‘โดรน’อุตสาหกรรม แห่งอนาคตจากเสินเจิ้นและการปรับใช้กับภาคอุตสาหกรรม (ตอนจบ)

03 ก.ย. 2561 | 05:38 น.
ในปี 2557 จีนกลายเป็นประเทศที่มีมูลค่าของอุตสาหกรรมเกษตรสูงถึง 400,000 ล้านหยวน (ประมาณ 79,549 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) แซงหน้าสหรัฐอเมริกา กลายเป็นประเทศที่มีมูลค่าทางการเกษตรสูงที่สุดในโลก คิดเป็น 45% ของมูลค่าการเกษตรทั้งโลก โดยต้นทุนของอุปกรณ์และเครื่องจักรทางการเกษตรของจีนลดลงมาตั้งแต่ปี 2557 กว่า 10% และ 4% ในปี 2559 ซึ่งเกษตรกรจีนสามารถลดต้นทุนของการผลิตสินค้าเกษตรและได้รับกำไรที่สูงขึ้น สามารถยกระดับความเป็นอยู่ให้สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

drone2
โดรนกับการเกษตร

ปัจจุบันเกษตรกรชาวจีนกว่า 90% ยังใช้อุปกรณ์ฉีดพ่นควบคุมด้วยมือ มียอดการผลิตเท่ากับ 8 ล้านเครื่องต่อปี คาดว่าอุปกรณ์ฉีดพ่นแบบดั้งเดิมอยู่ในมือเกษตรกรจีนรวมทั้งสิ้นกว่า 100 ล้านเครื่อง อย่างไรก็ดี อุปกรณ์การเกษตรประเภทฉีดพ่นแบบดั้งเดิมเป็นอุปกรณ์ที่ควบคุมด้วยมือ มีข้อจำกัดในการใช้งานและการควบคุมปริมาณสารฉีดพ่นต่อพื้นที่ เป็นสาเหตุของผลผลิตทางการเกษตรที่ไม่คงที่โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ตอนกลางและฝั่งตะวันตกของจีนที่เป็นพื้นที่แห้งแล้ง มีปริมาณนํ้าฝนเฉลี่ยต่อปีน้อย รัฐบาลจึงเข้ามาช่วยเหลือและสนับสนุนเพื่อให้เกษตรกรสามารถผลิตสินค้าเกษตรได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นโดยพึ่งพาเทคโนโลยีที่สำคัญของจีน ในปี 2558 กระทรวงเกษตรจีนได้ออกแผนพัฒนารูปแบบการทำการเกษตร โดยหนึ่งในแผนดังกล่าวคือการสนับสนุนให้เกษตรกรเปลี่ยนจากอุปกรณ์การเกษตรแบบดั้งเดิมหันมาใช้อุปกรณ์ที่มีเทคโนโลยีใหม่ ๆ เช่น โดรน เพื่อการควบคุมและยกระดับประสิทธิภาพของการผลิตสินค้าการเกษตรให้ดียิ่งขึ้น

ปัจจุบันบริษัทโดรนชั้นนำของโลกอย่าง DJI ได้นำเสนอรูปแบบการใช้โดรนเข้ากับอุตสาหกรรมการเกษตร โดยเปิดตัวโดรนพ่นสารเคมีสำหรับการเกษตรมาตั้งแต่ปี 2015 อาทิ โดรนรุ่น AGRASMG-1 ใช้พ่นสารเคมีในพื้นที่เกษตรกรรม สามารถบรรทุกของเหลวได้สูงสุด 10 กิโลกรัม บินครอบคลุมพื้นที่ 4,000-6,000 ตารางเมตร ในเวลาเพียง 10 นาที ประหยัดเวลามากกว่าการใช้แรงงานมนุษย์ถึง 40-60 เท่า สามารถบินได้สูงสุด 24 นาที (ระยะเวลาการบินขึ้นอยู่กับนํ้าหนักขณะขึ้นบิน) นอกจากนี้ยังมีเทคโนโลยีที่สามารถคำนวณและสำรวจพื้นที่ อีกทั้งยังสามารถวาดแผนที่ดิจิตอลของพื้นที่การเกษตรได้อีกด้วย

นายหลี่ เจ๋อเซียง ประธานบริหารบริษัท DJI และศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งฮ่องกง กล่าวว่า ผลิตภัณฑ์โดรนที่จะประสบความสำเร็จต้องมีคุณสมบัติที่สามารถตอบสนองความต้องการของตลาด ณ เวลานั้นได้ ช่วยบริการและแก้ปัญหาที่ตรงจุด ส่วนปัจจัยที่ทำให้ไม่ประสบความสำเร็จในการผลิตหุ่นยนต์ ได้แก่ สินค้าไม่ตอบสนองความต้องการของตลาด ไม่รองรับการเติบโตและขาดการจัดสรรทรัพยากรและงบประมาณที่เหมาะสม

