‘นอนแบงก์’เร่งเกมรุกชิงเค้กe-money ดันเติมเงินออนไลน์โต55%

30 ส.ค. 2561 | 05:12 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

บอร์ดอี-เพย์เมนต์ นัดถกค่าธรรมเนียมเดือนตุลาคม หลังขยายเงินโอนพร้อมเพย์เป็น 7 แสนบาทต่อรายการ จี้ปลดล็อกชำระเงินออนไลน์ เหตุแก้กฎหมายอืด ธปท.ชี้อี-วอลเล็ตโอนเงินผ่านพร้อมเพย์เพิ่มถึง 17% เหตุนอนแบงก์รุกทำตลาด อัดโปรโมชันให้ส่วนลด
หลังจากที่ประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนตามแผนยุทธศาสตร์ National E-Payment ที่มีนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นประธานเตรียมเพิ่มเพดานการโอนเงินผ่านระบบพร้อมเพย์ เป็น 7 แสนบาทต่อรายการ โดยไม่คิดค่าธรรมเนียม ซึ่งคาดว่า จะใช้ได้ในช่วง 1-2 เดือนข้างหน้า จากนั้นจะศึกษาดูผลสำเร็จ แล้วค่อยขยับเพิ่มเป็น 2 ล้านบาทต่อรายการ เพื่อรองรับธุรกรรมการเงินหลายด้าน เพราะหลังจากเปิดให้กระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (E-Wallet)ใช้บริการผ่านพร้อมเพย์ พบว่า มีการโอนเงินเพิ่มขึ้นถึง 17% หรือมียอดธุรกรรมสะสมถึง 1.9 ล้านรายการ

[caption id="attachment_310366" align="aligncenter" width="335"] อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์[/caption]

 

นายณพงศ์ธวัช โพธิกิจ ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายระบบการชำระเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่าสาเหตุที่มูลค่าการใช้จ่ายอี-วอลเล็ตเติบโตเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากผู้ให้บริการเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Money) ที่เป็นผู้ให้บริการที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (นอนแบงก์) แต่ละรายทำกิจกรรมแข่งขันทางธุรกิจ โดยเฉพาะหลังจากธนาคารทยอยปรับลดค่าธรรมเนียมการโอนเงินลง

สำหรับการชำระเงินผ่านบริการดังกล่าว ปัจจุบันมีผู้ให้บริการ e-Money จำนวน22 ราย โดยเป็นนอนแบงก์ 15 ราย และธนาคารอีก 7 แห่ง แต่มูลค่าต่อรายการพบว่า ยอดการใช้จ่ายขั้นตํ่าหลักสิบบาทเพราะเป็นการซื้อสินค้าและบริการในกลุ่มธุรกิจ ส่วนในกลุ่มสถาบันการเงินหรือธนาคารยังมีความได้เปรียบฐานลูกค้าจากบัญชีเงินฝากอยู่แล้ว โดยใช้วิธีตัดเงินจากบัญชีทำธุรกรรมประกอบกับโครงสร้างพื้นฐาน ทั้ง ATM -Pool, พร้อมเพย์และ QR Code ทำให้ลูกค้าโอนเงินได้ในวงกว้างและสะดวก

090861-1927-9-335x503-3

ทั้งนี้เห็นได้จากตัวเลขเงิน e-Money เดือนเมษายน 2561 มูลค่าการใช้จ่ายรวม 13,917.66 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 41.47%จากช่วงเดียวกันของปีก่อน มีจำนวน 9,837.58 ล้านบาท ขณะที่มูลค่าการเติมเงินเติบโตถึง 55.12% จำนวน 15,054.53 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 9,704.71 ล้านบาท ส่วนใหญ่มาจากผู้ให้บริการนอนแบงก์

โดยปัจจุบัน e-Money ในรูปแบบเติมเงินครอบคลุมทั้งบัตร 7-11 บัตรแรบบิท, ทรู มันนี่ วอลเล็ต และ M-Pay ซึ่งเกิดจากการจับมือของ 3 ผู้ถือหุ้นหลักทั้งM-Pay, Rabbit และ Line Pay

