บทบรรณาธิการ : อย่าเอาโรงเรียน เข้าตลาดหุ้น

01 ก.ย. 2561 | 10:27 น.
กลายเป็นที่ถกเถียงอย่างกว้างขวางทั้งในแวดวงตลาดหุ้น และแวดวงการศึกษา หลังจากบริษัท เอสไอเอสบี จำกัด (มหาชน) “เอสไอเอสบี” บริษัทเอกชนที่เป็นผู้รับใบอนุญาตในการจัดตั้งโรงเรียนนานาชาติสิงคโปร์ มีแผนจะเข้าจดทะเบียนและคาดจะซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในช่วงปลายปีนี้

logo (1)
ตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน พ.ศ. 2550 ที่ออกมาเพื่อกำกับดูแลโรงเรียนนานาชาติ นอกจากมาตรการกำกับดูแลโรงเรียนนานาชาติแล้ว ในหมายเหตุของกฎหมายยังระบุชัดเจนว่า “เพื่อให้เอกชนมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา โดยรัฐพร้อมให้การสนับสนุนด้านเงินอุดหนุน และสิทธิประโยชน์อย่างอื่นรวมทั้งส่งเสริมและสนับสนุนด้านวิชาการ ให้แก่สถานศึกษาของเอกชน”

book-2178586_960_720
ขณะที่มาตรา 22 บัญญัติว่า นิติบุคคลผู้ขอรับใบอนุญาตจัดตั้งโรงเรียนนานาชาติ จะต้องมีคนไทยเป็นเจ้าของหุ้นหรือทุนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง หรือ 50% ของจำนวนหุ้นหรือทุนทั้งหมด นอกจากนี้ในมาตรา 25 ยังกำหนดให้บริษัทที่ได้รับใบอนุญาตโรงเรียน โอนกรรมสิทธิ์ สิทธิครอบครองในที่ดิน สิทธิเหนือพื้นดิน สิทธิเก็บกินหรือสิทธิการเช่าที่ปลอดจากภาระผูกพันอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่ระบุไว้ในคำขอรับใบอนุญาตให้แก่โรงเรียนในระบบภายใน 120 วัน นับแต่วันได้รับใบอนุญาต

 

ที่สำคัญในมาตรา 45 ยังกำหนดวัตถุประสงค์การนำกำไรของโรงเรียนไปใช้ไว้อย่างชัดเจน เพื่อป้องกันไม่ให้เจ้าของโรงเรียนมีการแสวงหากำไรเกินควร ดังนี้ ผลกำไรที่ได้จากการดำเนินกิจการของโรงเรียนในระบบในแต่ละปี ให้คณะกรรมการบริหารจัดสรร ดังต่อไปนี้ 1. ให้โรงเรียนในระบบที่ได้รับการอุดหนุนจากรัฐจัดสรรเงินจากผลกำไรเข้ากองทุนส่งเสริมโรงเรียนในระบบตามที่คณะกรรมการกำหนดซึ่งต้องไม่เกิน 3% 2. จัดสรรเข้ากองทุนสำรองไม่น้อยกว่า 20% 3. จัดสรรให้แก่ผู้รับใบอนุญาตไม่เกิน 40%

090861-1927-9-335x503

 

ดังนั้นเราจึงไม่เห็นด้วยที่จะให้บริษัทใดบริษัทหนึ่งที่เป็นเจ้าของโรงเรียนนานาชาติ หรือสถาบันการศึกษา เข้าไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่มุ่งแต่จะแสวงหากำไรให้กับผู้ถือหุ้น แทนที่จะมุ่งในเรื่องของการพัฒนาการเรียนการสอน คุณภาพครูและนักเรียนเป็นหลัก เพราะต้องไม่ลืมว่าโรงเรียนเป็นองค์กรที่ดำเนินการโดยไม่มุ่งหวังผลกำไร

บทบรรณาธิการ หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3397 ระหว่างวันที่ 2-5 ก.ย.2561

e-book-1-503x62-7