‘โดรน’อุตสาหกรรมแห่งอนาคตจากเสินเจิ้น และการปรับใช้กับภาคอุตสาหกรรม (1)

30 ส.ค. 2561 | 06:12 น.
 

96596595 ในปี 2523 รัฐบาลกลางประกาศให้เมืองเสินเจิ้นเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษแห่งแรกของจีน นับแต่นั้นจากเมืองที่เต็มไปด้วยหมู่บ้านชาวประมงอันเงียบเหงาก็กลับกลายเป็นเมืองที่มีความสำคัญด้านเศรษฐกิจ เป็นแหล่งบ่มเพาะเทคโนโลยีขั้นสูงของประเทศ จนได้รับการขนานนามว่าเป็น “ซิลิคอนวัลเลย์” ของจีน เสินเจิ้นจึงเป็นที่ตั้งของบริษัทด้านเทคโนโลยีชั้นนำของโลก อาทิ  Airbus, Foxconn, Huawei, ZTE, Tencent, DJI และอีกมากมาย เป็นแหล่งผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ อุปกรณ์โทรคมนาคม คอมพิวเตอร์และสินค้าเทคโนโลยีขั้นสูงที่สำคัญของโลก นอกจากนี้ เสินเจิ้นยังมีโครงการลงทุนด้านเทคโนโลยีที่มีมูลค่ามากกว่า 20 ล้านหยวน กว่า 2,087 โครงการ มีความได้เปรียบด้านทรัพยากรมนุษย์เนื่องจากมีจำนวนผู้ที่จบการศึกษาระดับปริญญาเอกมากถึง 20% ของประชากร มีจำนวนนักวิจัยกว่า 2.02 แสนคน มีเม็ดเงินลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนากว่า 84,200 ล้านหยวน อีกทั้งยังเป็นเมืองที่
ใช้อินเตอร์เน็ตยาวนานที่สุดในจีนเฉลี่ยคนละ 44.8 ชั่วโมงต่อสัปดาห์

ปัจจุบันเสินเจิ้นมีธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีมากมาย แต่เทคโนโลยีที่ถูกมองว่าเป็นคลื่นลูกใหม่และคาดว่าจะเข้ามายกระดับเทคโนโลยีของจีนไปอีกขั้นคือ “เทคโนโลยีอากาศยานไร้คนขับ (Unmanned Aerial Vehicle-UAV) หรือ โดรน (Drone)” ซึ่งในเสินเจิ้นมีบริษัทที่เกี่ยวข้องกับโดรนกว่า 2,000 บริษัท เป็นบริษัทผู้ผลิตกว่า 600 บริษัท บริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนและอุปกรณ์อีกกว่า 500 บริษัท โดยมีบริษัท DJI เป็นหัวหอกสำคัญที่ผลักดันให้เทคโนโลยีโดรนของเสินเจิ้นมีส่วนแบ่งทางการตลาดทั่วโลกสูงกว่า 70% ในปี 2560 เสินเจิ้นมีมูลค่าการผลิตของอุตสาหกรรมโดรนเท่ากับ 4,443 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (30,000 หยวน) และคาดว่ามูลค่าการผลิตในปี 2565 จะสูงถึง 15,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 101,227 หยวน) คิดเป็น 12 เท่าของปี 2559
8p ประชุมโดรนโลกที่เสินเจิ้น

เสินเจิ้นเป็นผู้นำด้านอุตสาหกรรมโดรนที่สำคัญของโลก จึงเป็นที่มาของการรวมตัวกันในงานประชุมโดรนโลกที่จัดโดยสหพันธ์เทคโนโลยีสารสนเทศและอุตสาหกรรมจีน สมาพันธ์อุตสาหกรรมโดรนจีน และสมาคมอุตสาหกรรมโดรนเซินเจิ้น

ล่าสุดงานประชุมโดรนโลกครั้งที่ 2 จัดขึ้นเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน ที่ผ่านมา ณ เมืองเซินเจิ้น ในพื้นที่กว่า 15,000 ตารางเมตร ประกอบด้วยกิจกรรมงานสัมมนากว่า 80 หัวข้อ และงานจัดแสดงสินค้าและอุปกรณ์โดรนประเภทต่าง ๆ จากบริษัทในพื้นที่ ภายในงานยังมีตัวแทนจากองค์กรเกี่ยวกับอากาศยานไร้คนขับ ผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการจาก 41 ประเทศทั่วโลก รวมถึงตัวแทนจากสถานเอกอัครราชทูตและสถานกงสุลใหญ่จาก 21 ประเทศที่รวมถึงไทย การจัดงานมีจุดประสงค์ที่จะเป็นศูนย์รวมบุคลากรด้านเทคโนโลยีอากาศยานไร้คนขับหรือโดรนในทุกระดับ และเป็น platform สำคัญในการแลกเปลี่ยนและสร้างเครือข่ายเทคโนโลยี
โดรนให้ขยายวงกว้างมากยิ่งขึ้น
090861-1927-9-335x503-3 เพิ่มเพื่อน

รูปแบบการใช้งานโดรนในจีน

ในจีน “โดรน” ไม่เพียงแต่จำกัดการใช้งานด้านทหารหรือความบันเทิงและสันทนาการเท่านั้น เนื่องจากโดรนมีหลากหลายรูปแบบและยังได้รับการพัฒนาให้สามารถใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมที่หลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเกษตร การขนส่งและ โลจิสติกส์ นอกจากนี้ ยังมีการใช้งานด้านอื่นๆ ที่กำลังนำเทคโนโลยีโดรนมายกระดับประสิทธิภาพของการทำงาน อาทิ งานศึกษาวิจัยทาง ภูมิศาสตร์ งานในภารกิจที่มีความเสี่ยง อาทิ การดับเพลิง การช่วยชีวิตและการรักษาความปลอดภัย
drone1 โดรนในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์

อุตสาหกรรมโลจิสติกส์ถือเป็นอุตสาหกรรมแรกๆ ของโลกที่นำเทคโนโลยีโดรนเข้ามาเพิ่มขีดความสามารถและศักยภาพ โดยโดรนสำหรับโลจิสติกส์ได้ถูกนำมาใช้ในการขนส่งหลากหลายรูปแบบ อาทิ การส่งสินค้าที่ซื้อผ่าน e-commerce การขนส่งยารักษาโรคไปยังพื้นที่ห่างไกล การส่งอาหาร หรือสินค้าอื่น ๆ เป็นต้น บริษัทโลจิสติกส์ในจีนเริ่มหันมาให้ความสำคัญของการใช้โดรนในระบบโลจิสติกส์เนื่องจากเป็นอุปกรณ์ที่ลดข้อจำกัดด้านพื้นที่ในการจัดส่งสินค้าและมีต้นทุนในระยะยาวที่ค่อนข้างตํ่าเมื่อเปรียบเทียบกับการใช้มนุษย์ในการขนส่งสินค้า

JD Group คือบริษัทอี-คอมเมิร์ซที่ใหญ่เป็นอันดับที่ 2 ของจีนรองจากอาลีบาบา นับเป็นผู้บุกเบิกการนำโดรนเข้ามาใช้ในระบบโลจิสติกส์ โดยเริ่มต้นวิจัยและพัฒนาโดรนเพื่อการขนส่งมาตั้งแต่ปี 2558 ภายใต้ความรับผิดชอบของ JDX innovation lab การนำโดรนเข้ามาใช้ส่งพัสดุจากแพลตฟอร์ม JD.com มีจุดประสงค์สำคัญที่จะส่งสินค้าไปถึงมือลูกค้าที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ห่างไกลและยากต่อการเข้าถึงของจีน อาทิ เขตชนบทบนภูเขาสูง ต่อมาในปี 2559 JD.com เริ่มโครงการทดสอบการใช้โดรนอย่างเป็นทางการ ครอบคลุมพื้นที่ในกรุงปักกิ่ง มณฑลเสฉวน ส่านซีและเจียงซู ปัจจุบัน JD Group มีโดรนขนส่งสินค้าจำนวน 40 ลำ สามารถบรรทุกสินค้าหนักตั้งแต่ 5-30 กิโลกรัม ครอบคลุมรัศมีระยะทางกว่า 100 กิโลเมตรต่อการบิน 1 ครั้ง ในปี 2560 JD Group ใช้โดรนขนส่งสินค้าไปยังหมู่บ้านในพื้นที่ห่างไกลของจีนแล้วกว่า 300,000 แห่ง
750x422_802142_1526546554 ในงานประชุมโดรนโลก ณ เมืองเสินเจิ้นที่ผ่านมา นางหลิว เยี่ยนกวง ประธานบริหาร JD UVA กล่าวว่า JD Group ได้ทุ่มเทพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เกี่ยวกับโดรนมาใช้ในการขนส่งพัสดุให้แก่ลูกค้าที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลของจีน และปัจจุบัน JD Group ยังมีการนำเทคโนโลยีดังกล่าวไปใช้ในระบบการเกษตรของบริษัท ซึ่ง JD Group นับเป็นบริษัทอี-คอมเมิร์ซแห่งแรกของจีนที่มีพื้นที่ทางการเกษตรเป็นของตนเอง โดยบริษัทมั่นใจว่าโดรนจะเข้ามาขยายและพัฒนาศักยภาพของธุรกิจให้ดียิ่งขึ้น

ปัจจุบัน บริษัท Cainiao โลจิสติกส์ โดยอาลีบาบาเริ่มเข้ามาแข่งขันด้านการใช้โดรนการส่งสินค้าเช่นเดียวกัน โดยมีความร่วมมือกับบริษัท Beihang Unmanned Aircraft System ผลิตโดรนขนส่งสินค้าที่สามารถบินได้ไกลถึง 1,500 กิโลเมตร ขณะเดียวกัน  Ele.me และ Alibaba’s Food เพิ่งได้รับอนุญาตให้ทดสอบการใช้โดรนในพื้นที่หลายแห่งในจีนอีกด้วย

ตอนต่อไปพบกับบทบาทของโดรนในอุตสาหกรรมการเกษตร กฎระเบียบและข้อจำกัด ตลอดจนอุตสาหกรรมโดรนกับประเทศไทย

พบกับอัพเดตความเคลื่อนไหวและโอกาสในตลาดต่างประเทศที่สถานทูตไทยทั่วโลกตั้งใจติดตามมาให้ภาคเอกชนไทยได้ที่เว็บไซต์ www.globthailand.com หากมีข้อคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะเพิ่มเติม สามารถเขียนมาคุยกันได้ที่ [email protected]


อ่าน :  ‘โดรน’อุตสาหกรรม แห่งอนาคตจากเสินเจิ้นและการปรับใช้กับภาคอุตสาหกรรม (ตอนจบ)  
e-book-1-503x62 |ชี้ช่องจากทีมทูต
|โดย : ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์ กรมเศรษฐกิจการค้าหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ สถานกงสุลใหญ่ ณ นครกว่างโจว
|หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ หน้า 10 ฉบับ 3393 ระหว่างวันที่ 19-22 ส.ค2561