มองสิงคโปร์คู่ขนาน จาก"ลี กวน ยู" สู่การพัฒนาไร้ขีดจำกัด

01 ก.ย. 2561 | 07:55 น.
ย้อนไปเมื่อ 3 ปีที่แล้วผมเป็นหนึ่งคนที่ได้ไปเยือนสิงคโปร์ในรูปแบบของการท่องเที่ยว ยอมรับว่าไม่ทราบจริงๆ ว่าในปี 2015 คือปีแห่งการเฉลิมฉลองครบรอบ 50 ปีของเกาะแห่งนี้ จนเมื่อไปถึงได้พบเจอกับการโฆษณา โปรโมชันต่างๆจากร้านค้าและการกำหนดการจัดพิธีเฉลิมฉลองในสถานที่สำคัญ ทำให้รู้สึกว่าการลงทุนซื้อตั๋วเดินทางมาในครั้งนี้เหมือนได้โบนัสคูณ 2 ที่สำคัญยังเพิ่มความตื่นเต้นในการเรียนรู้ ไม่เฉพาะแค่ กิน ดื่ม เที่ยว หรือช็อปทั่วไป แต่ยังสร้างพลังในการมองถึงความสำเร็จของเกาะเล็กๆ ผืนนี้ว่ามีฐานรากมาจากอะไร และคำตอบที่นึกได้โดยไม่ต้องสืบค้น คือ บุรุษที่ชื่อ" ลี กวน ยู"

กว่า 30 ปีในการเป็นนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ของลี กวน ยู ได้แปลงโฉมเกาะแห่งนี้ให้กลายเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจโลก ซึ่งในช่วงทศวรรษแรกของผู้นำรายนี้ได้เปลี่ยนแปลงระบบเศรษฐกิจจากที่พึ่งพาการค้าแบบซื้อมาขายไปให้กลายเป็นระบบอุตสาหกรรมที่มีการจ้างงานมากขึ้น ด้วยกลยุทธ์ในการชวนบริษัทข้ามชาติใหญ่ๆ มาลงทุน ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาท่าเรือให้มีศักยภาพสูงสุด และปักหมุดตัวเองให้เป็นศูนย์กลางทางการเงินที่เชื่อมต่อตลาดการเงินเอเชียเข้ากับยุโรปและอเมริกา ไม่เพียงเท่านั้น นายลี กวน ยู ยังตระหนักว่า ข้าราชการคือตัวจักรที่สำคัญที่จะทำให้ประเทศก้าวหน้า จึงได้เปิดโอกาสให้ทุกคนที่พร้อมพัฒนาประเทศสามารถมาเป็นส่วนหนึ่งของการเป็นข้าราชการ โดยไม่คำนึงว่า วุฒิการศึกษาเป็นอย่างไร ขอแค่เป็นข้าราชการที่มีประสิทธิภาพก็พอ และอีกหนึ่งปณิธานที่แน่วแน่จากนายกรัฐมนตรีรายนี้เคยกล่าวไว้ คือ “ตราบใดที่ตนเป็นหัวหน้ารัฐบาล คณะรัฐบาลของตนจะต้อง
มือสะอาด ไม่มีการคอร์รัปชัน ทุจริต ปราศจากข้อครหา มลทินใดๆ ทั้งสิ้น”

Singapore

นอกจากวางฐานรากทางการพัฒนาเศรษฐกิจ ในยุคแรกของสิงคโปร์ ก็เร่งดำเนินการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเช่นกัน แม้ครั้งหนึ่งคณะกรรมการการเคหะของอังกฤษถึงกับเคยระบุไว้ว่า เมื่อปี 1947 เป็นหนึ่งในสลัมที่แย่ที่สุดในโลก แต่ภารกิจการพัฒนาสิงคโปร์ของพรรคกิจประชาชนไม่สนคำกล่าวดังกล่าวใดๆ มุ่งหน้ายกระดับโครงสร้างพื้นฐาน โดยเริ่มต้นจากการตัดสินใจถมทะเลครั้งแรกในปี 1819 จากนั้นเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน สิงคโปร์ได้ถมทะเลไปแล้วกว่า 137 ตร.กม. หรือคิดเป็นร้อยละ 20% ของพื้นที่ทั้งหมด และไม่หยุดที่จะถมทะเลอีก 100 ตร.กม. ในปี 2030

