จีน-สหรัฐฯคืนสู่โต๊ะเจรจา รอมชอมหาจุดสกัดเงินหยวนอ่อนค่า

03 ก.ย. 2561 | 05:45 น.
การเจรจาในระดับเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลจีนและสหรัฐฯ กำหนดมีขึ้นที่กรุงวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา ระหว่างวันที่ 21-22 สิงหาคมนี้ เป็นช่วงเวลาก่อนที่มาตรการขึ้นภาษีระลอก 2 16,000 ล้านดอลลาร์จะมีผลบังคับใช้ (ในวันที่ 23 สิงหาคม) ทำให้มีการคาดเดาว่ามีความเป็นไปได้ที่ผู้นำของจีนและสหรัฐฯจะพบกันในระดับประชุมซัมมิทอีกครั้งในเดือนพฤศจิกายนที่จะถึงนี้ หุ้นในตลาดเอเชียขานรับข่าวดังกล่าวในเชิงบวก และค่าเงินหยวนของจีนก็ขยับสูงขึ้นหลังจากร่วงลงไปอยู่ระดับตํ่าสุดเมื่อเร็วๆ นี้
ประเด็นร้อนอัตราแลกเปลี่ยน

ประเด็นหนึ่งที่คาดว่าจะมีการพูดถึงบนโต๊ะการเจรจาคือ การอ่อนตัวลงของค่าเงินหยวนในระยะที่ผ่านมา โดยเมื่อปลายสัปดาห์ที่แล้ว อัตราแลกเปลี่ยน เงินหยวนอยู่ที่ระดับ 6.89 หยวนต่อดอลลาร์ นับว่าใกล้ๆจะแตะระดับตํ่าสุดที่เคยทำไว้ 7 หยวนต่อดอลลาร์ในช่วงเดือนพฤษภาคม 2551  ส่วนค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯนั้น นับตั้งแต่ต้นปีมา แข็งค่าขึ้นประมาณ 6% เมื่อเทียบกับค่าเงินหยวน ธนาคารกลางของจีนกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนเงินหยวนเป็นรายวัน และอนุญาตให้มีการซื้อขายในช่วงราคาที่ได้ถึงบวกหรือลบ 2% ของอัตราที่กำหนดไว้ แต่ในระยะหลังค่าเงินหยวนอ่อนตัวลงมากทำให้ค่าเงินดอลลาร์แข็งขึ้นสวนกัน ประกอบกับธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ปรับขึ้นดอกเบี้ย ทำให้ค่าเงินดอลลาร์แข็งขึ้นต่อเนื่อง

trump

นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ เคยกล่าวโทษจีนไว้ในการให้สัมภาษณ์กับสื่อสหรัฐฯว่า ในประเทศจีน ค่าเงินหยวนดำดิ่งเหมือนหินถ่วง แต่เงินดอลลาร์กลับพุ่งสูงขึ้น และเขาบอกได้เลยว่า “สถานการณ์ดังกล่าวทำให้สหรัฐฯเป็นฝ่ายเสียเปรียบ” ก่อนหน้านั้น ผู้นำสหรัฐฯเคยขู่ไว้ว่าจะขึ้นบัญชีดำจีนให้เป็นประเทศที่ปั่นค่าเงินซึ่งจะตามมาด้วยการดำเนินมาตรการลงโทษอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่เอาเข้าจริงสหรัฐฯก็ยังไม่ได้กล่าวโทษจีนเป็นประเทศที่ปั่นค่าเงินอย่างเป็นทางการ อย่างไรก็ตาม ในช่วงระยะหลังๆ มานี้ เมื่อค่าเงินหยวนอ่อนลงต่อเนื่องท่ามกลางภาวะสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ จึงมีการคาดหมายว่า เป็นไปได้มากที่ในรายงานของกระทรวงการคลังสหรัฐฯฉบับเผยแพร่ในเดือนตุลาคมที่จะถึงนี้ จะมีการระบุว่า จีนเป็นประเทศปั่นค่าเงิน (currency manipulator) เสียที
เชื่อผลลบตกกับจีนเอง

อย่างไรก็ตาม ฝ่ายจีนได้ยืนยันมาตลอดว่าไม่เคยใช้อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินเป็นเครื่องมือสร้างความได้เปรียบทางการค้า เช่นเดียวกับมุมมองของนักวิเคราะห์จำนวนมากที่มองว่าค่าเงินหยวนที่อ่อนลงๆ นั้นไม่ได้เป็นผลดีสำหรับเศรษฐกิจจีน เพราะค่าเงินที่อ่อนลงจะทำให้จีนต้องนำเข้าสินค้าด้วยต้นทุนที่สูงขึ้น และโดยความเป็นจริงนั้นจีนมีการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบและสินค้าเพื่อการผลิตเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะจากประเทศคู่ค้าในเอเชีย ดังนั้น การนำเข้าที่จีนต้องชำระด้วยสกุลเงินต่างประเทศจึงเป็นการชำระที่แพงขึ้น และหมายถึงต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นด้วย นอกจากนี้ หนี้สาธารณะของจีนส่วนใหญ่ยังอยู่ในรูปสกุลเงินดอลลาร์อีกด้วย ดังนั้นหากค่าเงินหยวนอ่อนลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์ จีนก็ต้องแบกภาระหนี้เพิ่มมากขึ้น

