ผลกระทบสงครามการค้า เปลี่ยนเส้นทางซัพพลายเชนโลก

03 ก.ย. 2561 | 05:49 น.
การเจรจาระดับเจ้าหน้าที่ของสหรัฐ อเมริกาและจีนที่กรุงวอชิงตันเมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา เพื่อหาทางออกให้กับสงครามการค้าที่เริ่มส่งผลกระทบมากขึ้น ไม่ได้ให้ผลลัพธ์ใดๆ เป็นชิ้นเป็นอัน กลายเป็นเพียงการเจรจาเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกัน ส่งสัญญาณว่า ทิศทางของการเผชิญหน้าทางการค้าระหว่างมหาอำนาจทั้งสองจะยังคงเป็นไปในทางลบ และนั่นก็จะส่งผลกระทบต่อผู้ที่เกี่ยวข้องในวงกว้างมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่จำกัดเฉพาะจีนกับสหรัฐอเมริกาอีกต่อไป หนึ่งในประเด็นความสนใจในเวลานี้ก็คือ การเปลี่ยนแปลงในเครือข่ายซัพพลายเชน หรือห่วงโซ่การผลิตของโลก ที่จะมีการโยกย้ายเคลื่อนที่ไป อันเป็นผลมาจากสงครามการค้าครั้งนี้

นับตั้งแต่ที่จีนเข้าเป็นสมาชิกขององค์การการค้าโลก (ดับบลิวทีโอ) ในปี 2544 ประตูของจีนก็เปิดออกต้อนรับบริษัทต่างชาติไม่ว่าจะเป็นสหรัฐฯ ยุโรป ญี่ปุ่น หรือไต้หวัน ให้เข้ามายึดหัวหาดใช้จีนเป็นฐานการผลิต อาศัยประโยชน์จากวัตถุดิบ และตลาดแรงงานที่มีจำนวนมหาศาล ขณะที่ค่าจ้างแรงงานยังมีราคาถูก  จีนกลายเป็นโรงงานโลกที่มีเครือข่ายซัพพลายเออร์ผลิตสินค้า รวมทั้งชิ้นส่วนประกอบหลากหลายชนิดส่งออกป้อนให้กับลูกค้านานาประเทศทั่วโลกโยงใยเป็นเครือข่ายที่ต้องพึ่งพากันและกัน  แต่มาตรการกดดันจีนด้วยภาษีศุลกากรของสหรัฐฯที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ นำมาใช้เป็นอาวุธ กำลังเข้ามาเขย่า ทำให้เครือข่ายเหล่านี้ถูกดึงออกห่างจากจีนมากขึ้นๆ ทุกที

ย้ายฐานการผลิตหนีกำแพงภาษี 

กลุ่มทุนไต้หวันหลายรายยอมรับว่า การโยกย้ายฐานการผลิตออกจากประเทศจีนนั้นเริ่มขึ้นมาได้ระยะหนึ่งแล้วเนื่องจากต้นทุนแรงงานของจีนถีบตัวสูงขึ้นมากจนไม่มีความได้เปรียบในด้านนี้เหมือนเมื่อในอดีต แต่นโยบาย America First ของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่ต้องการดึงฐานการผลิตกลับเข้าสู่สหรัฐฯเพื่อกระตุ้นการสร้างงาน ตามมาด้วยมาตรการขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีนในสงครามการค้าครั้งนี้ ก็เป็นเหมือนกับตัวเร่งให้การโยกย้ายฐานการผลิตออกนอกประเทศจีน เป็นไปอย่างรวดเร็วยิ่งขึ้นและเพิ่มจำนวนมากขึ้น ทั้งในกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคพื้นฐานและกลุ่มสินค้าไฮเทค

map ผู้บริหารบริษัท เฟิง เทย์ เอนเตอร์ไพรเซส (Feng Tay Enterprises) หนึ่งในบริษัทไต้หวันที่เข้าไปตั้งโรงงานผลิตรองเท้ากีฬาเพื่อส่งออกป้อนให้กับลูกค้าระดับโลกอย่างไนกี้ และอาดิดาส ยอมรับว่าไม่ได้เพิ่มกำลังการผลิตในจีนมาเกือบๆ 10 ปีแล้ว และได้คงสัดส่วนการผลิตในจีนไว้เพียง 10% ของกำลังการผลิตทั้งหมด แนวโน้มยังจะคงลดลงเรื่อยๆ ในอนาคต โดยบริษัทหันไปเพิ่มการผลิตในโรงงานที่ประเทศอินเดียและในกลุ่มประเทศอาเซียนแทน  โรงงานแห่งที่ 2 ในอินเดียเพิ่งเดินเครื่องการผลิตเมื่อปลายปีที่ผ่านมานี้เอง ส่วนในเวียดนามและอินโดนีเซียก็กำลังอยู่ในระหว่างการปรับปรุงเพื่อเพิ่มสมรรถนะการผลิต

ยิ่งในสถานการณ์เช่นนี้ การมีแหล่งผลิตที่สมดุล ไม่พึ่งพาฐานการผลิตในประเทศหนึ่งประเทศใดมากจนเกินไป ก็จะเป็นเกราะป้องกันความเสี่ยงได้ดี ในปีที่ผ่านมา (2560) เฟิง เทย์ฯ ผลิตรองเท้ากีฬาในจีนเพียง 11% (ของกำลังการผลิตทั้งหมด 124 ล้านคู่) ขณะที่เวียดนามได้สัดส่วนการผลิตไป 52% อินเดีย 24% และอินโดนีเซีย 13% ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับบริษัท โพ เฉิน (Pou Chen) ผู้ผลิตรองเท้ารายใหญ่อันดับ 1 ของโลก (สัญชาติไต้หวัน) ที่ผลิตป้อนให้กับไนกี้ อาดิดาส รีบอค เอสิคส์ อันเดอร์อาร์เมอร์ นิวบาลานซ์ พูม่า คอนเวิร์ส ทิมเบอร์แลนด์ ซาโลมอน และอีกหลายแบรนด์ ที่ลดการผลิตในจีนจากเดิม 29% ในปี 2557 เหลือเพียง 17% (ของทั้งหมด 324.6 ล้านคู่) ในปีที่ผ่านมา และครึ่งแรกของปีนี้ก็ลดลงอีกเหลือเพียง 15% ขณะที่ผลิตในเวียดนามเพิ่มขึ้นเป็น 46%

ด้านบริษัทผู้ผลิตสินค้าไฮเทคอย่างเดลต้า อีเลคโทรนิคส์ ผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ป้อนให้แบรนด์ดังอย่างแอปเปิล โซนี่ และเอชพี ได้ประกาศเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคมที่ผ่านมาว่าพร้อมทุ่มงบ 2.14 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯซื้อหุ้นบริษัทเดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย)ฯ เพื่อจะได้ฐานการผลิตในไทย อินเดีย และสโลวาเกีย ไว้รับมือกับความเสี่ยงจากสงครามการค้า ขณะเดียวกัน บริษัท เพกาตรอนฯ (Pegatron) ผู้ประกอบไอโฟนให้กับบริษัทแอปเปิล เปิดเผยว่า กำลังขยายฐานการผลิตออกนอกประเทศจีน โดยเล็งเปิดโรงงานแห่งแรกในอินเดียในปีนี้ ตามหลังบริษัทคู่แข่งอย่างฟ็อกซ์คอนน์ เทคโนโลยี กรุ๊ป ที่ดอดเข้าไปตั้งโรงงานในอินเดียไว้แล้วตั้งแต่ปี 2557

อินเดีย-อาเซียนรับอานิสงส์ 

จากข้อมูลของสถาบันวิจัยเทคโนโลยีอุตสาหกรรมแห่งไต้หวัน (ITRI) พบว่า ปัจจุบันมีบริษัทไต้หวันจำนวน 191 รายจากทั้งหมดกว่า 900 รายที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ไต้หวัน ที่เข้าไปลงทุนในประเทศอินเดียและกลุ่มประเทศอาเซียน อินเดียนั้นเป็นที่นิยมเนื่องจากเป็นตลาดใหญ่ที่มีจำนวนผู้บริโภคมหาศาล มีตลาดแรงงานที่มีความรู้และมีทักษะภาษาอังกฤษ ขณะที่เวียดนามเป็นสมาชิกอาเซียน ที่มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจในอัตราสูง และอินโดนีเซียก็เป็นตลาดใหญ่ที่เป็นตลาดเศรษฐกิจเกิดใหม่เช่นกัน

ในปี 2560 การลงทุนโดยตรงของต่างชาติ (FDI) ในอาเซียนมีการขยายตัว 11% คิดเป็นมูลค่ารวม 134,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ข้อมูลจาก ITRI) ขณะที่เอฟดีไอทั่วโลกมีมูลค่ารวมลดลง 23% (1.43 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) นักวิเคราะห์ของ ITRI เชื่อว่า ท่ามกลางการเผชิญหน้าทางการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ การโยกย้ายฐานการผลิตจะยังมีเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและอาเซียนกับอินเดีย ก็จะเป็นฐานการผลิตที่ได้รับอานิสงส์จากเรื่องนี้  เช่นเดียวกับที่เราจะได้เห็นหลายบริษัท โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมไฮเทคโยกย้ายเข้าไปตั้งโรงงานในสหรัฐอเมริกามากขึ้น ซึ่งเป็นไปตามนโยบายส่งเสริมของรัฐบาลสหรัฐฯ ที่ให้สิทธิประโยชน์ด้านต่างๆ รวมทั้งสิทธิประโยชน์ทางภาษี และความดึงดูดใจที่จะเข้าไปลงทุนในจีนที่มีลดลงในช่วงเวลานี้

 

23626556

หน้า 10 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3,396 ระหว่างวันที่ 30 สิงหาคม-1 กันยายน 2561