พลิกผืนนาสู้วิกฤติแล้ง หันปลูกพืชใช้น้ำน้อยสร้างรายได้ดีกว่าปลูกข้าว

15 ก.พ. 2559 | 04:00 น.
เกษตรกรฮึดพลิกผืนนาสู้ภัยแล้ง หันปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อยแทนทำนา เผยมีทั้งปลูกเมลอน ถั่วลิสงมะขามเทศ สร้างรายได้ดีกว่าตอนปลูกข้าวเป็นกอบเป็นกำ พร้อมเล็งทำเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ แต่หวั่นหากไร้ทิศทางคนแห่ปลูกมาก ราคาจะร่วงตามผลผลิตที่มากขึ้น วอนรัฐหาตลาดรองรับ พร้อมส่งเสริมด้านวิชาการ

นายกรกฏ สาริกา ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 1 ตำบลบ้านกล้วย อำเภอบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี เปิดเผยว่าจากปีที่ผ่านมาพื้นที่อำเภอบ้านหมี่ประสบภัยแล้ง ทำนาไม่ได้ผลเนื่องจากขาดแคลนน้ำ แม้ว่าพื้นที่ตำบลบ้านกล้วยจะอยู่ติดคลองชลประทานชัยนาท - ป่าสักก็ตาม แต่เมื่อระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาลดลง ก็ทำให้ไม่มีน้ำในคลองชลประทานดังกล่าว ดังนั้นตนเองจึงได้หันมาลองปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อยทดแทนการปลูกข้าวบนเนื้อที่กว่า 500 ไร่ โดยพืชที่ปลูกจะเป็นเมลอนและแคนตาลูป ลักษณะหมุนเวียนในพื้นที่ 10 ไร่ ซึ่งช่วงแรกก็ลองผิดลองถูก ได้ผลผลิตดีบ้างไม่ดีบ้าง พอทำมา 5-6 รุ่นจนเข้าสู่ช่วงปีที่ 2 ปรากฏว่าได้ผลดี และมีรายได้ที่แตกต่างจากการทำนามาก ผลผลิตเมื่อเทียบต่อไร่จะได้ผลตอบแทนหลักหมื่นบาท รวมถึงการใช้พื้นที่และใช้ระยะเวลาน้อยกว่า โดยเมล่อนจะใช้เวลาการปลูกจนถึงเก็บผลผลิตในเวลา 75 วัน ขณะที่ปลูกข้าวใช้เวลาถึง 120 วัน

"ตอนนี้กำลังเดินหน้าปลูกพืชใช้น้ำน้อยอย่างจริงจัง มีการทดลองปลูกบวบ และสร้างโรงเรือน เพื่อปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ เพื่อรองรับตลาดผักที่เป็นวัตถุดิบให้กับสลัด รวมทั้งยังทดลองปลูกสตรอว์เบอร์รี่ ในพื้นที่ที่ยังเหลืออยู่อีกมากอีกด้วย โดยมีการรวมเป็นกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่ เพื่อปลูกพืชน้ำน้อย รวมทั้งในเร็วๆนี้ยังได้มีการปรับพื้นที่ให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงเกษตร"

นายกรกฏ กล่าวไปต่อว่า ในระยะนี้การปลูกพืชน้ำน้อยเช่นที่ตนเองปลูกอยู่ ก็อาจจะมีราคาดี แต่ในอนาคต หากไม่มีการวางแผนที่ดี เกษตรกรหันมาปลูกพืชประเภทนี้มากขึ้นแบบไร้ทิศทาง ก็อาจทำให้ราคาสินค้าตกลงได้ เพราะเมื่อสินค้ามากเกินความต้องการของผู้บริโภค ก็ทำให้ราคามันต่ำลง ทั้งนี้ภาครัฐเองต้องให้การสนับสนุนเกษตรกรอย่างจริงจัง ทั้งการหาตลาดภายในและภายนอกประเทศมารองรับสินค้าพืชผลทางเกษตรจากเกษตรกร ให้การสนับสนุนทางวิชาการและความรู้ในการพัฒนาพืชผลทางเกษตร ก็จะทำให้เกษตรกรลืมตาอ้าปากได้

นายสุรศักดิ์ เพ็งภาค นายกองค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.)ประศุก อำเภออินทร์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี เปิดเผยว่า จากนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการให้เกษตรกรหลีกเลี่ยงการปลูกข้าวนาปรัง ให้หันมาปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อยเช่นถั่วและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เพื่อต้องการให้เกิดการบริหารจัดการพื้นที่เพาะปลูกพืชฤดูแล้งให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุนและสถานการณ์ที่เกี่ยวข้อง ทางอบต.ประศุกจึงได้จัดทำโครงการถั่วลิสงไร้น้ำ โดยสนับสนุนเกษตรกรกว่า 50 รายในพื้นที่ปลูกถั่วลิสงทดแทนในจำนวน 2,500 ไร่ เนื่องจากเป็นพืชที่จะใช้น้ำในการหล่อเลี้ยงลำต้นในช่วงแรก จากนั้นก็จะใช้น้ำน้อยมากในฤดูแล้ง สามารถทำให้เกษตรกรในตำบลมีรายได้เพิ่มจากการทำนาและมีผลกำไรกว่า 1 หมื่นบาทต่อไร่ ขณะที่การปลูกข้าวลงทุนสูงได้ผลกำไรเพียง 3- 4 พันบาทต่อไร่เท่านั้น ประกอบกับถั่วลิสงดังกล่าว เกษตรกรยังสามารถนำไปต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆได้อีกด้วย

นายสมชัย หงส์สุวรรณ เกษตรกรในตำบลประศุก เปิดเผยว่า เดิมตนเองทำนา 2 ครั้งในรอบปี บางปีช่วงทำข้าวนาปรัง ก็พบปัญหาไม่มีน้ำทำนา ข้าวก็เสียหายทั้งที่กำลังเติบโต จนอบต.ประศุกได้จัดทำโครงการส่งเสริมให้เกษตรปลูกพืชน้ำน้อย ในช่วงฤดูแล้งที่ว่างเว้นจากการทำนา โดยส่งเสริมให้เกษตรปลูกถั่วลิสงไร้น้ำ เป็นถั่วลิสงที่ใช้น้ำในช่วงการเริ่มปลูกครั้งแรกเท่านั้น ซึ่งก็สามารถทำให้ตนเองมีรายได้เพิ่มขึ้นมากถึงไร่ละ 9 พัน-1 หมื่นบาท และขณะนี้ถั่วที่เกษตรกรในตำบลประศุกปลูกนั้นได้ออกผลผลิตแล้ว แต่ยังมีปัญหาในเรื่องของตลาด ซึ่งอยากให้ภาครัฐมาช่วยหาตลาดรองรับเกษตรกรที่ปลูกถั่วลิสงดังกล่าวด้วย

ด้านนายสุทรี วรหาร เจ้าของสวนมะขามเทศเจนจิรา บ้านแฉ่ง ตำบลถนนโพธิ์ อำเภอโนนไทย จังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยว่า ได้พลิกพื้นที่นากว่า 80 ไร่ ทำการทดลองปลูกพืชมาหลายชนิด ทั้งทุเรียน ลำไย เงาะ ลิ้นจี่ แต่ไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากดินในพื้นที่อำเภอโนนไทยเค็ม และมีปัญหาเรื่องน้ำแล้ง กระทั่งเมื่อ 3 ปีที่แล้วจึงนำเอามะขามเทศมาทดลองปลูก แต่ไม่ได้ยกร่อง 6 เดือน มีผลผลิตออกมา แต่ฝักไม่โตมากนัก จึงทดลองปรับพื้นที่ด้วยการยกร่องพร้อมทำระบบน้ำหยดไว้ทุกแปลงปรากฏว่ามะขามเทศให้ผลผลิตดี ฟักใหญ่ รสชาติดีมาก วันนี้สวนเจนจิราเก็บผลผลิตมะขามเทศมากว่า 2 ปีแล้ว เฉลี่ยวันละกว่า 500 กิโลกรัม กิโลกรัมละ 40-60 บาท สร้างรายได้กว่าปีละกว่า 2 ล้านบาท ใกล้คืนเงินทุนที่ลงไปแล้ว

สำหรับปีนี้ต้องยอมรับว่า เป็นปีที่แล้งที่สุด มีน้ำในบ่อที่กักเก็บไว้น้อย ประกอบกับอากาศร้อนส่งผลให้มะขามเทศออกน้อยกว่าทุกปีลดลงกว่าร้อยละ 50 คาดว่าจะมีผลผลิตออกมาประมาณ 250 กิโลกรัม ซึ่งตนไม่ขายผ่านพ่อค้าคนกลาง แต่จะนำไปขายที่ตลาดให้ลูกค้าโดยตรง เพื่อจะได้รู้ทิศทางของตลาดมะขามเทศ โดยคัดเกรดมีตั้งแต่ราคา 35-60 บาทต่อกิโลกรัม

ส่วนนางยุพวัลย์ ชมชื่นดี เกษตรอำเภอโนนไทย กล่าวว่า มะขามเทศเพชรโนนไทย สร้างชื่อเสียงให้กับจังหวัดนครราชสีมา ปัจจุบันมีเกษตรกรที่ปลูกมะขามเทศจำนวนกว่า 100 ราย บนพื้นที่ประมาณ 750 ไร่ ในตำบลถนนโพธิ์ ตำบลมะค่า และตำบลโนนไทย สร้างรายได้ปีละกว่า 63 ล้านบาท

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,131 วันที่ 14 - 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559