Drone3
กฎระเบียบและข้อจำกัด

นายเฉิน จื้อเจี๋ย คณะกรรมการสถาบันวิศวกรรมแห่งประเทศจีน กล่าวว่า ปัจจุบันเทคโนโลยีโดรนได้พัฒนาไปสู่ระดับที่สูงและถูกใช้งานอย่างแพร่หลายมากขึ้น ซึ่งในอนาคตไม่เพียงแต่ใช้ประโยชน์ในการทหารเท่านั้น แต่อาจถูกนำไปใช้เป็นเครื่องมือในการขนส่งสินค้าผิดกฎหมายหรือการโจมตีทางอากาศอีกด้วย นำมาซึ่งความกังวลเกี่ยวกับการนำเทคโนโลยีไปใช้ในทางที่ผิด และก่อให้เกิดปัญหาด้านความมั่นคงและความปลอดภัยของประชาชนเอง ดังนั้นภาครัฐจึงควรมีมาตรการควบคุมอากาศยานไร้คนขับในทุกระดับการใช้งาน ครอบคลุมการป้องกันปัญหาด้านความมั่นคง ความปลอดภัยและด้านการพัฒนาของเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม ซึ่งปัจจุบัน นายเฉิน มองว่ากฎระเบียบควบคุมยังไม่ครอบคลุมมากพอ จึงควรได้รับการปรับปรุงและพัฒนาอย่างเหมาะสมต่อไป
โดรนกับประเทศไทย

โดรนเริ่มถูกใช้งานอย่างแพร่หลายในไทยเพียง 2-3 ปีที่ผ่านมาเท่านั้น โดยการใช้งานส่วนใหญ่ยังคงจำกัดอยู่เพียงแค่การใช้เพื่อความบันเทิง อาทิ การถ่ายภาพ วิดีโอ ภาพยนตร์และกิจกรรมสันทนาการอื่นๆ โดรนถูกควบคุมการใช้งานโดยคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ซึ่งกำหนดให้ผู้ใช้งานโดรนทุกประเภทจะต้องขึ้นทะเบียนให้เรียบร้อยก่อนบิน ซึ่งนับตั้งแต่วันที่ 12 ตุลาคม - 28 พฤศจิกายน 2560 พบว่ามีผู้ขึ้นทะเบียนโดรนทั้งหมด 5,280 เครื่อง แบ่งเป็นขึ้นทะเบียนในส่วนกลาง 2,344 เครื่อง ขึ้นทะเบียนในส่วนภูมิภาค 2,936 เครื่อง

ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคมได้ออกระเบียบควบคุมการใช้งานโดรนในไทยโดยอนุญาตการใช้งาน 2 ประเภท ได้แก่ (1) ประเภทที่ใช้เพื่อวัตถุประสงค์ในการเล่นเป็นงานอดิเรก เพื่อความบันเทิงหรือเพื่อการกีฬา และ (2) ประเภทที่ใช้เพื่อวัตถุประสงค์อื่น เช่น การถ่ายภาพ รายงานการจราจร การวิจัยและพัฒนาอากาศยาน อื่นๆ ซึ่งหากผู้ใดกระทำความผิดต่อกฎอย่างใดอย่างหนึ่งต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา อดีตรองนายกรัฐมนตรีและที่ปรึกษา World UAV Federation กล่าวในงานประชุมโดรนโลก ณ เมืองเสินเจิ้น มณฑลกวางตุ้ง เมื่อเดือนมิถุนายนว่า ผู้ผลิตโดรนควรคำนึงถึงการนำเทคโนโลยีไปใช้งานอย่างผิดกฎหมาย ซึ่งผู้ผลิตควรมีเทคโนโลยีที่สามารถจำกัดการใช้งานที่เสี่ยงต่ออันตรายหรือผิดกฎหมายด้วย ทั้งนี้ ไทยในฐานะที่เป็นประเทศที่เริ่มใช้โดรนอย่างแพร่หลายควรศึกษาความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีโดรนของจีนเพื่อนำมาปรับใช้กับอุตสาหกรรมที่หลากหลายมากขึ้น โดยปัจจุบันถึงแม้การใช้โดรนในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์หรืออุตสาหกรรมเกษตรในไทยยังมีน้อย เนื่องจากความจำกัดด้านเทคโนโลยีและต้นทุนค่อนข้างสูง อย่างไรก็ดี แนวโน้มการใช้โดรนเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพและพัฒนาอุตสาหกรรมด้านต่างๆ ต่างล้วนมีความสำคัญที่ไทยต้องจับตามองและพัฒนาตามต่อไป

พบกับอัพเดตความเคลื่อนไหวและโอกาสในตลาดต่างประเทศที่สถานทูตไทยทั่วโลกตั้งใจติดตามมาให้ภาคเอกชนไทยได้ที่เว็บไซต์ www.globthailand.com หากมีข้อคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะเพิ่มเติม สามารถเขียนมาคุยกันได้ที่ [email protected]

23626556

หน้า 10 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3,395 ระหว่างวันที่ 26-29 สิงหาคม 2561