yuan

ดังนั้น จึงมีความเป็นไปได้ว่าในการเจรจาระดับเจ้าหน้าที่ของจีนและสหรัฐฯในช่วงสัปดาห์นี้ จะมีการพูดถึงเรื่องที่ว่าจีนจะจัดการกับค่าเงินหยวนอย่างไรท่ามกลางบริบทของการเผชิญหน้าทางการค้า ซึ่งหากจีนมีมาตรการที่จะทำให้ค่าเงินหยวนแข็งขึ้น นั่นก็จะช่วยลดผลกระทบจากการที่จีนต้องนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯในอัตราภาษีที่แพงขึ้นด้วย รายงานข่าวจากสื่อต่างประเทศระบุว่า นายเดวิด มัลแพส เจ้าหน้าที่ระดับปลัดกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ฝ่ายกิจการระหว่างประเทศ ซึ่งจะเป็นหัวหน้าคณะเจรจาฝ่ายสหรัฐฯ คงจะให้ความสำคัญกับการเตือนจีนถึงกรณีค่าเงินหยวนอย่างแน่นอน
กดดันมาก เสี่ยงล้มเหลว

นักวิเคราะห์ของบริษัทที่ปรึกษายูเรเซีย กรุ๊ป ให้ความเห็นว่า ความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นได้จากการเจรจาครั้งนี้คือ การพยายามของสหรัฐฯที่จะกดดันให้จีนขยับค่าเงินหยวนให้แข็งขึ้นไปอยู่ในระดับที่เคยเป็น (นับตั้งแต่ปลายเดือนเมษายน เงินหยวนอ่อนค่าลงมาแล้วราว 9%) ซึ่งนั่นอาจทำให้จีนคัดค้านได้ จึงควรที่สหรัฐฯจะใช้วิธีการเจรจาอย่างรอมชอมเพื่อให้จีนตระหนักถึงผลเสียต่อเศรษฐกิจของจีนเอง หากค่าเงินหยวนจะตํ่าเกินไป เช่นกรณีที่เงินหยวนอ่อนลงเรื่อยๆจนใกล้ 7 หยวนต่อดอลลาร์สหรัฐฯ สุดท้ายแล้วเงินทุนต่างชาติก็อาจไหลออกจากจีนอย่างรวดเร็ว เหมือนที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในปี 2558

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์ประเมินสถานการณ์ว่า การเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีนที่กรุงวอชิงตันในครั้งนี้อาจไม่มีอะไรให้คาดหวังมากนัก อเล็กซ์ คาปรี นักวิชาการด้านการค้าระหว่างประเทศของมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ให้ความเห็นว่า ส่วนหนึ่งเพราะการเจรจาเป็นระดับเจ้าหน้าที่ ซึ่งพยายามจะหาจุดร่วมที่รอมชอมกันได้ในระดับหนึ่ง แต่ก็ไม่เชื่อว่าจะได้ผลลัพธ์ที่ใหญ่โตอะไร นอกจากนี้ ทั้ง 2ฝ่ายยังมีความเห็นที่แตกต่างในหลายเรื่อง โดยเฉพาะเกี่ยวกับนิยามของคำว่า เศรษฐกิจชาตินิยมแบบจีน

ส่วนประเด็นพื้นฐานอื่นๆที่คาดว่าจะมีการหยิบยกมาหารือกัน นอกเหนือจากเรื่องค่าเงินหยวน คือเรื่องของการให้เงินอุดหนุนรัฐวิสาหกิจและเอกชนของรัฐบาลจีน การกดดันให้บริษัทต่างชาติต้องถ่ายทอดเทคโนโลยีให้ฝ่ายจีน รวมถึงการ ปกป้องตลาดภายในประเทศด้วย  ผลลัพธ์ที่คาดว่าน่าจะได้จากการเจรจาเจ้าหน้าที่ระดับกลางในครั้งนี้ น่าจะเป็นการขอให้มีการเปิดเสรีตลาดจีนมากขึ้น ซึ่งจะครอบคลุมถึงการขอให้จีนเปิดตลาดให้บริษัทต่างชาติมากขึ้น โดยเฉพาะบริษัทด้านเทคโนโลยี อย่างบริษัท กูเกิลฯ ที่เมื่อไม่นานมานี้ได้แสดงความสนใจที่จะขยายธุรกิจเข้าไปให้บริการในประเทศจีนซึ่งปัจจุบันเว็บไซต์เสิร์ชเอนจินของกูเกิลยังถูกทางการจีนบล็อกอยู่

e-book-1-503x62-7

หน้า 10 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3,394 ระหว่างวันที่ 23-25 สิงหาคม 2561