ก.วิทย์ฯ-สวทช. ผนึก 2 กลุ่มทุน!! พัฒนาเทคโนโลยีการออกแบบการผลิต "ยานพาหนะสมัยใหม่"

03 ก.ย. 2561 | 08:43 น.
ก.วิทย์ฯ-สวทช. ผนึก บริษัท สกุลฎ์ซี อินโนเวชั่น จำกัด และกลุ่มบริษัทโชคนำชัย พัฒนาเทคโนโลยีการออกแบบการผลิตยานพาหนะสมัยใหม่ น้ำหนักเบา เพื่อพัฒนายานยนต์สัญชาติไทยรุ่นใหม่ ครั้งแรกในประเทศไทย

กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จับมือกับ บริษัท โชคนำชัย ไฮ-เทค เพรสซิ่ง จำกัด และบริษัท สกุลฎ์ซี อินโนเวชั่น จำกัด หนึ่งในกลุ่มบริษัทโชคนำชัย (CNC Group) ผู้ผลิตแม่พิมพ์ขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการออกแบบการผลิตยานพาหนะสมัยใหม่ และโครงการสร้างน้ำหนักเบา รวมถึงการพัฒนาบุคลากรที่เกี่ยวข้อง เพื่อพัฒนายานยนต์สัญชาติไทยที่ทำการออกแบบและ R&D ในประเทศทั้งหมด ที่สามารถนำมาต่อยอดในการสร้างหรือพัฒนาผลิตภัณฑ์เดิมให้สามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้ พร้อมทั้งสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจไทยให้สูงขึ้น

นายณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือ สวทช. เปิดเผยว่า ทาง สวทช. ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงกับ บริษัท สกุลฎ์ซี อินโนเวชั่น จำกัด และกลุ่มบริษัทโชคนำชัย ในด้านการวิจัยและพัฒนายานยนต์สมัยใหม่ เช่น รถโดยสารไฟฟ้าตัวถังอลูมิเนียม พร้อมระบบอัจฉริยะ , e-Platform Aluminium และ Body สำหรับการพัฒนาต่อยอดอุตสาหกรรมรถไฟฟ้าไทย , เรืออลูมิเนียมไฟฟ้า , เรือไร้คนขับ รวมถึงชิ้นส่วนโครงสร้างและองค์ประกอบที่เกี่ยวข้อง ร่วมวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตแม่พิมพ์ และการออกแบบ และผลิตโครงสร้างน้ำหนักเบา ตลอดจนร่วมพัฒนาบุคลากรและกำลังคนที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยียานพาหนะสมัยใหม่ ซึ่งจากความสำเร็จที่ผ่านมาทำให้ สวทช. มีความมั่นใจและประสงค์ที่จะร่วมมือกับ บริษัท สกุลฎ์ซี อินโนเวชั่น จำกัด และกลุ่มบริษัทโชคนำชัย ในด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตใหม่ ๆ เพื่อสร้างองค์ความรู้และยกระดับศักยภาพในการผลิตยานยนต์ เพื่อคนไทยให้เกิดขึ้นในประเทศต่อไป


เรืือ1

นายณรงค์ ศิริเลิศวรกุล กล่าวต่อไปว่า ทั้งนี้ในสิ่งที่ สวทช. ดำเนินการด้านยานยนต์นั้น เรามองว่า ในอนาคตจะเกิดการบูรณาการเทคโนโลยี ที่จะมุ่งไปสู่ Mobiltiy ที่ไม่ได้จำกัดว่าจะใช้ได้ในยานยนต์ที่มีล้อหรือทางบกเท่านั้น ยังสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ในระบบคมนาคมอื่น เช่น เรือ รถโดยสาร ระบบราง หรือยานบินขนาดเล็กได้อีกด้วย

ในวันนี้ ทาง สวทช. มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้รับความร่วมมือจาก บริษัท โชคนำชัย ไฮ-เทค เพรสซิ่ง จำกัด ผู้นำเทคโนโลยีการผลิตแม่พิมพ์และการขึ้นรูปชิ้นส่วนยานยนต์ที่มีน้ำหนักเบา อันเป็นองค์ประกอบสำคัญของยานยนต์สมัยใหม่ และบริษัท สกุลฎ์ซี อินโนเวชั่น จำกัด ผู้ผลิตเรือ รถโดยสาร ที่ทำจากโครงสร้างอลูมิเนียมแบบเดียวกับเทคโนโลยีที่ผลิตรถยนต์ โดยเราจะมาเป็นพันธมิตรร่วมกันพัฒนายานยนต์สมัยใหม่ที่ขับเคลื่อนด้วยระบบไฟฟ้า รวมถึงการพัฒนาเทคโนโลยีด้านการขึ้นรูปและลดน้ำหนักโครงสร้าง เพื่อยกระดับขีดความสามารถของประเทศไทยในการสร้างนวัตกรรมด้านยานพานหนะสมัยใหม่ให้เป็นความภาคภูมิใจของคนไทย สิ่งที่สำคัญยานพาหนะสมัยใหม่เหล่านี้จะเข้าไปช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตในการเดินทาง รวมถึงการท่องเที่ยวของคนไทยให้มีความปลอดภัยมากขึ้น และสร้างรายได้ให้กับประเทศต่อไป


