บิสิเนสแบ็กสเตจ : การเติบโตและความเสี่ยงเหรียญ 2 ด้าน ของธุรกิจครอบครัว

02 ก.ย. 2561 | 12:09 น.
 

2625415 ธุรกิจครอบครัวจำเป็นต้องรักษาสมดุลระหว่างเป้าหมายทางธุรกิจ (เช่น การเติบโต นวัตกรรมและการสรรหาพนักงานที่มีความสามารถ) และเป้าหมายของครอบครัว (เช่น รักษาค่านิยมของครอบครัวและปกป้องความมั่งคั่งของครอบครัว) ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่าสิ่งเหล่านี้จะส่งผลให้เกิดมุมมองและแนวทางที่แตกต่างกันกับธุรกิจเอกชนทั่วไป

ดังนั้น Deloitte จึงทำการศึกษาเพื่อหาความแตกต่างนี้โดยการดำเนินงานของ OnResearch ซึ่งเป็นบริษัทวิจัยด้านตลาด ตั้งแต่วันที่ 14 สิงหาคม-18 กันยายน ค.ศ. 2017 ได้สำรวจผู้บริหารระดับสูง 394 รายจากธุรกิจครอบครัวขนาดกลางทั่วโลกเกี่ยวกับความคาดหวัง ประสบการณ์และแผนสำหรับการแข่งขันที่เพิ่มมากขึ้นในสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจปัจจุบัน โดยการสำรวจจำกัดเฉพาะผู้บริหารบริษัทที่มีรายได้รวมรายปีระหว่าง 10 ล้าน-1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทั้งนี้ผู้ถูกสำรวจประมาณ 55% เป็นเจ้าของ, คณะกรรมการบริษัทหรือผู้บริหารระดับสูง ( C-Level) ส่วนที่เหลือได้แก่ รองประธานบริษัท หัวหน้าฝ่ายหรือสายธุรกิจหรือผู้จัดการ ผลการสำรวจพบว่าธุรกิจครอบครัว 43% รับรู้ถึงระดับ ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจและการเงินซึ่งส่งผลกระทบต่อธุรกิจของตนสูงกว่า 1 ปีที่ผ่านมา
20150418_SRD008_0 เมื่อสอบถามถึงความเสี่ยงในการเติบโตของธุรกิจพบว่า มีหลายประเด็นที่อาจมีความเสี่ยงต่อการเติบโตของธุรกิจในอีก 12 เดือนข้างหน้า โดยทั้งธุรกิจครอบครัวและบริษัทเอกชนทั่วไปที่ไม่ใช่ธุรกิจครอบครัวต่างเห็นว่าต้นทุนวัตถุดิบและต้นทุนการผลิตอื่น ๆ (เช่น ราคาพลังงาน) เป็นความเสี่ยงอันดับ 1 ขณะที่ความสามารถในการจ้างและรักษาพนักงานถือเป็นความเสี่ยงอันดับ 2 สำหรับผู้บริหารธุรกิจครอบครัว

ทั้งนี้ธุรกิจครอบครัวเผชิญกับความท้าทายที่มีความเฉพาะเจาะจงเมื่อเทียบกับบริษัทเอกชนทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาของการเปลี่ยนผู้นำ เมื่อคนรุ่นใหม่เข้ามารับช่วงต่อจากผู้นำคนก่อนแต่ความเป็นผู้นำยังอยู่ในครอบครัว นอกจากนี้ยังมีความท้าทายสำหรับธุรกิจครอบครัวอีกอย่างคือเมื่อมีการแต่งตั้งคนนอกให้เข้ามาเป็นผู้บริหาร ธุรกิจครอบครัวมักถูกท้าทายอยู่เสมอในเรื่องของการสร้างแรงจูงใจให้กับผู้บริหารระดับสูงที่ไม่ใช่สมาชิกในครอบครัว ซึ่งในบางกรณีก็มีความสำคัญเช่นกันที่ธุรกิจครอบครัวต้องจัดการการรับรู้ที่เป็นกำแพงกีดกันในการทำงานของพนักงานที่ไม่ใช่สมาชิกในครอบครัว

อย่างไรก็ตามการรับรู้ความเสี่ยงของธุรกิจครอบครัวกับบริษัทเอกชนทั่วไปนั้นไม่แตกต่างกันมากนัก และสิ่งที่น่าสนใจคือ บริษัทเอกชนทั่วไปรวมเอาแนวโน้มที่ไม่แน่นอนของเศรษฐกิจและความไม่สงบทางการเมืองเข้าไว้เป็นความเสี่ยงต่อการเติบโตใน 5 อันดับแรก ในขณะที่ประเด็นเหล่านี้ไม่ติด 1 ใน 5 อันดับแรกของความเสี่ยงสำหรับธุรกิจครอบครัว (ตารางที่ 1)
1535889779219 ทั้งนี้ธุรกิจครอบครัวมักมีความยืดหยุ่นมากกว่าในช่วงเวลาที่เกิดความผันผวน เนื่องจากมีการวางแผนระยะยาวและมักมีแนวโน้มที่จะมีโครงสร้างทางการเงินที่มีความมั่นคงมากกว่า อีกทั้งยังมักมีความรวดเร็วและเด็ดขาดเมื่อถึงเวลาที่ต้องทำการตัดสินใจ ถึงแม้ธุรกิจครอบครัว 56% จะระบุว่าระดับความไม่แน่นอนในประเทศเกี่ยวข้องกับปัจจัยที่ทำให้ธุรกิจมีโอกาสเติบโตขึ้น (เช่น ภาษี กฎระเบียบ และการให้สินเชื่อ) ซึ่งเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับผลการสำรวจในปีก่อนหน้า ทั้งนี้นอกเหนือจากความเสี่ยงด้านกลยุทธ์ การเงินและการดำเนินงานแล้ว ธุรกิจครอบครัวยังเผชิญกับความเสี่ยงเกี่ยวกับครอบ ครัว เช่น ขาดการวางแผนสืบทอดกิจการ การหย่าร้าง ความตายและความขัดแย้งในครอบครัว ทั้งนี้พบว่ามีความเชื่อมโยงกันระหว่างความกล้าเสี่ยงและความคุ้มค่าทางธุรกิจ ซึ่งอาจนำไปสู่พฤติกรรมหลีกเลี่ยงความเสี่ยงเพื่อรักษาความมั่งคั่งของครอบครัวก็เป็นได้

| คอลัมน์ : บิสิเนสแบ็กสเตจ
|โดย : ผศ.ดร.เอกชัย อภิศักดิ์กุล คณบดีคณะวิทยพัฒน์ และผู้อำนวยการศูนย์ธุรกิจครอบครัว มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
|หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ หน้า 35 ฉบับ 3395 ระหว่างวันที่ 26-29 ส.ค2561
e-book-1-503x62-7