กกต. คาดประกาศแบ่งเขตเลือกตั้งกลาง พ.ย. นี้

03 ก.ย. 2561 | 07:59 น.
กกต. ชี้แจงแจ้งทุกจังหวัดแบ่งเขตเลือกตั้งรองรับทำไพรมารีโหวต เผย ต้องส่ง 3 รูปแบบ ให้ กกต. พิจารณาคัดเลือกรูปแบบที่ดีที่สุด คาดประกาศใช้กลาง พ.ย. ย้ำ ส.ส. เพิ่มลดมาจากรัฐธรรมนูญไม่ใช่ กกต. กำหนด รับหากวันเลือกตั้งเลื่อนจาก ก.พ. 2562 ต้องแบ่งเขตใหม่


14

นายณัฏฐ์ เล่าสีห์สวกุล รองเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวถึงการมีหนังสือแจ้งไปยังผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดให้ดำเนินการเตรียมเรื่องของการแบ่งเขตเลือกตั้ง ว่า เป็นการเตรียมการไว้สำหรับกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส. ที่คาดว่าจะประกาศในราชกิจจานุเบกษาช่วงกลางเดือน ก.ย. และหากมีการเลือกตั้งตามที่นายกรัฐมนตรีได้ประกาศไว้ว่าจะเป็นช่วงเดือน ก.พ. 2562  และนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ระบุจะใช้ช่วงเวลา 90 วัน ระหว่างรอการบังคับใช้กฎหมายเลือกตั้งให้เกิดประโยชน์สูงสุด ในการทำไพรมารีโหวตผู้สมัครจะลงเขตไหน พรรคจะส่งผู้สมัครในพื้นที่ใด ก็จะต้องมีข้อมูลการแบ่งเขตก่อน

รองเลขาธิการ กกต. กล่าวว่า ส่วนของ กกต. เราใช้ฐานข้อมูลทะเบียนราษฎรของปี 2559  ที่สรุปเมื่อวันที่ 31 ธ.ค. 2560 คำนวนการแบ่งเขตไว้เบื้องต้น แต่เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงของจำนวนราษฎร รายอำเภอ  ซึ่งอาจมีผลทำให้จำนวน ส.ส. ของแต่ละเขตมีการเปลี่ยนแปลงได้ จึงได้ประสานไปยังผู้อำนวยการสำนักทะเบียนกลางราษฎรขอทราบข้อมูล และได้แจ้งยัง ผอ.กต.ประจำจังหวัด ให้ตรวจสอบอีกครั้ง ว่า จำนวนราษฎรล่าสุดจะมีผลทำให้ค่าเฉลี่ยกลางเปลี่ยนแปลงไปหรือไม่


15

"เรื่องที่ทำเป็นปัจจัยพื้นฐานที่จะนำไปสู่กระบวนการไพรมารีโหวต ถ้า คสช. ออกคำสั่ง ม.44 ให้ กกต. ดำเนินการแบ่งเขตได้ เราก็จะใช้ข้อมูลราษฎร ณ วันที่ 31 ธ.ค. 2560 เป็นหลัก ซึ่ง ผอ.กต.ประจำจังหวัด ก็จะทำหน้าที่แบ่งเขต 3 รูปแบบ และติดประกาศรูปแบบของการแบ่งเขตทั้ง 3 รูปแบบ เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้เสีย พรรคการเมือง เป็นเวลา 10 วัน ก่อนจะประมวลความคิดเห็นและส่งมายัง กกต. ให้พิจารณาคัดเลือกรูปแบบที่ดีที่สุดให้แล้วเสร็จ ซึ่งทั้งกระบวนการจะต้องทำให้เสร็จภายใน 60 วัน นับแต่ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ประกาศในราชกิจจานุเบกษา หรือคาดว่าประมาณกลางเดือน พ.ย. เรื่องของการแบ่งเขตต้องแล้วเสร็จ และเข้าสู่กระบวนการไพรมารีโหวตได้" นายณัฏฐ์ กล่าว


26

รองเลขาธิการ กกต. กล่าวอีกว่า การแบ่งเขตทั้งรูปแบบที่แต่ละจังหวัดจะดำเนินการ ร้อยละ 80 จะเป็นการแบ่งตามโซนนิ่งของอำเภอ เว้นแต่บางอำเภอที่มีเทศบาลนคร และเป็นชุมชนหนาแน่น ก็อาจจะต้องแบ่งอำเภอออกเป็น 2 เขต แต่จะไม่มีการแบ่งตำบลและยึดหลักไม่กระทบกับความคุ้นเคยพื้นที่ของประชาชนที่จะไปใช้สิทธิเลือกตั้ง

นอกจากนี้ จากการที่รัฐบาลได้ขอความร่วมมือในเรื่องการประหยัดงบประมาณเลือกตั้ง และกฎหมายใหม่ได้กำหนดจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งต่อหน่วยเลือกตั้งเพิ่มขึ้นจากเดิม 800 คนต่อหน่วย มาเป็น 1000 คนต่อหน่วย ทางสำนักงาน กกต. ก็ได้มีหนังสือแจ้งไปยัง ผอ.กต.ประจำจังหวัด ทุกจังหวัดขอให้ประสานไปยังสำนักงานทะเบียนอำเภอ ว่าจะสามารถขยายหรือรวมหน่วยงานได้หรือไม่ แต่ต้องไม่กระทบต่อความคุ้นเคยในการใช้สิทธิของประชาชน จากเดิมที่มีหน่วยเลือกตั้งทั่วประเทศประมาณ 96,000 หน่วย ตั้งเป้าลดลงอย่างน้อยร้อยละ 3

เมื่อถามว่า หากรัฐบาลขยับวันเลือกตั้งจากเดือน ก.พ. 2562 ไปเป็นเดือน พ.ค. 2562 เขตเลือกตั้งและจำนวน ส.ส. จะยังคงเดิมหรือไม่ นายณัฏฐ์ กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีระบุแล้วว่า ช่วงเวลาของการเลือกตั้งเร็วที่สุด คือ เดือน ก.พ. ช้าที่สุด คือ เดือน พ.ค. 2562 ซึ่งสำนักทะเบียนกลาง กระทรวงมหาดไทย จะมีการแจ้งเปลี่ยนแปลงจำนวนประชากรแต่ละปี ในช่วง มี.ค. ของปีถัดไป ดังนั้น หากวันเลือกตั้งขยับไปเป็นเดือน พ.ค. 2562 ก็ต้องมีการแบ่งเขตใหม่ ตามจำนวนประชากรที่มีการประกาศใหม่ ซึ่งก็จะดันให้ทุกอย่างขยับออกไปอีก 60 วัน

"จำนวนเขตเลือกตั้งและจำนวน ส.ส. ที่ลดลงไม่ได้เกิดจากการกำหนดของ กกต. แต่เป็นผลมาจากรัฐธรรมนูญ  ที่กำหนดจำนวน ส.ส.แบ่งเขต ลดลงจาก 375 เป็น 350 คน และจำนวนประชากร ต่อ ส.ส. 1 คน มีการปลี่ยนแปลงในทุกปี"

23626556