกิจโรงแรมและอาหาร

ณ เวลานี้ ธุรกิจโรงแรมถูกดิสรัปต์ด้วยเทคโนโลยีและการเปลี่ยนแปลงในยุคดิจิตอล ขณะเดียวกันคู่แข่งในตลาดก็เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ สิ่งที่ต้องเร่งทำ คือ การปรับตัวเองและเปลี่ยนแปลงให้ทันกับกระแสโลก ต้องให้ความสำคัญกับตลาดดิจิตอลออนไลน์มากขึ้น รวมทั้งการสร้างจุดขายใหม่ๆ เช่นการ
นำเรื่องของอาหารมาเป็นจุดขาย อย่างใบหยกสร้างกระแส ทุเรียนบุฟเฟ่ต์ หรือโรงแรมที่สะพานหัวช้าง จะเน้นอาหารไทย บุฟเฟ่ต์ข้าวแช่ ซึ่งถือว่าประสบความสำเร็จมาก สามารถดึงลูกค้าใหม่ๆ ได้ทั้งไทยและต่างชาติ

ส่วนธุรกิจอาหาร ปีหน้า เขาจะเปิดร้าน Gran สาขาใหม่ที่เป็นสแตนด์อะโลน ในทำเลแถวคลองประปา พระราม 6 พร้อมสร้างครัวกลางเพิ่ม ด้วยงบลงทุนอีกกว่า 15 ล้านบาท และมีแผนขยายสาขาของแบรนด์ที่มีอยู่ จากตอนนี้ 7 แบรนด์ มี 15 สาขา รายได้ใกล้ 300 ล้านบาท อนาคตจะขยายสาขาให้ได้ประมาณ 40 สาขา ตั้งเป้ารายได้ 400 ล้านบาท กำไร 20% หลังนำบริษัทเข้าตลาด MAI จะขยายต่อเนื่อง รวมทั้งมีแผนสร้างโรงงาน เพื่อผลิตวัตถุดิบ และทำอาหารแช่แข็งออกจำหน่าย

“คุณเบียร์” ยอมรับว่า ในการคิดตัดสินใจแต่ละครั้ง เขาใช้สัญชาตญาณ (gut feeling) เป็นส่วนใหญ่ในการ
ตัดสินใจ ซึ่งต้องยอมรับว่ามันไม่ใช่เรื่องถูกต้องนัก ขณะเดียวกัน นอกจากการใช้สัญชาตญาณแล้ว เขายังคงยํ้าว่า
เรื่องของมาร์เก็ตติ้ง คือ สิ่งที่สำคัญมาก เพราะธุรกิจจะชนะกัน ก็อยู่ที่มาร์เก็ตติ้งนี่แหละ และอีกสิ่งที่ขายไม่ได้ คือ คุณภาพ ที่จะทำให้เราชนะคนอื่นได้ บางทีทำร้านคุณภาพดีมาก แต่ถ้ามาร์เก็ตติ้งไม่ดี มันก็จบ

หน้า 26-27 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับ 3,391 วันที่ 12-15 สิงหาคม 2561

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว