ดีแทค แจงทำไมต้องได้รับการเยียวยาคลื่น 850

29 ส.ค. 2561 | 16:35 น.
บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค ขอชี้แจงเหตุใดลูกค้าที่ใช้งานบนคลื่น 850 เมกะเฮิรตซ์ จึงต้องได้รับการเยียวยาจาก สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) โดยให้เหตุผลว่า S_8486843286437 เทียบกับมาตรการเยียวยาในอดีต  ของ True และ  AIS

ในปี 2556 คลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz ของ TRUE และ DPC (บริษัทในเครือ AIS) สิ้นสุดสัมปทาน กสทช. ได้ออกประกาศมาตรการเยียวยาฯ โดยให้ผู้ใช้บริการของ TRUE และ DPC (บริษัทในเครือ AIS) ได้รับความคุ้มครองทั้งสิ้นเป็นระยะเวลา 1 ปีหลังจากสิ้นสุดสัมปทาน ในช่วงเวลาที่ผู้ใช้บริการได้รับความคุ้มครองอยู่นั้น คสช. ได้มีคำสั่งให้ชะลอการประมูลคลื่นความถี่ดังกล่าวออกไปอีก 1 ปี โดยให้นำมาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการตามประกาศมาตรการเยียวยาฯ มาใช้บังคับในระยะเวลาที่ระหว่างที่ชะลอการประมูล และเมื่อระยะเวลาที่ถูกขยายตามคำสั่ง คสช. ดังกล่าวกำลังจะสิ้นสุดลง คสช. ก็ได้สั่งการให้ กสทช. คุ้มครองผู้ใช้บริการต่อไปจนกว่าการประมูลจะสิ้นสุดลง จนในที่สุดได้สิ้นสุดลงในปี 2558 เมื่อ TRUE และ AIS ชนะการประมูล รวมระยะเวลาที่ TRUE และ DPC ให้บริการต่อไปตามประกาศมาตรการเยียวยาฯ เป็นเวลาทั้งสิ้น 2 ปี 2 เดือนหลังสัญญาสัมปทานสิ้นสุดลง

คลื่นความถี่ย่าน 900 MHz ของ AIS

เมื่อคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz ของ AIS สิ้นสุดสัญญาสัมปทานในปี 2558 AIS ก็ได้เข้าสู่ประกาศมาตรการเยียวยาฯ โดยอัตโนมัติเนื่องจากยังไม่มีผู้ให้บริการรายใหม่เข้ามารับช่วงต่อคลื่นความถี่ดังกล่าว หลังจากนั้นจึงได้มีการจัดการประมูลคลื่นความถี่ขึ้น โดย TRUE และ JAS Mobile เป็นผู้ชนะการประมูล และเมื่อ TRUE ได้รับใบอนุญาตแล้ว กทค. ได้มีคำสั่งให้ AIS ยุติการให้บริการในวันถัดมา  AIS จึงได้ยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองกลางและศาลปกครองกลางได้มีคำสั่งให้ทุเลาการบังคับตามมติ กทค. ประกอบกับ JAS Mobile ได้ทิ้งใบอนุญาต ส่งผลให้ผู้ใช้บริการของ AIS ได้รับความคุ้มครองตามประกาศมาตรการเยียวยาฯ ต่อไป จนกระทั่งมีการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz อีกครั้งเสร็จสิ้นในปี 2559 และ AIS ชนะการประมูล รวมระยะเวลาที่ AIS ให้บริการต่อไปตามประกาศมาตรการเยียวยาฯ เป็นเวลาทั้งสิ้น 8 เดือนหลังสัญญาสัมปทานสิ้นสุดลง

มาตรการเยียวยาฯ ผู้ใช้บริการของ dtac?

จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz ของ TRUE และ DPC (บริษัทในเครือ AIS) และคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz ของ AIS จะเห็นได้ว่าผู้ใช้บริการของทั้งสองคลื่นความถี่ล้วนได้รับความคุ้มครองให้สามารถใช้บริการต่อเนื่องต่อไปได้ตามปกติ แล้วเหตุใดผู้ใช้บริการ dtac จึงไม่ควรได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเช่นเดียวกันกับผู้ใช้บริการของผู้ให้บริการรายอื่นทั้งๆ ที่เป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน?  หากจะมองว่าการที่ TRUE และ DPC ได้รับความคุ้มครองตามประกาศมาตรการเยียวยาฯ เพราะยังไม่มีการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz หลังสิ้นสุดสัมปทาน ทำให้ผู้ใช้บริการอาจไม่สามารถใช้บริการอย่างต่อเนื่องได้นั้น ในช่วงเวลาดังกล่าว dtac ยังคงให้บริการอย่างเดียวกันบนคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz เช่นเดียวกัน จึงไม่ใช่กรณีที่ผู้ใช้บริการไม่มีทางเลือกอื่นใดในการจะใช้บริการอย่างต่อเนื่องได้ แต่เมื่อผู้ใช้บริการไม่ประสงค์ที่จะย้ายค่าย ผู้ใช้บริการของ TRUE และ DPC ก็ได้รับความคุ้มครองให้สามารถใช้บริการต่อไปได้ ผู้ใช้บริการของ dtac ที่ไม่ประสงค์จะย้ายค่ายก็ควรได้รับความคุ้มครองเช่นเดียวกัน

ทั้งนี้ที่ผ่านมายังมีกระแสข่าวว่า dtac ไม่ยอมเข้าร่วมประมูล จึงไม่ควรมีการบังคับใช้ประกาศมาตรการเยียวยาฯ กับกรณีของ dtac ข้อเท็จจริงก็คือ คลื่นความถี่ที่ dtac ถือครองอยู่เป็นคลื่นความถี่ย่าน 850 MHz แต่การจัดประมูลเป็นการจัดประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz ซึ่งเป็นคนละคลื่นความถี่กัน ประกอบกับที่ผ่านมามีความไม่แน่นอนในการจะนำคลื่นความถี่ใดออกประมูลหรือไม่ออกประมูลมาโดยตลอด dtac จึงไม่อาจทราบได้แน่ว่าจะมีการนำคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz ออกประมูลหรือไม่อย่างไร ดังนั้น แม้ dtac จะเข้าร่วมและชนะการประมูลดังกล่าว dtac อาจต้องใช้เวลาประมาณอย่างน้อย 2 ปี เพื่อเตรียมการสำหรับให้บริการบนคลื่นความถี่ใหม่ ผู้ใช้บริการของ dtac จึงมีความจำเป็นที่จะต้องได้รับความคุ้มครองตามประกาศมาตรการเยียวยาฯ ในระหว่างที่ dtac ยังไม่พร้อมเริ่มให้บริการเช่นเดียวกัน

นอกจากนี้ การจัดประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz ยังมีการกำหนดเงื่อนไขไว้ใบอนุญาตให้ผู้ชนะการประมูลต้องรับผิดชอบแก้ไขปัญหาเรื่องคลื่นรบกวนทั้งหมดแต่เพียงผู้เดียว พร้อมทั้งติดตั้งระบบป้องกันการกวนสัญญาณทั้งหมด อีกทั้ง กสทช. ยังสงวนสิทธิ์ปรับเปลี่ยนช่วงคลื่นความถี่ได้กรณีจำเป็น ฯลฯ ซึ่งเงื่อนไขต่างๆ ทั้งหมดก่อให้เกิดต้นทุนสูงมากและไม่มีใครสามารถระบุได้แน่นอนว่าจำนวนเงินที่แท้จริงจะเป็นเท่าใด อีกทั้งยังมีความไม่แน่นอนหากมีการปรับเปลี่ยนช่วงคลื่นอาจทำให้ต้องเปลี่ยนอุปกรณ์ใหม่ทั้งหมด ความเสี่ยงดังกล่าวจึงทำให้ dtac ไม่สามารถเข้าร่วมประมูลได้เช่นเดียวกันกับที่ไม่มีผู้ประกอบการรายใดเข้าร่วมการประมูลเช่นกัน

DTAC จะได้ใช้คลื่น “ฟรี” จริงหรือ?

เรื่องนี้ ทางดแทคเผยว่า ตามประกาศมาตรการเยียวยาฯ ผู้ให้บริการไม่สามารถรับลูกค้ารายใหม่เพิ่มได้ในขณะที่ยังคงต้องให้บริการอย่างต่อเนื่องและต้องรักษาคุณภาพการให้บริการให้คงเดิม และยังมีหน้าที่ประชาสัมพันธ์แจ้งระยะเวลาสิ้นสุดความคุ้มครอง ประชาสัมพันธ์ให้ผู้ใช้บริการโอนย้ายออกจากระบบไปยังผู้ให้บริการรายอื่น และเร่งรัดการโอนย้ายผู้ใช้บริการ รับภาระค่าใช้จ่ายในการพัฒนาช่องทางและเพิ่มประสิทธิภาพในการโอนย้ายเลขหมาย และยังได้กำหนดอีกว่าให้ผู้ให้บริการเป็น “ผู้รับชำระเงินรายได้จากการให้บริการแทนรัฐ” ซึ่งก็หมายความว่ารายได้ระหว่างการให้บริการในระยะเวลาคุ้มครองตามประกาศมาตรการเยียวยาฯ ตกเป็นของรัฐ ผู้ให้บริการเป็นเพียงผู้รับรายได้แทนรัฐเท่านั้น เมื่อได้รับรายได้มา ผู้ให้บริการทำได้เพียงหักต้นทุนค่าใช้จ่ายและนำส่วนที่เหลือส่งเข้ารัฐเป็นรายได้ของแผ่นดินต่อไป จึงจะเห็นได้ว่าผู้ให้บริการไม่สามารถแสวงหาผลประโยชน์จากมาตรการเยียวยาได้ คำกล่าวที่ว่า “dtac ใช้คลื่นฟรี” จึงไม่เป็นความจริง ในทางตรงกันข้าม การคุ้มครองตามมาตรการเยียวยาเป็นไปเพื่อให้ผู้ใช้บริการได้รับประโยชน์ ไม่ประสบภาวะ “ซิมดับ” และสามารถใช้บริการต่อเนื่องต่อไปได้เท่านั้นเอง