'พาที' แอ่นอกรับ! นอมินีตั้ง 'นกสกู๊ต'

03 ก.ย. 2561 | 09:33 น.
030961-1615

เปิดใจ "พาที สารสิน" ยอมรับถือหุ้น 50% นกมั่งคั่ง เป็นนอมินีให้นกแอร์ลงทุนในนกสกู๊ต แจงเป็นขั้นตอนตาม ก.ม.ตั้งแอร์ไลน์ ชี้! ที่ยังถืออยู่เพื่อรอกลุ่มจุฬางกูร จัดทัพและทรานส์เฟอร์ให้ซีอีโอใหม่

การนำเงิน 500 ล้านบาท ก้อนแรกจากกรอบที่บอร์ด บมจ.สายการบินนกแอร์ ไฟเขียวให้กู้จาก นางหทัยรัตน์ จุฬางกูร วงเงินสูงสุด 1 พันล้านบาท มาลงทุนเพิ่มสภาพคล่องของนกแอร์ 250 ล้านบาท ส่วนอีก 250 ล้านบาท เป็นการลงทุนใน บริษัท นกมั่งคั่ง จำกัด ซึ่งมี "พาที สารสิน" อดีตซีอีโอนกแอร์ ถือหุ้นอยู่กว่า 50% กู้ยืมเพื่อลงทุนใน บริษัท สายการบินนกสกู๊ต จำกัด จนเกิดคำถามตามมามากมาย

 

[caption id="attachment_311994" align="aligncenter" width="335"] พาที สารสิน พาที สารสิน[/caption]

ต่อเรื่องนี้ นายพาที สารสิน เปิดใจกับ "ฐานเศรษฐกิจ" โดยยืนยันการเพิ่มทุนในนกสกู๊ตที่จะเกิดขึ้นหลัก ๆ เป็นเรื่องของ บมจ.นกแอร์ และ 'สกู๊ต' ของสิงคโปร์ แอร์ไลน์ส เนื่องจากการถือหุ้น 50% ในนกมั่งคั่ง เป็นเพียงการถือหุ้นแทน บมจ.นกแอร์ ซึ่งเป็นเพียงถือในนามเท่านั้น เพื่อให้การจัดตั้ง บริษัท สายการบินนกสกู๊ต จำกัด เป็นไปตาม พ.ร.บ.การเดินอากาศ พ.ศ. 2497

เนื่องจากหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการอนุญาตให้ประกอบกิจการค้าขายในการเดินอากาศ (AOL) ไม่ได้กำหนดไว้ว่า ให้บริษัทลูกของบริษัทรัฐวิสาหกิจสามารถยื่นขอจัดตั้งสายการบินได้ มีเพียงระบุว่า ต้องเป็นรัฐวิสาหกิจ, บริษัทจำกัด หรือ บริษัทมหาชน ที่มีบุคคลธรรมดาสัญชาติไทยถือหุ้นไม่น้อยกว่า 51% หรือ บุคคลธรรมดาสัญชาติไทย


Nok_Scoot

อดีตซีอีโอนกแอร์ ระบุอีกว่า ด้วยความที่ บมจ.สายการบินนกแอร์ ซึ่งเป็นบริษัทลูกรัฐวิสาหกิจ เนื่องจาก บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ถือหุ้นใหญ่อยู่ 39% (ขณะนั้น) จึงต้องตั้งนกมั่งคั่งขึ้นมา และมอบหมายให้ผม ซึ่งเป็นซีอีโอนกแอร์และเป็นบุคคลธรรมดาสัญชาติไทย ที่ต้องมีคนไทย 1 คน เป็นผู้ถือหุ้นหลักตามกฎหมาย จึงต้องเข้ามาถือหุ้น เพื่อทำโครงสร้างของนกสกู๊ตให้เป็นบริษัทจำกัด ให้เข้าข่ายมีสิทธิยื่นขอจัดตั้งสายการบินได้ถูกต้องตามกฎหมาย

อีกทั้งเพื่อให้การตั้งสายการบินได้รวดเร็ว แทนที่จะไปยื่นขอจัดตั้งสายการบินที่ต้องใช้เวลานาน เป็นเพราะตอนนั้นสายการบินไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ ก็เตรียมเปิดบินและมองว่า สกู๊ตของสิงคโปร์ แอร์ไลน์ส มีโนว์ฮาวในธุรกิจนี้อยู่ จึงมีการคุยกันถึงการร่วมลงทุน ซึ่งการบินไทยก็เห็นด้วย จึงไปซื้อหุ้นของบริษัท พีทแอร์ จำกัด ที่ทำธุรกิจการบินอยู่แล้ว เปลี่ยนชื่อและจดทะเบียนใหม่ในนาม บริษัท สายการบินนกสกู๊ต จำกัด เพื่อทำธุรกิจสายการบินต้นทุนต่ำบินระยะไกล


