ปตท.วิเคราะห์ราคาน้ำมันเฉลี่ยรายสัปดาห์เพิ่มขึ้นทุกชนิด

03 ก.ย. 2561 | 11:59 น.
สถานการณ์น้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูป สัปดาห์ที่ 27-31 ส.ค.61 และคาดการณ์สัปดาห์ที่ 3-7 ก.ย. 61 โดยส่วนวิเคราะห์ตลาดต่างประเทศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) มองราคาน้ำมันเฉลี่ยรายสัปดาห์เพิ่มขึ้นทุกชนิด โดยน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) เพิ่มขึ้น 2.91 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 76.94 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันดิบเวสท์เท็กซัสฯ (WTI) เพิ่มขึ้น 2.05 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 69.39 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดิบดูไบ (Dubai) เพิ่มขึ้น 2.76 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 75.05 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ด้านน้ำมันสำเร็จรูปน้ำมันเบนซินออกเทน 95 เพิ่มขึ้น 2.36 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 86.95 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้น 3.09 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 91.64 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก
* Reuters ประเมินปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบและ Condensate ของอิหร่าน ในเดือน ส.ค. 61 จะต่ำกว่า 70 ล้านบาร์เรล หรือ 2.06 ล้านบาร์เรลต่อวัน เป็นครั้งแรกตั้งแต่เดือน เม.ย. 60 จากผลของมาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ ล่าสุด ผู้บริหารบริษัทค้าน้ำมันแห่งชาติอิรัก (State Oil Marketing Organization-SOMO) นาย Alaa al-Yasiri ให้สัมภาษณ์ว่าการประชุมสามัญกลุ่ม OPEC ในเดือน ธ.ค. 61 จะมีการหารือว่ากลุ่มผู้ผลิตจะสามารถเพิ่มปริมาณการผลิตได้เพียงพอหรือไม่ เพื่อชดเชยการผลิตที่ลดลงจากอิหร่านเมื่อถูกคว่ำบาตรโดยสหรัฐฯ

Logo_PTT

*ท่อส่งออกน้ำมันดิบ Jose ที่เวเนซุเอลาสามารถกลับมาดำเนินการได้บางส่วน หลังเกิดอุบัติเหตุเรือขนส่ง Naphtha ชนกับท่าเทียบเรือ South Dock หนึ่งในสามท่าเทียบเรือ (Berth) ของท่า Jose เมื่อวันที่ 28 ส.ค. 61 เหตุดังกล่าวอาจมีผลให้บริษัทน้ำมันแห่งชาติเวเนซุเอลา (PDVSA) ไม่สามารถส่งมอบน้ำมันดิบตามปริมาณในสัญญา (Reuters คาดว่า PDVSA จะส่งมอบน้ำมันดิบแก่บริษัท Rosneft เดือนละ 4.0 ล้านบาร์เรล ตามข้อตกลงสินเชื่อแลกน้ำมัน หรือ Oil-for-loan ไม่ตรงตามกำหนดเวลา)

*Energy Information Administration (EIA) รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์ที่สหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 24 ส.ค. 61 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 2.6 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 405.6 ล้านบาร์เรล ลดลงมากกว่าผลสำรวจนักวิเคราะห์โดย Reuters ที่คาดว่าจะลดลงจากสัปดาห์ก่อน 700,000 บาร์เรล

*Texas Railroad Commission รายงานปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของมลรัฐเท็กซัส เดือน ก.ค. 61 อยู่ที่ระดับ 303,000 บาร์เรลต่อวัน (ลดลงจากเดือนก่อน 7% และลดลงจากปีก่อน 2%) ทั้งนี้ราคา WTI ถูกกดดันจากปริมาณการผลิตสูงกว่าขีดความสามารถในการนำน้ำมันออกสู่ตลาด อย่างไรก็ดีจำนวนแหล่งผลิต Drilled But Uncompleted Wells (DUCs) เดือน ก.ค.61 อยู่ที่ 3,470 หลุม (คิดเป็น 43% ของทั้งประเทศ) เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 167 หลุม

*CFTC รายงานสถานะการลงทุนสัญญาน้ำมันดิบ WTI ในตลาดซื้อขายล่วงหน้า NYMEX ที่นิวยอร์ก และ ICE ที่ลอนดอน สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 28 ส.ค. 61 กลุ่มผู้จัดการกองทุนปรับเพิ่มสถานะถือครองสุทธิ (Net Long Positon) ขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 28,720 สัญญา มาอยู่ที่ 369,853 สัญญา เพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกตั้งแต่ต้นเดือน ก.ค. 61

ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ

·วันที่ 23 ส.ค. 61 จีนและสหรัฐฯ ตั้งกำแพงภาษีระหว่างกันระลอกที่ 2 เมื่อ โดยบังคับใช้กำแพงภาษี 25% ต่อสินค้านำเข้าของอีกฝ่าย มูลค่าฝ่ายละ 1.6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยสหรัฐฯ เน้นตั้งกำแพงภาษีสินค้าเกี่ยวกับเคมีภัณฑ์ พลาสติก และมอเตอร์ไซด์ ขณะที่จีนเน้นสินค้าด้านพลังงาน อาทิ น้ำมันสำเร็จรูป ผลิตภัณฑ์เหล็ก รถยนต์และอุปกรณ์ทางการแพทย์

·สหภาพแรงงาน Unite ของสหราชอาณาจักร เลื่อนการหยุดงานประท้วง (Strike) ในวันที่ 3 ก.ย. 61 ณ แท่นขุดเจาะน้ำมันดิบ 3 แห่งของบริษัท Total ในทะเลเหนือ ออกไปอย่างไม่มีกำหนด นับเป็นสัญญาณที่ดีของความคืบหน้าในการเจรจาหาทางออก

·กระทรวงพลังงานของรัสเซียรายงานปริมาณการผลิตน้ำมันดิบ เดือน ก.ค. 61 เพิ่มขึ้น 260 ,000 บาร์เรลต่อวัน จากเป้าหมายที่ตกลงกันในกลุ่ม OPEC อยู่ที่ 11.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน

pptt

แนวโน้มราคาน้ำมัน
ราคาน้ำมันดิบ ICE Brent และ NYMEX WTI ปิดตลาดวันศุกร์ลดลงตามตลาดหุ้น จากความวิตกของนักลงทุนต่อสถานการณ์สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน หลังประธานาธิบดี Donald Trump แห่งสหรัฐฯ เตรียมตั้งกำแพงภาษีนำเข้าสินค้าและบริการจีนระลอกใหม่อีก 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หลังสิ้นสุดระยะเวลาประชาพิจารณ์ในสัปดาห์นี้ (วันที่ 6 ก.ย. 61) พร้อมขู่จะถอนตัวจากองค์การการค้าโลก (WTO) และจะมีมาตรการตอบโต้ WTO ล่าสุดเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา นาย Trump กล่าวว่าไม่มีความจำเป็นทางการเมืองที่จะต้องมีแคนาดาในข้อตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (NAFTA) ฉบับใหม่ หากไม่สามารถบรรลุข้อตกลงที่เป็นธรรมกับสหรัฐฯ หลังจากเสียเปรียบมาหลายทศวรรษแล้ว

พร้อมทั้งเตือนสภาคองเกรสว่าอย่ามายุ่งเกี่ยวกับการเจรจาด้านการค้า มิฉะนั้น นาย Trump จะล้มเลิก NAFTA ขณะเดียวกัน ผู้นำชาติแอฟริการวมตัวกันอย่างคับคั่งที่กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน เตรียมเข้าร่วมการประชุมสุดยอด Forum on China-Africa Cooperation (FOCAC) ในวันที่ 3-4 ก.ย. 61 เพื่อแสวงหาความร่วมมือในการสร้างผลประโยชน์ที่เป็นรูปธรรมในสายสัมพันธ์ระหว่างจีนกับชาติแอฟริกา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางสายไหมใหม่ (Belt and Road Initiative) ทั้งนี้ มูลค่าการค้าระหว่างจีนกับทวีปแอฟริกาในปี พ.ศ. 2560 อยู่ที่ 1.7 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และจีนคาดการณ์ว่าจะขยายตัวไปแตะ 3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี พ.ศ.2563 ขณะเดียวกัน ให้จับตาสถานการณ์ความวุ่นวายในอิรักซึ่งอาจกระทบต่อการผลิตน้ำมันดิบ

โดยกลุ่มผู้ประท้วงพยายามบุกรุกเข้าไปในแหล่งผลิตน้ำมันดิบในเมือง Basra หลังรัฐไม่สามารถตอบสนองสวัสดิการขั้นพื้นฐานให้ประชาชนได้ โดยเฉพาะน้ำดื่ม ซึ่งปัจจุบันไม่สามารถดื่มได้เนื่องจากมีเกลือในสัดส่วนมากเกินไป พร้อมประกาศว่าจะไม่ยอมให้รัฐได้ผลิตน้ำมัน ถ้าประชาชนไม่ได้ดื่มน้ำสะอาด ราคาน้ำมันดิบ ICE Brent จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 75-80 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดิบ NYMEX WTI อยู่ในกรอบ 67.5-72.5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันดิบ Dubai จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 73-78 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

090861-1927-9-335x503

สถานการณ์ราคาน้ำมันเบนซิน
ราคาน้ำมันเบนซินเฉลี่ยรายสัปดาห์เพิ่มขึ้นจากบริษัท Phillips 66 ปิดซ่อมบำรุงฉุกเฉินโรงกลั่น Bayway (258 KBD)ที่เมือง Linden มลรัฐ New Jersey เป็นระยะเวลา 20 วัน ตั้งแต่วันที่ 23 ส.ค. 61 และ กรมศุลกากรจีน (General Administration of Customs) รายงานปริมาณส่งออกน้ำมันเบนซิน เดือน ก.ค. 61 ลดลงจากเดือนก่อน 25 % อยู่ที่ระดับ 240,000 บาร์เรลต่อวัน ด้านปริมาณสำรอง EIA
รายงานปริมาณสำรอง น้ำมันเบนซินเชิงพาณิชย์ที่สหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 24 ส.ค. 61 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 1.5 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 232.8 ล้านบาร์เรล ต่ำสุดในรอบ 4 สัปดาห์ และ International Enterprise Singapore (IES) รายงานปริมาณสำรองน้ำมันเบนซินเชิงพาณิชย์ที่สิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 29 ส.ค. 61 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 740,000 บาร์เรล มาอยู่ที่ 13.13 ล้านบาร์เรล ต่ำสุดในรอบ 2 เดือน

อย่างไรก็ตาม Platts รายงานตลาดน้ำมันเบนซินในเอเชียเริ่มชะลอตัวหลัง โรงกลั่น Jamnager (กำลังการกลั่น 500,000 บาร์เรลต่อวัน) ของบริษัท Reliance Industries Ltd. (RIL) ในอินเดีย กลับมาส่งออกน้ำมันเบนซินหลังจากประกาศเหตุสุดวิสัย (Force Majeure) ตั้งแต่วันที่ 15 ส.ค. 61 ทางด้านเทคนิคในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันเบนซินจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 85-90 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

สถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซล
ราคาน้ำมันดีเซลเฉลี่ยรายสัปดาห์เพิ่มขึ้น เนื่องจากกรมศุลกากรจีนรายงานปริมาณส่งออกน้ำมันดีเซลเดือน ก.ค. 61 ลดลงจากเดือนก่อน 4.5% อยู่ที่ระดับ 371,000 บาร์เรลต่อวัน ต่ำสุดในรอบ 4 เดือน เนื่องจากผู้ค้าสำรองน้ำมันสำหรับตลาดในประเทศที่จะเข้าสู่ Peak Demand จากอุปสงค์น้ำมันดีเซลสำหรับการประมงเพิ่มขึ้นหลังคำสั่งห้ามจับปลา ในฤดูวางไข่สิ้นสุดลงในเดือน ส.ค. 61 และ บริษัท PNOC Exploration Corporation ของฟิลิปปินส์ออกประมูลซื้อน้ำมันดีเซล 0.005 %S ปริมาณ 375,000 บาร์เรล ส่งมอบเดือน ก.ย. 61 และ PDVSA ของเวเนซุเอลาออกประมูลซื้อน้ำมันดีเซล จำนวน 2 เที่ยวเรือๆ ละ 240,000 บาร์เรล ส่งมอบ 5-7 และ 15-17 ก.ย. 61 ด้านปริมาณสำรอง

EIA รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดีเซลเชิงพาณิชย์ที่สหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 24 ส.ค. 61 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 800,000 บาร์เรล มาอยู่ที่ 130 ล้านบาร์เรล ต่ำสุดในรอบ 2 สัปดาห์ อย่างไรก็ตามตลาดมีแรงขายจากอินเดีย อาทิ บริษัท Mangalore Refinery and Petrochemicals Ltd. (MRPL) และ บริษัท Indian Oil Corp. (IOC) ประกอบกับ IES รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดีเซลเชิงพาณิชย์ที่สิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 29 ส.ค. 61 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 1.55 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 10.36 ล้านบาร์เรล สูงสุดในรอบกว่า 1 เดือน ด้านเทคนิคในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดีเซล จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 88.5-93.5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว