แจงทุกขั้นตอนจำนำยุ้งฉาง ธ.ก.ส.รับเข้าใจความหวาดผวา

30 ส.ค. 2561 | 09:21 น.
กำลังตกเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ว่า การที่รัฐบาลเปิดทางให้สถาบันเกษตรกร ไม่ว่าจะเป็นสหกรณ์การเกษตร (สกก.) สหกรณ์การเกษตรเพื่อการตลาดลูกค้า ธ.ก.ส. (สกต.) กลุ่มเกษตรกร กลุ่มวิสาหกิจชุมชน ไปเช่าโกดัง โรงสี เพื่อนำข้าวเปลือกที่รับซื้อจากเกษตรกรสมาชิกไปฝากเก็บไว้ ตามโครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2561/2562 หรือสินเชื่อจำนำยุ้งฉาง จากเดิมที่ให้เพียงเกษตรกร และสถาบันเกษตรกรที่ร่วมโครงการต้องมีที่เก็บข้าวหรือยุ้งฉางเท่านั้น จะนำไปสู่วังวนการทุจริตในรูปแบบเดิม ๆ ทั้งการสับเปลี่ยนข้าว เกิดสต๊อกข้าวลม ซํ้าร้ายโรงสีที่รับข้าวเหล่านี้ ก็ไม่ต้องมีอะไรมาคํ้าประกันหรือการันตีใด ๆ ทำให้โรงสีกลับกลายเป็นเสือนอนกิน เป็นการปลุกผีจำนำข้าวรอบ 2

“มรกต พิธรัตน์” รองผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยกับ“ฐานเศรษฐกิจ”ว่า มาตรการที่เกี่ยวข้องกับ ธ.ก.ส. คือนับตั้งแต่ผลผลิตข้าวออกมาคือโครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี (จำนำยุ้งฉาง) ซึ่งจะเริ่มเดือนตุลาคม และโครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่ม ซึ่งจะเริ่มเดือนพฤศจิกายน โดยทั้ง 2 ส่วนมีเป้าหมายปริมาณข้าวเข้าร่วมโครงการไม่เกิน 2 ล้านตัน จากผลผลิตข้าวทั้งหมดที่คาดว่าจะออกมา 30 ล้านตัน หรือเพียง 6% เท่านั้นภายใต้วงเงิน22,560 ล้านบาท

[caption id="attachment_310381" align="aligncenter" width="335"] มรกต พิธรัตน์ มรกต พิธรัตน์[/caption]

ทั้งนี้ธ.ก.ส.จะปล่อยกู้ให้กับสถาบันเกษตรกร ในอัตราดอกเบี้ย 1% ซึ่งประกอบด้วย สหกรณ์การเกษตร กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน และศูนย์ข้าวชุมชน เพื่อเป็นสภาพคล่องในการไปรับซื้อข้าวจากสมาชิก ซึ่งเป็นการซื้อขาด ในราคาตลาด กรณีที่สหกรณ์มีโกดังเป็นของตัวเองและมีเครื่องมือในการเก็บรักษาข้าว ธ.ก.ส.จะให้กู้วงเงินไม่เกิน 300 ล้านบาทหรือเก็บรักษาข้าวไม่เกิน 2 หมื่นตัน กรณีที่ไม่มีโกดังเป็นของตัวเอง อนุญาตให้ไปทำสัญญากับโรงสี ที่มีพื้นที่ในการเก็บรักษาและเครื่องมือดูแลข้าว โดยธ.ก.ส.จะปล่อยกู้ไม่เกิน 100 ล้านบาท หรือเป็นจำนวนไม่เกิน 1 หมื่นตัน

“การดำเนินการดังกล่าวเป็นไปตามแผนบูรณาการจัดการข้าวคุณภาพผ่านระบบสหกรณ์ ซึ่งเราทำรายงานเสนอไปยังสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ(สปท.)ผ่านรัฐบาล จึงออกเป็นมาตรการที่เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2557 หลังจากที่รัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)ได้ยกเลิกโครงการไป เราเข้าใจว่า ทุกคนยังหวาดผวากับโครงการรับจำนำข้าวราคาสูงและทุกเมล็ด แต่ในการปล่อยกู้สหกรณ์ ธ.ก.ส.จะพิจารณาเหมือนการปล่อยกู้ทั่วไปที่ต้องมีคุณสมบัติ ประวัติการทำงานและฐานะทางการเงิน ไม่ใช่ว่าจะปล่อยกู้ทุกรายหรือใครก็ได้”

ทั้งนี้เกษตรกรที่จะเข้าร่วมโครงการ หากมียุ้งฉางเป็นของตัวเอง จะปล่อยกู้รายบุคคลด้วย ไม่เกิน 3 แสนบาท แต่กรณีที่ไม่มีพื้นที่เก็บข้าวและเป็นสมาชิกสหกรณ์ สามารถสมัครเข้าร่วมผ่านสหกรณ์ได้ โดยต้องมีทะเบียนในการปลูกข้าว และต้องเป็นลูกค้าธ.ก.ส. ซึ่งจะมีประวัติอยู่แล้วว่า ที่นากี่ไร่ ผลผลิตเท่าไหร่ ทำให้รู้ที่มาที่ไปของข้าวว่า มาจากไหน จะไม่มีการกลับมาเวียนเทียนใหม่ เพราะชาวนาได้ขึ้นทะเบียนไปแล้ว จะมาขึ้นทะเบียนซํ้าไม่ได้ ขณะเดียวกันก็สามารถสอบทานข้อมูลจากกรมส่งเสริมการเกษตรได้ด้วย

090861-1927-9-335x503-3

ขณะเดียวกันในการไปว่าจ้างให้โรงสีทำหน้าที่เป็นผู้ดูแลและเก็บรักษาข้าวนั้น จะมีสัญญาชัดเจนว่าที่ทำร่วมกันระหว่างธ.ก.ส. สหกรณ์และโรงสี โดยจะมีบัญชีสมาชิกสหกรณ์ว่า เป็นข้าวใครบ้าง มีเครื่องมือในการตรวจวัดคุณภาพข้าว ซึ่งขณะนี้ใช้มาตรฐานกรัมข้าว 42% คือ ข้าวเปลือก 100 กิโลกรัม แปรเป็นข้าวสารได้ 42 กิโลกรัม ดังนั้นเมื่อข้าวที่เข้าไปฝากไว้กับโรงสีในฐานะผู้รับฝากรู้ว่า ปริมาณเท่าไหร่ คุณภาพอย่างไร และมีสัญญาชัดเจน ดังนั้นเมื่อออกมาตอนไถ่ถอนข้าว ก็ต้องได้ตรงตามเงื่อนสัญญาที่ทำกันไว้

“ยอมรับว่ามาตรการดังกล่าวเป็นการช่วยเหลือโรงสี เพราะเส้นทางข้าวในที่สุดก็ต้องไปที่โรงสี เพียงแต่จะไม่อู้ฟู่ ไม่เป็นเสือนอนกินเหมือนเดิม เรามาวางระบบให้โรงสีว่า ยอมรับเงื่อนไขได้หรือไม่ เพราะขณะนี้กำลังการผลิตของโรงสี มีความต้องการข้าว3 เท่าของข้าวที่ผลิตได้ โรงสี เองก็ต้องการข้าว วิ่งหาข้าวเช่นกัน”

หน้า 23-24 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,396 วันที่ 30 สิงหาคม - 1 กันยายน พ.ศ. 2561

e-book-1-503x62