เรือ4

ทางด้าน นายนำชัย สกุลฎ์โชคนำชัย ประธานกลุ่มบริษัท โชคนำชัย และบริษัท สกุลฎ์ซี อินโนเวชั่น จำกัด กล่าวว่า กลุ่มบริษัทโชคนำชัย (CNC Group) เป็นผู้ผลิตแม่พิมพ์ขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และเป็น Top5 Asia ที่ทำแม่พิมพ์สำหรับผลิตตัวถังรถยนต์ได้ทุกชิ้นส่วน ส่งตรงบริษัทชั้นนำมากมายทั่วโลก ประสบการณ์ยาวนานกว่า 40 ปี และมีผลงานการค้นคว้าวิจัยด้านเทคโนโลยีที่บริษัทได้คิดค้นขึ้นทางด้าน Advanced Material และเทคโนโลยีการขึ้นรูป นับเป็นองค์ความรู้สำคัญต่อการพัฒนาและต่อยอดเทคโนโลยี นวัตกรรม รวมไปถึงผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ให้มีคุณภาพที่สูงขึ้น จนทัดเทียมกับระดับสากล สามารถต่อยอดมูลค่าทางเศรษฐกิจไทย จนนำมาซึ่งการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีในสังคม และเพื่อการต่อยอดนวัตกรรมให้มีคุณภาพมากขึ้น

บริษัทโชคนำชัยฯ จึงได้ร่วมมือ กับ สวทช. เพื่อนำองค์ความรู้ที่สำคัญต่อการพัฒนาของบริษัท ต่อยอดองค์ความรู้ด้านการผลิตเรืออลูมิเนียม โดยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีการคำนวณทางพลศาสตร์ของไหล หรือ CFD ช่วยในการจำลองสภาวะการใช้งานและศึกษาความสัมพันธ์ ตลอดจนผลกระทบจากการไหลของน้ำที่มีต่อโครงสร้างเรือ ที่สำคัญ สวทช. ยังช่วยวิจัยเรื่องความแข็งแรงของโครงสร้างรถโดยสารตัวถังอลูมิเนียม ซึ่งผลดังกล่าวสามารถนำมาใช้ลดน้ำหนักของโครงสร้างให้มีน้ำหนักเบายิ่งขึ้น และมีความแข็งแรงตามมาตรฐานสากล ซึ่งความรู้ตัวนี้จะช่วยในการลดน้ำหนักและต้นทุนผลิต อีกทั้งเป็นการใช้พลังงานไฟฟ้าได้อย่างเต็มประสิทธิภาพในรถโดยสารไฟฟ้าในอนาคต สร้างประโยชน์ให้กับอุตสาหกรรมของประเทศได้โดยตรง

นอกเหนือจากการพัฒนางานนวัตกรรมช่วงแรก อย่าง รถไฟฟ้าโดยสาร , เรืออลูมิเนียมที่มีความปลอดภัยสูงแล้วนั้น ยังมีโครงการที่จะเตรียมจะทำต่ออีกหลายโครงการ อาทิเช่น โครงการพัฒนาเรืออัจฉริยะ , เรือ Unman , เรือไฟฟ้า , การนำใช้ระบบอัจฉริยะต่าง ๆ เพื่อความปลอดภัย , การใช้ Digital IoT technology สำหรับการเชื่อมต่อสิ่งต่าง ๆ รวมถึงในการจัดเก็บข้อมูลพฤติกรรมและการใช้งานเพื่อรองรับ AI ต่อไป


เรือ3

นายนำชัย สกุลฎ์โชคนำชัย กล่าวต่อ จากการที่กลุ่มบริษัทของเราพัฒนาจนมี Technology และ Knowhow การขึ้นรูปโลหะชั้นสูง จนเป็นที่ยอมรับจากหลายค่ายรถชั้นนำ รวมถึงผันตัวเองมาพัฒนาการออกแบบกระบวนการผลิต ซึ่งเรียนรู้สั่งสมประสบการณ์จาก OEM จนสามารถออกแบบผลิตภัณฑ์ที่มีความซับซ้อนสูงได้ด้วยตัวเองทั้งหมด เช่น เรือและรถโดยสาร เป็นต้น และยังสามารถนำไปผลิตและประกอบตามมาตรฐานสากล และวางขายในเชิงพานิชย์ ภายใต้แบรนด์ไทยได้นั้น ยังคงมองถึงการพัฒนาอย่างยั่งยืนต่อไป โดยการร่วมมือกับหน่อยงานวิจัยหลักของประเทศ อย่าง สวทช. คือ เพื่ออาศัยผู้ชำนาญการสร้างระบบจัดองค์ความรู้ระดับสูงที่ได้พัฒนาขึ้นมา ให้อยู่ในรูปแบบที่เป็นสากล สามารถถ่ายทอดและพัฒนาต่อเนื่องอย่างเป็นรูปแบบได้ อีกทั้งยังสามารถนำเทคโนโลยีที่มีการพัฒนาโดยคนไทยและนักวิจัยเข้ามาใช้ในผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ อีกด้วย และท้ายที่สุด คือ การให้ความสำคัญในการพัฒนาบุคลากรด้านการวิจัยและพัฒนาที่มีคุณภาพ เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาเทคโนโลยีไทยต่อไป


เรือ5

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว