แฟรนไชส์ "ดีแทค" ระส่ำ! หลังทยอยยกเลิกสัญญาช็อป 200 สาขา ก่อนต้นปี 62

01 ก.ย. 2561 | 06:36 น.
หลังจากที่เทเลนอร์ฯ เข้ามาถือหุ้นใน ดีแทค หรือ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด(มหาชน) ตั้งแต่ปี 2548  แต่ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ดีแทค ปรับโครงสร้างภายในองค์กรมุ่งสู่การเป็นองค์กรดิจิตอลตามกระแสการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี  ส่วนหนึ่งก็เพื่อลดต้นทุนในการบริหารธุรกิจ และอีกส่วนคือเพื่อลดขนาดโครงสร้างองค์กรให้เกิดความเข้มแข็ง หลังสูญเสียตำแหน่งเบอร์สองให้กับ ทรูมูฟเอช dtac-center1

จากที่ก่อนหน้านี้ ดีแทค ก็มีกระแสข่าวการปรับลดพนักงาน 1,000 คนภายในสิ้นปีนี้ ผู้บริหาร ดีแทค ก็ออกมาสยบข่าวลือไม่มีแน่นอน แต่จะปรับลดพนักงานลงให้เหลือ 4,000 คน จาก 4,300 คน ภายในปี 2563 เฉลี่ยปีละ 100  คน ขณะที่ฝ่ายบริหาร ก็โบกมือลา ไม่ว่าจะเป็น นายสิทธิโชค นพชินบุตร รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มการตลาด เช่นเดียวกับนายลาร์ส นอร์ลิ่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ของ ดีแทค ที่ลาออกก่อนครบวาระ และได้แต่งตั้ง นางอเล็กซานดรา ไรช์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารคนใหม่ เข้ามารับตำแหน่ง

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นสะท้อนและส่งสัญญาณอะไรหลายๆ อย่าง โดยเฉพาะแฟรนไชส์ "ดีแทค" ที่ก่อนหน้านี้ก็มีกระแสข่าวเช่นกันว่าจะทยอยยกเลิกสัญญา  ซึ่งสุดท้ายเรื่องดังกล่าวก็มีมูลความจริง ปฏิเสธไม่ได้ว่าการเติบโตของ ดีแทค นอกเหนือจากวิธีบริหารจัดการแล้ว ช่องทางก็เป็นอาวุธสำคัญในการเข้าถึงลูกค้า   นั่นจึงเป็นที่มาที่ ดีแทค ได้ลงทุนเปิดช็อปภายใต้ชื่อ " DTAC" พร้อมกับขยายแขนขาในรูปแบบแฟรนไชส์ ให้กับคู่ค้าเพื่อเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการเพิ่มยอดผู้ใช้งาน

**ทยอยปิด 200 สาขา ก่อนต้นปี62

ขณะที่แหล่งข่าวจากวงการโทรศัพท์เคลื่อนที่ เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ดีแทค ได้ส่งทีมงานแจ้งเจ้าของแฟรนไชส์ช็อปดีแทคกว่า 200 สาขา โดยให้เหตุผลว่า "เนื่องจากแนวโน้มกระแสออนไลน์ที่เพิ่มมากยิ่งขึ้น หากยังให้ทางแฟรนไชส์ดูแลต่อไปกำไรอาจจะไม่คุ้มกับการลงทุน แต่ที่จริงแล้วผู้ประกอบการมองว่าการจะทำกำไรได้มั้ยนั้นขึ้นอยู่กับเจ้าของแฟรนไชส์เอง"  แหล่งข่าวกล่าว

แหล่งข่าวยังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ดีแทคต้องการยกเลิกสัญญาภายในเดือนมกราคม 2562 ซึ่งการยกเลิกสัญญาครั้งนี้ แม้ ดีแทค มีออพชันให้เพราะกังวลว่าจะโดนร้องเรียน โดยจะต่อสัญญาให้อีก 1 ปี แต่หลังจากนั้นก็ต้องยกเลิกสัญญาอยู่ดี

"ส่วนพนักงานหน้าร้านที่จากเดิมแต่ละช็อปมีประมาณ 20 คน แต่ที่ผ่านมามีเกณฑ์เอาออก 30% ซึ่งดำเนินมาเรื่อยๆ โดยเอาคนออกและไม่รับเพิ่มด้วยเหตุผลต้องการที่จะลดต้นทุนลง ไม่แน่ใจว่าสิ่งที่ ดีแทค ทำอยู่นี่เค้าคิดอย่างไร"

**ยกเลิกสัญญาไม่เป็นธรรม

ขณะที่ผู้ซื้อแฟรนไชส์ตั้งแต่เริ่มต้นธุรกิจ จะย้ายไปเปิดแฟรนไชส์ของเจ้าอื่นก็ไม่ได้ บางรายทำร่วมกับ ดีแทค มาเกือบชั่วชีวิต อยู่ๆ ก็ไปยกเลิกสัญญาไม่ทำร่วมกันต่อแล้ว

"ทำร่วมกันมา 20 ปี พอถึงเวลาบอกจะยกเลิกสัญญา มันไม่เป็นธรรม เริ่มต้นด้วยกันหาลูกค้าด้วยกัน รายเล็กเจอปัญหานี้ก็อยู่ยาก ส่วนรายใหญ่คงไม่มีปัญหาเท่าไหร่สายป่านพอมีหันไปใช้ชื่อช็อปของตนเองหรือใช้แบรนด์ผู้ผลิตมือถือ เช่น หัวเว่ย ซัมซุง เป็นต้น"

090861-1927-9-335x503

**ชดเชยไม่คุ้ม

แม้ ดีแทค จะมีการชดเชยด้วยการตีมูลค่าของแต่ละช็อป ซึ่งก็ถือว่าไม่คุ้มกับรายได้ที่เจ้าของแฟรนไชส์ต้องสูญเสียไป เพราะบางรายทำแฟรนไชส์ร่วมกันมากว่า 10-20 ปี ขณะที่พนักงานหน้าร้านที่มีอยู่ รวมๆ แล้วกว่า 1,000 คน จะลอยแพเลยหรือ เนื่องจากพนักงานที่เคยทำงานกับสาขา จะต้องเข้ามาสมัครและสัมภาษณ์ใหม่แต่ จะรับหรือไม่รับเข้าทำงานนั้นขึ้นอยู่กับทาง ดีแทค ซึ่งบางคนทำงานมา 5-6 ปี ฐานเงินเดือนก็จะสูง แต่ต้องไปเริ่มใหม่ แต่ดีแทคกลับบอกว่าไม่มีนโยบายตรงส่วนนี้

 "ตั้งแต่มี ฝรั่ง เข้ามาบริหารจัดการก็ให้พนักงานออกไปเยอะแล้ว ส่วนคนที่อยู่ก็ไม่กล้าเสนออะไรมากเพราะรักษาเก้าอี้ตัวเองไว้"  แหล่งข่าวกล่าว

**ยอมรับลดต้นทุน

ขณะที่แหล่งข่าวจาก ดีแทค กล่าวว่า ดีแทค จะทยอยยกเลิกแฟรนไชส์ 200 สาขาให้แล้วเสร็จภายในต้นปี 2562 แต่ในส่วนของช็อป "ดีแทค" ประมาณ 100-200 ช็อป ที่ได้ลงทุนเองจะยังคงให้บริการต่อ แต่จะไปมุ่งเน้นทางออนไลน์เพิ่มมากขึ้นเพื่อลดต้นทุน

การปรับยุทธศาตร์ด้วยการทยอยเลิกสัญญาแฟรนไชส์ "ดีแทค" ครั้งนี้ ถือว่าเป็นภารกิจที่ท้าทายของ ซีอีโอ คนใหม่จะบริหารจัดการอย่างไร น่าจับตายิ่ง e-book-1-503x62-7