MP24-3396-A

แหล่งข่าวจากธนาคารพาณิชย์กล่าวว่า ที่ประชุมบอร์ดอี-เพย์เมนต์เมื่อวันที่ 27 สิงหาคมที่ผ่านมาได้เสนอขยายเพดานเงินโอนผ่านพร้อมเพย์เป็น 7 แสนบาทจากเดิมที่กำหนดเพดานไว้ที่ 50,000 บาท ซึ่งในการประชุมรอบต่อไป ประมาณปลายเดือนตุลาคม คงจะมีการหารือในรายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องค่าธรรมเนียม เพราะปัจจุบันตามประกาศธนาคารพาณิชย์ระบุค่าธรรมเนียมการโอน สำหรับวงเงินตํ่ากว่า 1 หมื่นบาทคิดค่าธรรมเนียมที่ 25 บาท ส่วนวงเงินตั้งแต่ 1-5 หมื่นบาท คิดค่าธรรมเนียมโอน 35 บาท

“เมื่อขยายเงินโอนเป็น 7 แสนบาทอาจจะขยายค่าธรรมเนียมการโอนจาก 35 บาทที่ใช้ในปัจจุบันหรือไม่ ซึ่งเรื่องค่าธรรมเนียมการโอนต้องหารือกัน เพราะในทางปฏิบัติแบงก์ผู้รับจะมีรายได้จากแบงก์ผู้โอน ดังนั้นค่าธรรรมเนียมจะลดหรือเพิ่มจึงขึ้นอยู่กับการหารือ 4 แบงก์ใหญ่”

สำหรับการเดินหน้าโครงการ National e-Payment นั้นในขั้นตอนปฏิบัติ ยังไม่คล่องตัวเท่าที่ควร เนื่องจากยังไม่สามารถปลดล็อกเรื่องข้อกฎหมายเกี่ยวกับการหักภาษีและนำส่งภาษีทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Withholding Tax) ซึ่งปัจจุบันร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ...)พ.ศ. ...เพื่อรองรับระบบภาษีและเอกสารธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ยังอยู่ในกระบวนการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)โดยในวันศุกร์ที่ 31 สิงหาคม 2561 กำหนดประชุมอีกครั้ง แต่เท่าที่ทราบ สนช.จะขอยืดเวลาพิจารณาออกไปอีกซึ่งหากสามารถปลดล็อกข้อกฎหมายดังกล่าวจะทำให้เศรษฐกิจดิจิตอล เดินหน้าได้อย่างคล่องตัวขึ้น เพราะกฎหมายเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญของโครงการนี้ แม้ปัจจุบันภาคธุรกิจจะเริ่มการซื้อหรือขายในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ แต่ในทางปฏิบัติยังคงต้องใช้เอกสารการซื้อหรือขาย หรือใบเสร็จรับเงินในรูปแบบเดิม

ด้านนายพัชร สมะลาภา กรรมการผู้จัดการ ธนาคาร กสิกรไทยกล่าวว่า ธุรกรรมผ่าน QR Code จะขึ้นลงตามโปรโมชัน ซึ่งตัวเลขเดือนมิถุนายน มียอดธุรกรรม 3 ล้านรายการ คิดเป็น 3,317 ล้านบาท มีร้านค้า K Plus Shop 1.5 ล้านร้านค้า มีธุรกรรมทั้งสิ้น 3.5 ล้านรายการ ส่วนยอดลงทะเบียนรับโอนเงินพร้อมเพย์มียอดลงทะเบียนแล้ว 2.7 ล้านราย มีธุรกรรมเฉลี่ย 5.3 แสนรายการต่อวัน โดยปัจจุบันมีฐานลูกค้า Mobile K Plus อยู่ที่ 8.7 ล้านราย คิดเป็นยอดใช้สมํ่าเสมอ (Active) ราว 80% คาดว่าภายในสิ้นปีฐานลูกค้า K Plus จะเพิ่มเป็น 10.8 ล้านราย

หน้า 23-24 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,396 วันที่ 30 สิงหาคม - 1 กันยายน พ.ศ. 2561

e-book-1-503x62