สธ. ห่วงภัยน้ำท่วม แนะป้องกันโรคและภัยสุขภาพด้วยสุขบัญญัติ

02 ก.ย. 2561 | 09:49 น.
กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ห่วงใยภัยน้ำท่วม แนะสุขบัญญัติช่วยได้ ด้วยการทำร่างกายให้สะอาด กินอาหารสุก ดื่มน้ำสะอาด หยุดการแพร่ระบาด การป้องกันอุบัติภัยสามารถปฏิบัติได้เพื่อป้องกันโรคและภัยสุขภาพที่มากับน้ำท่วม

 

[caption id="attachment_311591" align="aligncenter" width="503"] นายแพทย์ภานุวัฒน์ ปานเกตุ นายแพทย์ภานุวัฒน์ ปานเกตุ[/caption]

นายแพทย์ภานุวัฒน์  ปานเกตุ รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) เปิดเผยว่า ในช่วงนี้มีหลายจังหวัดที่มีน้ำท่วมขังในหลายพื้นที่  และมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำ ซึ่งกรมอุตุนิยมวิทยาได้ประกาศแจ้งเตือนให้ประชาชนเตรียมความพร้อมและยกของขึ้นที่สูง และเฝ้าระวังโรคที่อาจเกิดขึ้นได้ระหว่างน้ำท่วม เช่น โรคฉี่หนู โรคน้ำกัดเท้า โรคตาแดง โรคอุจจาระร่วง และแนะใช้หลักสุขบัญญัติป้องกันโรคและภัยสุขภาพ ซึ่งปฏิบัติได้ทุกวัน ทุกคน ทุกวัย ทั้งนี้ แกนนำสุขภาพในชุมชน ได้แก่ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ควรเตรียมความพร้อมในการช่วยเหลือประชาชนทั้งก่อน ระหว่าง และหลังน้ำท่วม ด้วยการวางแผนป้องกันการเกิดน้ำท่วม การเฝ้าระวังพฤติกรรมสุขภาพในชุมชน การดูแลสุขภาพเบื้องต้นในภาวะน้ำท่วม การให้คำแนะนำคนในชุมชน และเฝ้าระวังทำความสะอาด และฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมหลังน้ำลด

นายชาญยุทธ พรหมประพัฒน์ ผู้อำนวยการกองสุขศึกษา กล่าวแนะหลักสุขบัญญัติป้องกันโรคและภัยสุขภาพ 4 วิธี ร่างกายสะอาด กินอาหารสุก ดื่มน้ำสะอาด หยุดการแพร่ระบาด และป้องกันอุบัติภัย ดังนี้ 1. ร่างกายสะอาด อาบน้ำชำระล้างร่างกายให้สะอาด ล้างมือ ล้างเท้าให้สะอาด อย่าใช้มือ แขน หรือผ้าสกปรกขยี้ตาหรือเช็ดตา และระวังอย่าให้น้ำสกปรกกระเด็นเข้าตา ถ้าลุยน้ำให้สวมรองเท้าบูท 2.กินอาหารสุก ดื่มน้ำสะอาด เช่น ต้มน้ำสุก หรือน้ำบรรจุขวดที่ผ่าน อย. กินอาหารที่สะอาด ปรุงอาหารให้สุกด้วยความร้อน สำหรับข้าวอาหารกล่องที่ได้รับบริจาคให้รับประทานเลยไม่ควรเก็บไว้ทาน 3.หยุดการแพร่ระบาด ด้วยการถ่ายลงส้วม ห้ามถ่ายลงน้ำที่ท่วมอยู่ ทิ้งเศษอาหารในถุงพลาสติก และปิดปากถุงให้มิดชิด ไม่ให้แมลงวันตอม และห้ามทิ้งลงในน้ำ ให้ทิ้งในถังขยะที่เจ้าหน้าที่เตรียมไว้ให้ 4.ป้องกันอุบัติภัย ด้วยการระวังสัตว์มีพิษที่มากับน้ำ ตัดระบบไฟฟ้าในบ้านป้องกันไฟฟ้าช็อต และระวังการพลัดตกน้ำหรือลื่นล้ม ทั้งนี้ หากมีบาดแผลเป็นแผลอักเสบ เป็นหนอง มีไข้เฉียบพลัน ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้ออย่างรุนแรง ให้รีบพบแพทย์หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเพื่อรักษาทันที

ทั้งนี้ ประชาชนสามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมด้านสื่อความรู้การป้องกันโรคจากภัยน้ำท่วมในรูปแบบที่หลากหลายและเข้าใจง่ายผ่านทางเว็บไซต์คลังความรู้ด้านสุขภาพ (healthydee.moph.go.th) ของกระทรวงสาธารณสุขได้


ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว