รถไฟไทย-จีน .. ความร่วมมือที่ยังหาจุดสิ้นสุดไม่เจอ

16 ก.พ. 2559 | 00:00 น.
การประชุมหารือร่วมกันระหว่างไทย-จีน ล่วงเลยมาแล้วถึง 9 ครั้งย่างเข้าสู่ครั้งที่10 โครงการรถไฟไทย-จีน ใช่ว่าความร่วมมือจะได้ข้อสรุปที่ชัดเจนทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง ต้นทุนโครงการ อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ หนำซ้ำการพบกันครั้งล่าสุดฝ่ายจีนยื่นข้อเสนอใหม่จะลงทุนทางเดี่ยว ในบางช่วงบางตอน จากเดิมที่เป็นทางคู่ขนาดทางมาตรฐาน 1.435 เมตร ตลอดแนวเส้นทางช่วงหนองคาย-นครราชสีมา และกรุงเทพฯ-แหลมฉบัง ทำให้สังคมเกิดความกังขาว่าเกิดอะไรขึ้นกับโครงการนี้!! ทั้งที่ช่วงปลายปี 2558 ตัวแทนของทั้ง 2 ฝ่ายได้ร่วมถ่ายภาพประชาสัมพันธ์ พิธีเริ่มต้นโครงการความร่วมมือรถไฟไทย-จีนในเชิงสัญลักษณ์ ณ สถานีเชียงรากน้อย ปทุมธานี

[caption id="attachment_31527" align="aligncenter" width="500"] รถไฟไทย-จีน รถไฟไทย-จีน[/caption]

ดังนั้น การประชุมร่วมกันครั้งที่ 10 กำหนดจะจัดขึ้นช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์นี้ ที่ปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน จะได้ข้อสรุปอย่างไร ขณะที่ “นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม คาดหวังว่าจะได้เห็นความชัดเจนในเรื่องต้นทุนโครงการ ตลอดจนรายละเอียดปลีกย่อยต่างๆโดยเฉพาะการยอมรับข้อเสนอเรื่องสัดส่วนการลงทุนระหว่างฝ่ายไทยและฝ่ายจีน ที่ฝ่ายไทยเสนอให้ฝ่ายจีนลงทุนในสัดส่วน 60% และฝ่ายไทยลงทุน 40%

เริ่มต้นโครงการอย่างมียุทธศาสตร์

สำหรับโครงการความร่วมมือรถไฟไทย-จีนนี้ เกิดขึ้นในคราวการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 22 เมื่อวันที่ 11-12 พฤศจิกายน 2557 ณ กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน โดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีไทยได้พบหารือกับนายหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีจีน และได้พูดคุยถึงเรื่องการจัดทำร่างบันทึกความเข้าใจแบบทวิภาคี ระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีน เกี่ยวกับการซื้อขายผลผลิตทางการเกษตร และการเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคมขนส่งทางรถไฟตามกรอบยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของไทย พ.ศ. 2558-2565
หลังจากนั้น ได้มีการลงนามกรอบความร่วมระหว่างประเทศถึง 2 ฉบับ ครั้งแรก เป็นการลงนามในบันทึกความเข้าใจ (Memorandum of Understanding : MOU) ว่าด้วยความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยกับจีน ในการพัฒนาโครงการรถไฟ เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2557 พร้อมจัดตั้งคณะกรรมการบริหารร่วมขึ้นใหม่ชุดหนึ่ง เพื่อกำกับดูแลการดำเนินการตามบันทึกความเข้าใจฉบับนี้ ส่วนครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2558 ได้มีการลงนามในกรอบความร่วมมือ (The Framework of Cooperation : FOC) เพื่อกระชับความร่วมมือในการพัฒนารถไฟทางคู่

ย้อนรอยร่วมหารือ 9 ครั้ง

ย้อนรอยการประชุมร่วมที่ผ่านมานั้น ทั้งฝ่ายไทยและฝ่ายจีนต่างผลัดกันเป็นเจ้าภาพ ครั้งแรกเริ่มเมื่อวันที่ 21-22 มกราคม 2558 ที่กระทรวงคมนาคม ครั้งที่ 2 วันที่ 11 - 12 กุมภาพันธ์ 2558 ณ กรุงปักกิ่ง ครั้งที่ 3 วันที่ 10 - 11 มีนาคม 2558 ณ กระทรวงคมนาคม ครั้งที่ 4 วันที่ 6 - 8 พฤษภาคม 2558 ณ เมืองคุนหมิง ครั้งที่ 5 วันที่ 30 มิถุนายน – 2 กรกฎาคม 2558 ณ จังหวัดนครราชสีมา และกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 6 วันที่ 6 - 8 สิงหาคม 2558 ณ นครเฉิงตู ครั้งที่ 7 วันที่ 10-12 กันยายน 2558 ณ กรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 8 วันที่ 28-29 ตุลาคม 2558 ณ กรุงปักกิ่ง และครั้งที่ 9 วันที่ 3 ธันวาคม 2558 ณ กรุงเทพมหานคร

โดยการประชุมแต่ละครั้งพอที่จะสรุปความก้าวหน้าด้านต่างๆ ดังนี้คือ การศึกษาและออกแบบ ได้ศึกษาความเหมาะสม ระยะที่ 1 กรุงเทพ-แก่งคอย-นครราชสีมา แล้วเสร็จเมื่อ 31 สิงหาคม 2558 ส่วนรายงานด้านเทคนิค ประมาณราคา วิเคราะห์ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจและการเงินของโครงการฝ่ายจีนส่งให้ไทยเมื่อ 15 ตุลาคม 2558 ซึ่งฝ่ายจีนอยู่ระหว่างดำเนินการปรับแก้ไขรายงาน การศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ ระยะที่ 1 ส่วนรายงานการศึกษาทางเทคนิค และเศรษฐกิจ รายงานการออกแบบรายละเอียดสำหรับโครงการ ระยะที่ 1 โดยส่งให้ฝ่ายไทยวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2558

เช่นเดียวกับ รูปแบบความร่วมมือ ดำเนินโครงการในรูปแบบความร่วมมือ EPC (Engineering Procurement and Construction) โดยทั้งสองฝ่ายจะจัดตั้งบริษัทร่วมทุนระหว่างไทย-จีน โดย CRC นำเสนอข้อสัญญา EPC สำหรับงานโยธา และรูปแบบการลงทุนสำหรับโครงการฯ ซึ่งจะเป็นไปตามกฎหมายของประเทศไทยและหลักปฏิบัติสากล ทั้งสองฝ่ายเห็นชอบให้ รฟท. และบริษัทกิจการร่วมค้าด้านรถไฟของจีนเป็นผู้ลงทุนหลักในบริษัทร่วมทุนที่จะจัดตั้งขึ้น และให้มีการจัดตั้งคณะทำงานเพื่อพิจารณาร่างเอกสารที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งจัดทำร่างบันทึกความเข้าใจในการจัดตั้งบริษัทร่วมทุน และร่างข้อตกลงระหว่างผู้ถือหุ้นโดยเร็วที่สุด

สำหรับ รูปแบบด้านการเงิน ที่ได้ถกเถียงกันมาโดยตลอดนั้นทั้ง 2 ฝ่ายเห็นพ้องในหลักการว่า วิธีการจัดสรรแหล่งเงินจะมาจากหลายแหล่ง โดยรัฐบาลไทยจะระดมเงินทุนภายในประเทศเพื่อการดำเนินงานในขอบเขตงานของฝ่ายไทย และจะพิจารณาเงินกู้เงื่อนไขผ่อนปรน และ/หรือเงินกู้เชิงพาณิชย์จาก CEXIM สำหรับขอบเขตงานของฝ่ายจีน ทั้งนี้หากเงินกู้มีความเหมาะสมกระทรวงการคลังไทยจะกู้ในนามรัฐบาลไทย ส่วนเงื่อนไขเงินกู้ที่ CEXIM จะเสนอควรเป็นเงื่อนไขที่ดีกว่า เมื่อเปรียบเทียบกับแหล่งเงินอื่น (โดยเฉพาะเทียบกับเงินกู้ภายในประเทศ) ภายใต้วงเงินกู้ อายุเงินกู้ และเงินสกุลเดียวกัน ทั้งนี้เงื่อนไขเงินกู้ของ CEXIM จะแตกต่างกันตามรูปแบบการจัดตั้งบริษัทร่วมทุน โดยจะพิจารณาตามความเห็นของฝ่ายไทยหลักการที่ตกลงร่วมกันจากการประชุม 6 ครั้ง ภาวะตลาดการเงิน และโครงการที่มีลักษณะใกล้เคียงกันกับที่ CEXIM เคยให้เงินกู้ โดยทั้งสองฝ่ายเห็นชอบร่วมกันที่จะหารือเงื่อนไขเงินกู้ในรายละเอียดต่อไป

ส่วนเรื่อง การพัฒนาบุคลากรนั้น ดูเหมือนว่าจะมีความคืบหน้ามากกว่าส่วนอื่นๆ แม้ว่าความคืบหน้าของผลการเจราจรเหล่านี้จะก้าวหน้าในหลายส่วน แต่ก็ดูเหมือนว่าไม่ได้สร้างความมั่นใจให้กับประชาชนที่เฝ้ามองความสำเร็จของโครงการ ส่วนการเจรจาจะมีต่อไปอีกกี่ครั้ง จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีใครสามารถให้คำตอบที่ชัดเจนได้ ดังนั้นจึงมีลุ้นว่าปีนี้และปีหน้าจะมีความคืบหน้าเรื่องการก่อสร้างได้ตามที่รัฐบาลและกระทรวงคมนาคมคาดหวังไว้หรือไม่ คงจะต้องติดตามกันต่อไปสำหรับโครงการรถไฟไทย-จีน

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,131 วันที่ 14 - 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559