สอบ "SISB" เข็นโรงเรียนเข้าตลาดหุ้น!!

29 ส.ค. 2561 | 13:11 น.
290861-1953

สช. เดินหน้าสอบปม "เอสไอเอสบี" นำธุรกิจโรงเรียนนานาชาติ เข้าระดมทุนในตลาดหุ้น อาจขัด พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชน พ.ศ. 2550 ห้ามต่างชาติถือหุ้นเกิน 50% เตรียมถกฝ่ายกฎหมาย 31 ส.ค. นี้ นักวิชาการหวั่นเพิ่มความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา

กลายเป็นประเด็นที่มีการพูดถึงอย่างกว้างขวางในแวดวงการศึกษา หลังจาก บริษัท เอสไอเอสบี จำกัด (มหาชน) หรือ SISB ดำเนินธุรกิจเป็นผู้รับใบอนุญาตจัดตั้งโรงเรียนเอกชน โรงเรียนนานาชาติ และให้บริการเกี่ยวกับการศึกษา ยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลและหนังสือชี้ชวน (Filing) ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เพื่อเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวน 260 ล้านหุ้น ราคาพาร์ 0.50 บาท

 

[caption id="attachment_310227" align="aligncenter" width="503"] ชลำ อรรถธรรม รองเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ในฐานะรักษาราชการแทนเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) หน่วยงานภายใต้กำกับดูแลของกระทรวงศึกษาธิการ ©สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน กระทรวงศึกษาธิการ ชลำ อรรถธรรม รองเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ในฐานะรักษาราชการแทนเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) หน่วยงานภายใต้กำกับดูแลของกระทรวงศึกษาธิการ
©สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน กระทรวงศึกษาธิการ[/caption]

นายชลำ อรรถธรรม รองเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ในฐานะรักษาราชการแทนเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) หน่วยงานภายใต้กำกับดูแลของกระทรวงศึกษาธิการ ให้สัมภาษณ์กับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า โดยส่วนตัวหวังว่า การนำเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ จะไม่กระทบการเรียนการสอนของโรงเรียน และขอหารือกับฝ่ายกฎหมายก่อนว่า มีอะไรที่ขัดกับข้อกำหนดคุณสมบัติผู้ขอรับใบอนุญาตให้จัดตั้งโรงเรียนเอกชน ตามพระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน พ.ศ. 2550 หรือไม่

จากการตรวจสอบข้อมูลของ 'เอสไอเอสบี' หรือ SISB พบว่า ในการยื่นขอใบอนุญาตที่ สช. พบว่า ขณะนั้นมีสัดส่วนหุ้นที่เป็นของคนไทย 3 คน จำนวน 54.6% ชาวต่างชาติ 2 คน จำนวนหุ้น 45.4% ซึ่งยังตรงกับที่กำหนดในพระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน พ.ศ. 2550 มาตรา 22 ที่กำหนดคุณสมบัติผู้ขอรับใบอนุญาตให้จัดตั้งโรงเรียนในระบบที่เป็นนิติบุคคล ต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม

 

[caption id="attachment_310229" align="aligncenter" width="503"] ©www.sisb.ac.th ©www.sisb.ac.th[/caption]

กล่าวคือ นิติบุคคลที่เป็นบริษัทมหาชนจำกัด บริษัทจำกัด หรือ ห้างหุ้นส่วน ต้องมีจำนวนหุ้นหรือทุนเป็นของผู้ถือหุ้นหรือผู้เป็นหุ้นส่วนที่มีสัญชาติไทยไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนหุ้นหรือทุนทั้งหมด และจะต้องมีจำนวนผู้ถือหุ้นหรือผู้เป็นหุ้นส่วนที่มีสัญชาติไทยไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง (50%) ของจำนวนผู้ถือหุ้นหรือผู้เป็นหุ้นส่วนทั้งหมด

"ผมเพิ่งเห็นเอกสารที่สำนักงานว่า บริษัทเขามีหนังสือมาถึง สช. เพื่อแจ้งถึงการแปรสภาพบริษัท จึงไม่แน่ใจว่า เมื่อเขานำบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์จะมีสัดส่วนจำนวนผู้ถือหุ้นอย่างไร จะเปลี่ยนไปตามที่ขอจัดตั้งโรงเรียนตอนแรกหรือไม่ ซึ่งวันศุกร์ที่ 31 ส.ค. นี้ ผมจะนำเข้าหารือเป็นเรื่องด่วนกับคณะอนุกรรมการฝ่ายกฎหมายของ สช. ว่าทำได้หรือไม่ มีอะไรเกี่ยวข้องกับ สช. และอาจจะต้องมีเงื่อนไขอะไรเพิ่มเติมหรือไม่ในการพิจารณาใบอนุญาต"

 

[caption id="attachment_310230" align="aligncenter" width="503"] ©www.sisb.ac.th ©www.sisb.ac.th[/caption]

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการตรวจสอบ พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชน พบว่า มาตรา 110 วรรคสอง ระบุว่า "หากในกรณีที่ผู้รับใบอนุญาตเป็นนิติบุคคลและขาดคุณสมบัติ หรือ มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 22 นิติบุคคลนั้น ต้องแก้ไขให้ถูกต้องภายใน 90 วัน นับแต่วันที่ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามดังกล่าว"

นายสมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้สัมภาษณ์กับ "ฐานเศรษฐกิจ"
 ว่า เพิ่งได้ยินเรื่องนี้เป็นครั้งแรก แต่ส่วนตัวมองว่า เพราะการศึกษาโรงเรียนนานาชาติกำลังได้รับความนิยม เป็นทางเลือกและเป็นการศึกษาที่มีคุณภาพ ที่คนชั้นกลางขึ้นไปให้ความสนใจ โรงเรียนที่ได้รับใบอนุญาตก็คงเห็นช่องทางการเปลี่ยนแปลง หวังทำให้จำนวนของโรงเรียนมีการขยายตัว จึงนำเข้าตลาดหลักทรัพย์ เพราะอาจจะเป็นการการันตีให้ได้รับการยอมรับอีกระดับ

 

[caption id="attachment_310231" align="aligncenter" width="503"] ©สสค. ©สสค.[/caption]

"การนำโรงเรียนเข้าตลาดหลักทรัพย์เป็นการระดมทุนที่เป็นขั้นหนึ่งในการเปลี่ยนแปลง ซึ่งจะเกิดขึ้นมากในประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำสูง คนมีโอกาสก็จะได้รับโอกาสสูง ก็เป็นลักษณะของการขยายธุรกิจ เป็นอีกสเต็ปหนึ่งที่ทำให้การศึกษาต้องปรับตัวกับการศึกษายุคใหม่ แต่เรื่องนี้ก็ทำให้เห็นชัดว่า ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาจะเพิ่มมากขึ้น ซึ่งรัฐต้องดูให้ดี"

นายยิว ฮอค โคว ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสไอเอสบี จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า วัตถุประสงค์ของการระดมทุนในครั้งนี้ เพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนในการขยายธุรกิจที่เกี่ยวกับการศึกษา เพื่อเพิ่มคุณภาพการศึกษาให้กับนักเรียน รวมทั้งเพื่อชำระคืนเงินกู้สถาบันการเงิน เพื่อลดภาระดอกเบี้ย

ปัจจุบัน บริษัทมีทุนจดทะเบียน 470 ล้านบาท และมีทุนชำระแล้วอยู่ที่ 340 ล้านบาท โดยหุ้นที่จะเสนอขายไอพีโอเป็นหุ้นสามัญใหม่ จำนวน 260 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.50 บาท คิดเป็น 27.66% ของจำนวนหุ้นทั้งหมด แบ่งเป็นการเสนอขายให้แก่กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานของบริษัท จำนวน 26 ล้านหุ้น และจะเสนอขายให้แก่ประชาชนทั่วไป จำนวน 234 ล้านหุ้น


ONMMoi12_400x400

บริษัทได้รับใบอนุญาตในการจัดตั้งโรงเรียนโดยตรง รวมทั้งหมด 4 โรงเรียน ประกอบด้วย 1.โรงเรียนนานาชาติสิงคโปร์กรุงเทพฯ 2.โรงเรียนนานาชาติสิงคโปร์สุวรรณภูมิ 3.โรงเรียนนานาชาติสิงคโปร์ธนบุรี 4.โรงเรียนนานาชาติสิงคโปร์เอกมัย นอกจากนี้ ยังมีบริษัทร่วมทุนในลักษณะกิจกรรมร่วมค้าเป็นผู้รับใบอนุญาตอีก 1 โรงเรียน คือ โรงเรียนนานาชาติสิงคโปร์เชียงใหม่ รวมมีโรงเรียนนานาชาติภายในกลุ่มบริษัททั้งหมด 5 โรงเรียน เปิดสอนนักเรียนตั้งแต่ระดับชั้นก่อนประถมศึกษา (เตรียมอนุบาล) จนถึงระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 สามารถรองรับนักเรียนได้สูงสุดถึง 4,175 คน โดยปัจจุบัน มีนักเรียนทั้งหมด 2,274 คน

สำหรับค่าเล่าเรียนเฉลี่ยของ SISB อยู่ที่ปีละ 400,000 บาทต่อคน ต่ำสุดอยู่ที่ปีละ 300,000 บาทต่อคน และสูงสุดอยู่ที่ปีละ 600,000 บาทต่อคน โดยขึ้นอยู่กับระดับชั้นของนักเรียน ถือว่าอยู่ในระดับที่เหมาะสม จากอุตสาหกรรมโรงเรียนนานาชาติที่มีค่าเล่าเรียนอยู่ที่ประมาณปีละ 200,000-1,000,000 บาทต่อคน


……………….
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,396 วันที่ 30 ส.ค. ถึง 1 ก.ย. 2561 หน้า 01+15

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
ก.ล.ต.โบ้ยสช.ตัดสินใจSISBระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์
ฉาย บุนนาค : เมื่อ“ร.ร.นานาชาติสิงคโปร์กรุงเทพฯ”เข้าตลาดหุ้น อีกหนึ่ง“จริยธรรม”ที่เสื่อมถอยในสังคม


เพิ่มเพื่อน
e-book-1-503x62-7