ยุทธศาสตร์ ‘เศรษฐกิจดิจิตอล’ เทียบแผนขับเคลื่อน ‘พรชัย-อุตตม’

14 ก.พ. 2559 | 04:00 น.
ในที่สุดคณะกรรมการเตรียมการด้านดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้ารักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ได้เห็นชอบ (ร่าง) แผนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และ (ร่าง) แผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัลของประเทศไทย (พ.ศ.2559-2561) รวมถึงการพัฒนา Data Center และ โครงการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ มุ่งนำพาประเทศสู่ DIGITAL THAILAND

ย้อนรอยยุทธศาสตร์"เศรษฐกิจดิจิตอล"

นโยบายเศรษฐกิจดิจิตอลเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจใหม่ โดยการผลักดันของ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าทีมเศรษฐกิจขณะนั้น โดยมี นายพรชัย รุจิประภา อดีตรัฐมนตรีกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือ ไอซีที ทำหน้าที่เป็นเฟืองจักรขับเคลื่อน

โดยได้เตรียมการร่างกฎหมายเกี่ยวกับเศรษฐกิจดิจิตอลไว้ 10 ฉบับ และเปลี่ยนกระทรวงไอซีที มาเป็นกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดยจะมีคณะกรรมการนโยบายดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ที่มีนายกฯเป็นประธาน เป็นคณะกรรมการระดับชาติ ทำหน้าที่กำหนดนโยบาย แต่ระหว่างที่รอกฎหมายมีผลบังคับใช้นี้ รัฐบาลสั่งตั้งคณะกรรมการเตรียมการด้านดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ขึ้นมาทำหน้าที่ไปพลางก่อน

ต่อมาพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ปรับครม. เปลี่ยนทีมเศรษฐกิจ ให้ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ มานั่งตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ และได้แต่งตั้งนายอุตตม สาวนายน นั่งตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงไอซีที ซึ่งการปรับเปลี่ยนคณะรัฐมนตรี (ครม.) ครั้งนั้นถูกตั้งคำถามว่า เศรษฐกิจดิจิตอลที่หม่อมอุ๋ยชูเป็นนโยบายขับเคลื่อน จะถูกสานต่อหรือไม่

แต่ทว่าในวันนี้เริ่มเห็นเค้าโครงที่ชัดเจนว่า รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่มีดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เป็นรองนายกรัฐมนตรี เห็นด้วยกับการขับเคลื่อนเพื่อมุ่งนำพาประเทศสู่ DIGITAL THAILAND แต่น่าสนใจว่า เส้นทางสู่เป้าหมายดังกล่าวจะเหมือนเดิมหรือไม่

ยุทธศาสตร์ศก.ดิจิตอลยุค"พรชัย"

ในยุคของ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร ที่มอบหมายให้ นายพรชัย รุจิประภา อดีตรัฐมนตรีไอซีที บริหารจัดการพร้อมวางโรดแมป คือ ปรับเปลี่ยนภารกิจและชื่อกระทรวงไอซีที เป็นกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เพื่อผลักดันยุทธศาสตร์ที่วางไว้ 5 ด้าน คือ แต่งตั้งคณะกรรมการเตรียมการด้านดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ตามประกาศระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2558 ให้แต่งตั้งคณะทำงาน 5 คณะ ประกอบด้วย 1. คณะทำงานบรอดแบนด์แห่งชาติ 2. คณะทำงานศูนย์ข้อมูลในประเทศ (Data Center) 3. คณะทำงานด้านการส่งเสริมการค้าผ่านสื่อดิจิทัล การส่งเสริมธุรกิจเกิดใหม่ดิจิทัล และการส่งเสริมเนื้อหาดิจิทัล 4. คณะทำงานการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Life-long Learning) และ 5. คณะทำงานติดตามกฎหมายเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล เพื่อจัดทำแผนการดำเนินงานด้านต่างๆ ให้สอดคล้องกับการก้าวเข้าสู่เศรษฐกิจและสังคมดิจิตอลของประเทศไทย

ส่วนแผนยุทธศาสตร์เพื่อการขับเคลื่อน คือ 1. การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิตอล (Hard Infrastructure) จัดตั้งให้บริการสำหรับธุรกิจต่างชาติที่จะเข้ามาลงทุนในประเทศไทย ทั้งในธุรกิจเทคโนโลยีสารสนเทศ (เช่น การมาตั้ง data center การให้บริการ Cloud Computing การมาร่วมทุนในธุรกิจโทรคมนาคม และซอฟต์แวร์ แอพพลิเคชัน ฯลฯ) หรือธุรกิจอื่น ๆ ที่ใช้ประโยชน์จากการสื่อสารที่มีคุณภาพในการเชื่อมต่อกับโลก 2. การสร้างความมั่นคงปลอดภัย และความเชื่อมั่นในการทำธุรกรรม ด้วยเทคโนโลยีดิจิตอล (Soft Infrastructure) 3. โครงสร้างพื้นฐานเพื่อส่งเสริมการให้บริการ (Service Infrastructure) 4. การส่งเสริมและสนับสนุนดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจ (Digital Economy Promotion) และ 5. ดิจิตอลเพื่อสังคมและทรัพยากรความรู้ (Digital Society) คือ การพัฒนาสังคมดิจิตอลที่มีคุณภาพ ด้วยการพัฒนาข้อมูลข่าวสารและบริการของรัฐต่าง ๆ ที่เอื้ออำนวยต่อคนทุกระดับ

"อุตตม" ดันร่างผ่านฉลุย

เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ในฐานะประธานคณะกรรมการเตรียมการด้านดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้เห็นชอบ(ร่าง)แผนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และ (ร่าง) แผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัลของประเทศไทย (พ.ศ.2559-2561) รวมถึงการพัฒนา Data Center และโครงการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ มุ่งนำพาประเทศสู่ DIGITAL THAILAND

ซึ่งนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีไอซีที ได้เขียนเฟซบุ๊กส่วนตัว แจกแจงรายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่ยุคดิจิตอล ที่เทคโนโลยีดิจิตอลจะหลอมรวมกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมทุกประเภท ซึ่งต่างประเทศกำลังแข่งขันกันพัฒนาในด้านนี้ ประเทศไทยจึงต้องเร่งพัฒนาเข้าสู่เศรษฐกิจและสังคมดิจิตอล โดยนำเทคโนโลยีมาตอบโจทย์ปัญหาเศรษฐกิจ และสังคมของประเทศให้ได้โดยเร็วที่สุด

ดันประเทศก้าวสู่ DIGITAL THAILAND

สาระสำคัญของร่างแผน ฉบับนี้ ของนายอุตตม สาวนายน ไม่แตกต่างไปจากของนายพรชัยมากเท่าใดนัก โดยส่วนที่เปลี่ยนไปคือแผนการขับเคลื่อนธุรกิจ ที่มีการปรับถ้อยคำให้มีความทันสมัย และสอดคล้องกับเศรษฐกิจดิจิตอลให้มากขึ้น

ซึ่งเป้าหมายของนายอุตตมนั้น จะนำพาประเทศไทยไปสู่ DIGITAL THAILAND หรือประเทศไทยที่สามารถสร้างสรรค์ และใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิตอลอย่างเต็มศักยภาพ ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน นวัตกรรม ข้อมูล ทุนมนุษย์ และทรัพยากรอื่นใด เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนตามนโยบายของรัฐบาล

พัฒนา 4 ระยะใน 20 ปี

โดยแผนพัฒนาดิจิทัลฯ ได้แบ่งการพัฒนา Digital Thailand ไว้ 4 ระยะ ภายใน 20 ปี คือ เริ่มจากการสร้างรากฐานด้านดิจิตอล การก้าวเข้าสู่เศรษฐกิจและสังคมดิจิตอล ที่ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วม การปฏิรูปสู่ความเป็น Digital Thailand อย่างเต็มศักยภาพ และท้ายสุดคือ การที่ดิจิตอลมีส่วนยกระดับประเทศไทยไปสู่ประเทศที่พัฒนาแล้ว ซึ่งแผนดังกล่าวมียุทธศาสตร์การขับเคลื่อน DIGITAL THAILAND 6 ด้าน ประกอบด้วย

1. พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิตอลประสิทธิภาพสูง ให้ครอบคลุมทั่วประเทศ 2. ขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยเทคโนโลยีดิจิตอล ,3. สร้างสังคมคุณภาพด้วยเทคโนโลยีดิจิตอล , 4. ปรับเปลี่ยนภาครัฐสู่การเป็นรัฐบาลดิจิตอล ,5. พัฒนากำลังคนให้พร้อมเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจและสังคมดิจิตอล และ 6. สร้างความเชื่อมั่นในการใช้เทคโนโลยีดิจิตอล

วางรากฐานดิจิตอลเพื่อก้าวกระโดด

ในช่วง 1 ปี 6 เดือนแรก ซึ่งเป็นระยะเวลาของการวางรากฐานดิจิตอลของประเทศให้พร้อม เพื่อเตรียมตัวก้าวกระโดดในช่วงถัดไป กระทรวงไอซีที กำลังเร่งดำเนินการหลายประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน 4 ด้าน ตัวอย่างเช่น ด้านการขยายโครงสร้างพื้นฐาน มี Free Wi-Fi 1 หมื่นจุดทั่วประเทศ บรอดแบนด์หรืออินเตอร์เน็ตความเร็วสูงเข้าถึงทุกหมู่บ้าน และมีการขยายความจุของเคเบิลใต้น้ำเป็น 2 เท่า ด้านเศรษฐกิจ มีการดำเนินการให้วิสาหกิจชุมชนและ SMEs สามารถใช้ประโยชน์จากดิจิตอลเพื่อการทำธุรกิจ โดยสร้างร้านค้าออนไลน์ชุมชนอย่างน้อย 1 หมื่นราย มีผู้ประกอบการ SMEs ค้าขายออนไลน์อย่างครบวงจร 1.5 หมื่นราย รวมถึงการสร้างให้ SMEs ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเข้าถึงแพลตฟอร์มออนไลน์ท่องเที่ยวกลาง (Tourism Thailand Open Platform (B2B)) ที่สร้างขึ้นใหม่ และมีการบ่มเพาะผู้ประกอบการ Tech Startup 1.5 พันรายต่อปี มี Smart City ซึ่งนำร่องที่ภูเก็ตและเชียงใหม่

ด้านสังคม จะมีการพัฒนาระเบียนสุขภาพอิเล็กทรอนิกส์ส่วนบุคคลนำร่องก่อนใน 4 จังหวัด มีศูนย์ดิจิตอลชุมชนต้นแบบ 600 แห่งทั่วประเทศ (และจะขยายไปทุกตำบลทั่วประเทศต่อไป) มีเกษตรกรมาใช้เทคโนโลยีดิจิตอล 1.6 พันราย มีการอบรมทักษะดิจิตอลให้ผู้ด้อยโอกาสและผู้สูงอายุ 4 พันคน มีระบบจัดการเรียนการสอนออนไลน์ในระบบเปิดสำหรับมหาชน (MOOC) และที่น่าตื่นเต้นที่สุดคือ จะเปิดตัวโมบายแอพพลิเคชันสอนภาษาอังกฤษแก่ประชาชน ที่นายกรัฐมนตรีสั่งการเร่งด่วนภายใน 1 เดือนนี้ด้วย

ส่วนด้านบริการภาครัฐ มีบริการภาครัฐในรูปแบบ Smart Service เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนและภาคธุรกิจ ถึง 79 บริการ และบริการโครงสร้างพื้นฐานกลางภาครัฐ

โดยโครงการดังกล่าวข้างต้นเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการวางรากฐานดิจิตอลของประเทศไทย ที่กระทรวงไอซีทีจะต้องเริ่มต้นทำงานอย่างรวดเร็ว และส่งมอบงานให้เป็นรูปธรรมที่สุด ถ้าครั้งนี้ประเทศไทยสามารถทำได้สำเร็จและทำอย่างต่อเนื่องจริงจัง ด้วยความสามัคคีกัน ก็จะนำพาประเทศไปสู่ความเป็นประเทศพัฒนาแล้วได้ในช่วง 10 - 20 ปีข้างหน้าได้

นอกจากนั้น การประชุมครั้งนี้ยังได้มีการพิจารณาให้ความเห็นชอบเรื่องสำคัญๆ อีกหลายเรื่อง ได้แก่ เห็นชอบ(ร่าง) แผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัลของประเทศไทย (พ.ศ. 2559-2561) ซึ่งกระทรวงไอซีทีได้มอบหมายให้สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ EGA รับผิดชอบดำเนินการจัดทำร่างแผนฯ ดังกล่าวขึ้น เพื่อกำหนดยุทธศาสตร์และแนวทางในการพัฒนารัฐบาลดิจิตอลให้ตอบสนองต่อความต้องการของภาคประชาชนและภาคธุรกิจ รวมถึงให้มีมาตรฐานเท่าเทียมกับระดับสากล โดยมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับข้อสังเกตของคณะกรรมการ ไปปรับปรุงให้แผนฯ มีความครอบคลุมสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ก่อนเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป

ยกเครื่องระบบไอทีไทย

การพัฒนาศูนย์ข้อมูลในประเทศ (Data Center) ซึ่งภาครัฐเตรียมยกเครื่องระบบ IT ก้าวสู่ยุค Digital Government เพื่อลดความซ้ำซ้อน ลดการใช้งบประมาณ มุ่งพัฒนาบริการสู่ประชาชน โดยยกระดับการบูรณาการศูนย์ข้อมูล (Data Center) สู่ระบบคลาวด์ (Cloud) พร้อมสนับสนุนภาคเอกชนพัฒนาบริการบนคลาวด์ ในรูปแบบ Software as a Service (SaaS) เพื่อให้บริการแก่ภาครัฐ ลดเวลาการจ้างพัฒนาระบบของหน่วยงาน ลดค่าใช้จ่าย และภาระในการดูแล โดยเฉพาะระบบที่เหมือนกันหรือคล้ายกัน เช่น ระบบการบริหารจัดการองค์กรภาครัฐ (Back Office) เป็นต้น นอกจากนี้ยังสามารถที่จะพัฒนาการบูรณาการข้อมูลระหว่างหน่วยงานภาครัฐ เพื่อนำมาสร้างบริการใหม่ๆ ให้แก่ประชาชนได้อีกด้วย

ติดเน็ต 3 หมื่นหมู่บ้าน

เรื่องสุดท้าย ที่ประชุมได้พิจารณาให้ความเห็นชอบโครงการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งรัฐบาลมุ่งหมายให้เกิดการพัฒนาโครงข่ายอินเตอร์เน็ตให้ครอบคลุม 3 หมื่นหมู่บ้านที่ยังขาดแคลนโครงข่ายอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง และทำการเพิ่มประสิทธิภาพโครงข่ายอินเตอร์เน็ตระหว่างประเทศเพื่อให้สามารถรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดของปริมาณการแลกเปลี่ยนข้อมูลดิจิตอล ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญในการผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางดิจิตอลของภูมิภาคอาเซียน (ASEAN Digital Hub) โดยจะขยายโครงข่ายอินเตอร์เน็ตระหว่างประเทศให้มีขนาดความจุรวมไม่น้อยกว่า 4 พันGbps

ในส่วนของวาระอื่นๆ ที่ประชุมยังได้รับทราบแผนงานโครงการนำร่องการบูรณาการนำสายสื่อสารลงดินพื้นที่โครงการถนนพหลโยธิน โดยจะดำเนินการนำสายสื่อสารของผู้ประกอบการลงใต้ดิน และรื้อถอนเสาไฟฟ้า รวมระยะทาง 20 กิโลเมตร ซึ่งมีสำนักงาน กสทช. รับผิดชอบดำเนินโครงการ ด้วย แม้ระดับนโยบายจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงแต่ต้องรอดูต่อไปว่าในแง่กฎหมายจะมีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,131 วันที่ 14 - 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559