Tele-medicine จะมีผลอย่างไร ต่อ Medical tourism ของไทย(1)

03 ก.ย. 2561 | 05:55 น.
ปัจจุบัน นโยบายการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Medical Tourism) จากภาครัฐทำให้เราได้เห็นชาวต่างชาติหลากหลายสัญชาติเดินทางเข้ามารักษาพยาบาลในประเทศไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องด้วยไทยมีโรงพยาบาลขนาดใหญ่ที่ได้รับมาตรฐานสากลอย่างมาตรฐาน “คณะกรรมการร่วมรับรองมาตรฐานสถานพยาบาล (Joint Commission International-JCI)” มากถึง 64 แห่งในปีนี้ ซึ่งถือว่าสูงในลำดับต้นๆ ของภูมิภาคเอเชีย

นอกจากนี้ ประเทศไทยก็ยังมีสินค้าและบริการที่ส่งเสริมสุขภาวะ (Wellness) มากมายหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นการนวดแผนไทย สปา สินค้าสมุนไพรแปรรูป เป็นต้น ส่งผลให้นักท่องเที่ยวเชิงสุขภาพสนใจเดินทางเข้ามาใช้บริการ ซึ่งก่อให้เกิดรายได้มหาศาลให้แก่ประเทศ อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยีการรักษาพยาบาลก็ไม่เคยหยุดพัฒนาเพื่อให้คนทุกคนสามารถเข้าถึงการรักษาที่มีคุณภาพได้มากยิ่งขึ้น และลดค่าใช้จ่ายที่เกิดจากระยะทางที่ห่างไกลกันระหว่างผู้ป่วยและสถานพยาบาล จึงเป็นที่มาของระบบการรักษาทางไกล (Tele-medicine) ที่ถือว่าเป็นเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่ผู้ประกอบการไทยในสาขาที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องเรียนรู้เพื่อให้ก้าวทันต่อการเปลี่ยนแปลงและผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

tele
Tele-medicine คืออะไร?

องค์การอนามัยโลก (World Health Organization - WHO) ได้ให้คำจำกัดความของคำว่า “การแพทย์ทางไกล” หรือ “Tele-medicine” ว่า การบริการด้านสาธารณสุขแก่ประชาชนที่อยู่ห่างไกลโดยบุคลากรผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ผ่านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลที่เป็นประโยชน์       ต่อการวินิจฉัย การรักษา และการป้องกันโรค ทั้งนี้ Tele-medicine อาจมีรูปแบบต่างๆ เช่น การใช้แอพพลิเคชันสื่อสารในการให้คำปรึกษาเชิงจิตเวช การใช้โปรแกรมวัดค่าต่างๆ ของร่างกาย อาทิ ค่าความดันโลหิต ค่านํ้าตาลในโลหิต เพื่อส่งให้แพทย์ประเมินอาการและวินิจฉัยแนวทางการรักษา ก่อนที่ผู้ป่วยที่อยู่ห่างไกลจะหาซื้อยาในพื้นที่หรือตัดสินใจเดินทางมารักษาตัวในศูนย์การแพทย์ที่มีเวชภัณฑ์ครบครัน

ตอนหน้าพบกับความก้าวหน้าของ Tele-medicine ในเยอรมนีซึ่งถือเป็นหนึ่งในประเทศต้นแบบที่มีพัฒนาการในเรื่องนี้มาอย่างยาวนาน และโอกาสในการที่จะต่อยอดการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของประเทศไทย

พบกับอัพเดตความเคลื่อนไหวและโอกาสในตลาดต่างประเทศที่สถานทูตไทยทั่วโลกตั้งใจติดตาม มาให้ภาคเอกชนไทยได้ที่เว็บไซต์ www.globthailand.com หากมีข้อคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะเพิ่มเติม สามารถเขียนมาคุยกันได้ที่ [email protected]

23626556

หน้า 10 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3,397 ระหว่างวันที่ 2-5 กันยายน 2561