090861-1927-9-335x503

ตัวอย่างของการถมทะเลในวันวานที่น่าสนใจจนทำให้วันนี้กลายเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญได้แก่ สนามบิน ชางงี (Changi) บนพื้นที่ 8.7 ตร.กม. ก็สร้างจากการถมทะเลในปี 1975 และจากนั้นก็ถมอย่างต่อเนื่องจนสร้างเทอร์มินัล 4 เสร็จสมบูรณ์ อาคารผู้โดยสารแห่งแรกที่นำเสนอระบบ FAST (Fast and Seamless Travel) คือใช้เทคโนโลยีตรงขาออก ซึ่งประกอบด้วย จุดเช็กอิน อัตโนมัติ จุดฝากกระเป๋าอัตโนมัติ จุดตรวจหนังสือเดินทางอัตโนมัติ และจุดผ่านขึ้นเครื่องอัตโนมัติ ซึ่งสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย และใช้ระบบไอทีทั้งระบบ หรือจะเป็นการถมทะเลที่เกาะ Jurong ที่แต่เดิมมี 7 เกาะให้กลายเป็นจูล่งเกาะใหญ่เพียงเกาะเดียวบนพื้นที่มากถึง 12,500 ไร่ ปัจจุบันกลายเป็นศูนย์กลางปิโตรเคมีของประเทศ และการถมทะเลอีกจุดที่น่าสนใจ คือ การถมทะเลที่เกาะ Semakau โดยแต่เดิมมีขนาดพอๆกับสวนลุมพินีซึ่งเป็นเพียงหมู่บ้านชาวประมง แต่เมื่อถมเสร็จพื้นที่ดังกล่าวกลายเป็นแหล่งกำจัดขยะของสิงคโปร์ตั้งแต่ปี 1999 โดยวิธีการจัดการคือการสร้างเป็นโรงงานกำจัดขยะอยู่ริมเกาะทำหน้าที่เผาขยะที่รีไซเคิลไม่ได้ แล้วเอาเถ้าถ่านมาอัดเป็นก้อนถมลงไปในผืนนํ้าซึงคาดว่าจะเต็มภายใน 40 ปี

 

ลี กวน ยู รู้ดีว่าโครงสร้างพื้นฐานคือรากแก้วในการพัฒนาระบบเศรษฐกิจโลก จึงได้หั่นพื้นที่ร้อยละ  22% ของ 710 ตร.กม. (หรือมีขนาดไม่ถึงครึ่งของกทม.) ให้เป็นสาธารณูปโภคพื้นฐาน เช่น ถนน ระบบขนส่ง สนามบิน และหั่นอีกร้อยละ 20% เป็นสถานที่ทำงาน ต่อมาอีกร้อยละ 20% เป็นพื้นที่พักผ่อน โดยนอกจากสถานที่ท่องเที่ยวที่เราไป ยังควบรวมไปถึงโรงเรียน ศูนย์กีฬาและสวนสาธารณะ เขตอนุรักษ์ธรรมชาติ ส่วนอีก ร้อยละ 19% เป็นที่อยู่อาศัยและร้อยละ 20 % สุดท้ายเป็นส่วนงานด้านความมั่นคง พื้นที่ของกองทัพ ที่เก็บนํ้าและพื้นที่รอการพัฒนาในอนาคต

8488070877674

ระยะเวลาเพียง 3 ทศวรรษ ประเทศสิงคโปร์ได้เปลี่ยนจากประเทศที่รุมเร้าด้วยปัญหาให้กลายเป็นประเทศที่รํ่ารวยที่สุด มีท่าเรือที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก มีสนามบินที่ดีที่สุดในโลก และมีอัตราการขยายตัวที่สูงในทุกปี เป็นประเทศที่ได้ชื่อว่ามีความโปร่งใส และรั้งอันดับต้นๆ อีกหลากหลายตำแหน่ง แม้จะจดความคิดแบบย้อนหลังไป
หน่อยสำหรับทัศนาจรในครั้งนี้ แต่ทุกครั้งที่ได้ไปเยือนเกาะเล็กๆ แห่งนี้กลับมีสิ่งใหม่ให้เราได้ประหลาดใจ
อยู่เสมอ

 

สิ่งที่เล่ามาข้างต้นเป็นเพียงส่วนเล็กๆ ของการพัฒนาตามมุมคิดของลี กวน ยู ยังมีอีกหลากหลายแง่มุมที่ไม่ได้นำเสนอ อาทิ ความท้าทายในการสร้างสมดุลของทรัพยากรที่หลากหลายเชื้อชาติ การเป็นประเทศที่มีการศึกษาที่ดีที่สุด การพัฒนาภาคบริการทางการเงิน และอื่นๆ อีกมากมาย หากมีโอกาสจะขอนำมาเล่าใหม่อีกครั้ง เพราะรัฐบุรุษท่านนี้
ยังมีอะไรที่น่าค้นหาอีกมากมาย

 

ไม่เพียงเท่านั้นล่าสุดการท่องเที่ยว สิงคโปร์ (Singapore Tourism Board- STB) ร่วมกับวอร์เนอร์ บราเดอร์ส เปิดตัว ภาพยนตร์โรแมนติกคอมมิดี้ร่วมสมัย Crazy Rich Asians ซึ่งมีประเทศสิงคโปร์เป็นสถานที่ถ่ายทำหลักนำเสนอ ความหลากหลายและสีสันของความเป็นเมือง อาหารนานาชนิดของสิงคโปร์ รวมทั้งวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของคนสิงคโปร์ผ่านเรื่องราวที่สนุกสนานของตัวละครซึ่งเป็นนักแสดงจากเอเชียทั้งหมด การพัฒนาที่ผนวกความหลากหลายไว้หนึ่งเดียว คือให้ “สิงคโปร์” คือประตูที่ทรงพลังอันดับหนึ่งของอาเซียนไม่ว่าเข็มศักราชจะหมุนเวียนอีกกี่ปีก็ตามก็เป็นได้

หน้า 28 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3397 ระหว่างวันที่ 2 - 5 กันยายน 2561

e-book-1-503x62-7