NokScoot_Plane-01

"ส่งผลให้โครงสร้างการถือหุ้นของ บริษัท สายการบินนกสกู๊ต จำกัด ประกอบไปด้วย สกู๊ตของสิงคโปร์ 49% บริษัท นกมั่งคั่ง จำกัด 49% และที่ต้องมีบริษัท เพื่อนน้ำมิตร จำกัด ถือหุ้นอยู่ 2% เนื่องจากผู้บริหาร 3 คน ของนกแอร์อยากลงทุนในนกสกู๊ต แต่ผมไม่สนใจที่จะลงทุนในนกสกู๊ต"

ส่วนหุ้นที่ผมถือในนาม เป็นหุ้นบุริมสิทธิ ที่ผ่านมาไม่ได้มีสิทธิออกเสียงในการบริหาร หรือ เกี่ยวข้องเรื่องการตัดสินใจใด ๆ ต่อการถือหุ้นดังกล่าว และไม่ได้เข้าไปหาหรือมีผลประโยชน์ใด ๆ หรือมีปันผลอะไร เพราะนกสกู๊ตมีปัญหาขาดทุนมาตลอด ไม่สามารถดำเนินธุรกิจได้ตามแผน ตั้งแต่บินไปญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ จากปัญหาไทยถูกติดธงแดงจากองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO)

นายพาที ยังกล่าวอีกว่า โครงสร้างการถือหุ้นของ บริษัท สายการบินนกสกู๊ตฯ ที่มีผมไปเกี่ยวพันอยู่นกมั่งคั่ง จึงเป็นโครงสร้างที่มีมาตั้งแต่ปี 2557 แม้จะลาออกจากซีอีโอนกแอร์ไปเกือบ 1 ปี แต่โครงสร้างที่ยังเป็นเช่นนี้อยู่ก็เพราะทางกลุ่มจุฬางกูร ซึ่งกลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่นกแอร์ ยังไม่ได้เข้ามาเปลี่ยนแปลงใด ๆ เพราะวุ่นเรื่องการบริหารจัดการตั้งแต่เพิ่มทุนและจัดทัพการบริหารงานใหม่ในนกแอร์


GP-3397_180903_0001

แต่หลังจากเขาเคลียร์เรื่องนกแอร์แล้วเสร็จ ทางกลุ่มจุฬางกูรจะหาบุคคลธรรมดาเข้ามาถือหุ้นแทนผม ซึ่งอาจจะเป็นซีอีโอคนใหม่ของนกแอร์ หรือ ใครก็แล้วแต่ แต่ไม่เกี่ยวกับผมและผมก็อยากให้มีการทรานส์เฟอร์ไปด้วย ที่ผ่านมาไม่ได้ยุ่งเกี่ยวกับธุรกิจการบินและกำลังจะเปิดธุรกิจใหม่ของตัวเองเร็ว ๆ นี้ ซึ่งเกี่ยวกับเอ็นเตอร์เทนเมนต์ที่ชอบและสนุกด้วย

"ผมมองว่า การที่นกมั่งคั่งจะไปเพิ่มทุนในนกสกู๊ตก็ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะหลังไทยถูกปลดธงแดง นกสกู๊ตสามารถบินไปญี่ปุ่นได้ตามแผนและเปิดบินหลายเส้นทาง ช่วงที่ผ่านมา นกสกู๊ตมีการเติบโตที่ดี และน่าจะมีกำไรในปีนี้เป็นปีแรก ซึ่งส่งผลดีต่อผู้ถือหุ้นนกแอร์ โดยเฉพาะกลุ่มจุฬางกูร และการเพิ่มทุนรอบใหม่ เพื่อเตรียมเพิ่มฝูงบินจาก 4 ลำ เป็น 6 ลำ ทำให้นกสกู๊ตขยายเส้นทางบินได้เพิ่มขึ้น" นายพาที กล่าวในที่สุด

อนึ่งผลการดำเนินงานของนกสกู๊ต ปีแรกขาดทุนอยู่ 1,207 ล้านบาท ปี 2559 ขาดทุน 612 ล้านบาท ปี 2560 ขาดทุน 47.5 ล้านบาท ซึ่งปีนี้มีแผนจะเปิดจุดบินใหม่ไปโอซากา เพิ่มจากบินไปนาริตะและอินเดียด้วย


……………….
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,397 วันที่ 2-5 ก.ย. 2561 หน้า 01-02

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
● ฐานโซไซตี : จาก “นกแอร์” ถึง “นกสกู๊ต” บทเรียนการบินไทย
● ทางออกนอกตำรา : ‘นกแอร์’ ทำพิลึก ใช้มหาชนสร้างหนี้ อุ้ม ‘พาที-มั่งคั่ง’


เพิ่มเพื่อน
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว