ความกังวลเกี่ยวกับสงครามการค้า กดดันราคาน้ำมันดิบ

03 ก.ย. 2561 | 03:06 น.
หน่วยวิเคราะห์สถานการณ์พลังงาน บมจ.ไทยออยล์ รายงานสถานการณ์ราคาน้ำมัน  ประจำวันที่ 3 กันยายน 2561

ราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลง จากความกังวลเกี่ยวกับสงครามการค้าที่อาจกระทบต่อความต้องการใช้น้ำมันโลก หลังนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ขู่ว่าจะให้สหรัฐฯ ถอนตัวออกจากการเป็นสมาชิกขององค์การการค้าโลก (WTO) นอกจากนี้ ยังจะประกาศเรียกเก็บภาษีนำเข้าราวร้อยละ 25 กับสินค้าจากจีนซึ่งมีมูลค่ารวมกว่า 2 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ เร็วๆนี้

- Baker Hughes รายงานจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์สิ้นสุด ณ วันที่ 31 ส.ค. 61 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 2 แท่น มาอยู่ที่ 862 แท่น ซึ่งเป็นการปรับเพิ่มขึ้นครั้งแรกในรอบสามสัปดาห์

- สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานของสหรัฐฯ (EIA) รายงานปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ในเดือนมิ.ย. ปรับตัวเพิ่มขึ้นราว 231,000 บาร์เรลต่อวัน เมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา สู่ระดับ 10.674 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในประวัติการณ์ นอกจากนี้ ปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ปรับเพิ่มขึ้นประมาณ 200,000 บาร์เรลต่อวัน แตะระดับสูงสุดในประวัติการณ์ที่ 2.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน

- ผลสำรวจนักวิเคราะห์จากรอยเตอร์ ปรับลดการคาดการณ์ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ในปี 61 มาเฉลี่ยอยู่ที่ 72.71 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ซึ่งลดลงจากการคาดการณ์ของเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ 72.87 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล จากความกังวลที่ทวีคูณมากขึ้นเกี่ยวกับสงครามการค้า

ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ หลังได้รับแรงหนุนจากปริมาณน้ำมันเบนซินคงคลังทั่วโลกปรับตัวลดลง ประกอบกับอุปสงค์น้ำมันเบนซินในอินโดนีเซียที่มีอย่างต่อเนื่อง

ราคาน้ำมันดีเซล ปรับตัวลดลงสวนทางราคาน้ำมันดิบดูไบ หลังได้รับแรงกดดันจากปริมาณน้ำมันดีเซลคงคลังสิงคโปร์ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ตลาดยังได้รับแรงหนุนจากปริมาณการส่งออกน้ำมันดีเซลของจีนที่คาดว่าจะปรับลดลงในเดือนส.ค. เมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา

ไทยออยล์คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์นี้

ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสเคลื่อนไหวในกรอบ 66-71 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล

ราคาน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 73-78  เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล

ปัจจัยที่น่าจับตามอง

สำนักข่าว Reuters เผยปริมาณการส่งน้ำมันดิบของอิหร่านในเดือน ส.ค. 61 ลดลงมาแตะระดับ 2.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากระดับสูงสุดที่ 3.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในเดือนเมษายนที่ผ่านมา หลังได้เผชิญหน้ากับการคว่ำบาตรจากสหรัฐฯ ซึ่งกำกับให้ทุกประเทศหยุดการนำเข้าน้ำมันดิบอิหร่านนับตั้งแต่ 4 พ.ย. 61 นี้เป็นต้นไป

ปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบจากประเทศเวเนซุเอลามีแนวโน้มปรับลดลง เนื่องจากท่าเรือขนส่งน้ำมันหลักของประเทศได้มีการหยุดดำเนินการลง หลังเกิดเหตุเรือขนส่งน้ำมันดิบชนกัน

จับตาการการประชุมระหว่างผู้ผลิตทั้งในและนอกโอเปกในเดือน ก.ย. ว่าจะมีการพิจารณาปรับเพิ่มปริมาณการผลิตขึ้นเพื่อชดเชยปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของอิหร่านที่หายไปหรือไม่

ที่มา : บมจ.ไทยออยล์ ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว