นํ้าท่วมแม่สาย-ท่าขี้เหล็ก สะเทือนเศรษฐกิจชายแดนไทย-เมียนมา

30 ส.ค. 2561 | 13:39 น.
 

อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ประเทศไทย กับ เมืองท่าขี้เหล็ก ของรัฐฉาน สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา เป็นเมืองแฝดการค้าชายแดนที่สำคัญของทั้ง 2 ประเทศ เป็นเมืองแฝดการท่องเที่ยวชายแดนที่นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศรู้จักกันอย่างแพร่หลาย มีเม็ดเงินที่สะพัดจากการค้าชายแดนและการท่องเที่ยวแต่ละปีไม่ตํ่ากว่า 30,000 ล้านบาท

lo06

 

ความเจริญเติบโตทางการค้าและการท่องเที่ยวที่รวดเร็วในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา นำพาให้นักธุรกิจแห่กันมาลงทุนประกอบกิจการในพื้นที่เป็นจำนวนมาก ประกอบกับประชาชนในพื้นที่เองก็ดัดแปลงที่อยู่อาศัยของตนให้กลายเป็นร้านจำหน่ายสินค้า จนบางรายบางจุดมีการรุกลํ้าลงไปในแม่นํ้าสาย เป็นอุปสรรคทำให้การไหลของนํ้าไม่สะดวกอย่างที่เคยเป็น ทำให้แม่สาย-ท่าขี้เหล็ก ระยะหลังๆ จึงต้องเผชิญกับ ปัญหานํ้าท่วมใหญ่ทุกปี บางปีถูกนํ้าท่วมใหญ่กันหลายๆ ครั้ง ระหว่างเดือนกรกฎาคม-กันยายนของทุกปี เป็นช่วงที่ผู้ประกอบการต้องตกอยู่ในสภาวะนอนตาไม่หลับ ประคองกิจการอยู่กันอย่างหวาดผวา เพราะไม่รู้เลย ว่าวันใดจะถูกนํ้าจากแม่นํ้าสายเอ่อขึ้นมาท่วมบ้านเรือนและ กิจการร้านค้าอีก

lo01
ท่วม 1 ครั้ง สูญ 100 ล้าน

นางสาวผกายมาศ เวียร์รา ประธานคณะกรรมการสาขาเชียงราย สมาคมวัฒนธรรมและเศรษฐกิจไทย-เมียนมา ยอมรับว่า นํ้าท่วมแม่สาย-ท่าขี้เหล็กส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจชายแดนเป็นอย่างมาก เฉพาะความเสียหายต่อทรัพย์สินซึ่งส่วนใหญ่เป็นสินค้าที่จำหน่ายกันอยู่ตามร้านค้า ทั้งในตลาดสายลมจอย ฝั่งแม่สายซึ่งมีอยู่ไม่ตํ่ากว่า 100 ร้านค้า และในตลาดท่าล้อ ฝั่งขี้เหล็กซึ่งมีอยู่อีกกว่า 200 ร้านค้า นํ้าท่วมแต่ละครั้งมีสินค้าจมนํ้าจนเกิดความเสียหายรวมๆ แล้วไม่ตํ่ากว่า 10-20 ล้านบาท ซึ่งถ้าหากรวมเอามูลค่าความสูญเสียโอกาสทางการค้าด้วยแล้ว มูลค่าของความเสียหายจากนํ้าท่วมแต่ละครั้งจะสูงถึง 100 ล้านบาทเลยทีเดียว

lo07

“ปัญหานํ้าท่วมสินค้าจมนํ้าเสียหาย เป็นปัญหาที่สร้างความทุกข์กายทุกข์ใจให้กับผู้ประกอบการเป็นอย่างมาก เพราะเป็นการเผชิญหน้าอยู่กับปัญหาที่แก้ไขยากลำบาก และที่สำคัญเราไม่รู้เลยว่าการแก้ไขปัญหาจะเริ่มต้นได้เมื่อไร เพราะเป็นเรื่องระดับชาติที่รัฐบาลของทั้ง 2 ประเทศต้องดำเนินการร่วมกัน สิ่งที่ผู้ประกอบการสามารถทำได้คือต้องหาวิธีว่าจะทำอย่างไรจึงจะทำให้สินค้าของร้านได้รับความเสียหายน้อยที่สุด”
แนะทำฝายชะลอน้ำ

นางสาวผกายมาศ ยังกล่าวถึงแนวทางการแก้ไขด้วยว่า แนวทางที่น่าจะเป็นการผ่อนหนักให้เป็นเบาในระยะสั้นเท่าที่ได้มีการหารือกัน คือ รัฐบาลไทยกับรัฐบาลเมียนมาต้องเร่งร่วมมือกันเพื่อสำรวจและจัดทำฝายกั้นแม่นํ้าสายตอนบนซึ่งอยู่ทางต้นนํ้า เพื่อให้ฝายเหล่านั้นช่วยชะลอการไหลของนํ้าไม่ให้ไหลทะลักลงมาจนเอ่อเข้าท่วมตัวเมืองแม่สาย-ท่าขี้เหล็ก ส่วนการแก้ไขระยะยาวมีทางเดียวคือจำเป็นต้องเปิดทางนํ้าให้กว้างขึ้น เพื่อให้มวลนํ้าไหลได้สะดวกมากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ เรื่องนี้ประชาคมคนแม่สายและท่าขี้เหล็กรวมทั้งภาครัฐที่เกี่ยวข้องจะต้องหารือกัน หากว่าประชาคมในพื้นที่มีความเห็นพ้องต้องกันและเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน การแก้ไขปัญหาในระดับชาติคือ การเจรจาระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาล เมียนมา

lo02
ท้องถิ่นทำได้แค่ป้องกัน

นายไศลยนต์ ศรีสมุทร นายกเทศมนตรีตำบลแม่สาย อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ก็ยอมรับเช่นเดียวกันว่า ด้วยความที่เป็นแม่นํ้าระหว่างประเทศ ทำให้หน่วยงานรัฐไม่ว่าจะเป็น กรมโยธาธิการและผังเมือง กรมเจ้าท่า หรือแม้แต่เทศบาลตำบลแม่สายซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่ ไม่มีระเบียบกฎหมายที่จะทำให้ สามารถที่จะนำงบประมาณ ของหน่วยงานลงไปดูแลหรือจัดการใดๆ ในแม่นํ้าสายได้ ที่ผ่านมาจึงทำให้ไม่มีเจ้าภาพที่จะเข้ามาดูแลการแก้ไขปัญหาอย่างชัดเจน สิ่งที่งานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเทศบาลตำบลแม่สายทำได้ในปัจจุบัน คือ การป้องกันนํ้าไม่ให้เข้าท่วมพื้นที่ชุมชนได้อย่างง่ายๆ เท่านั้น และหากเกิดนํ้าท่วมขึ้นมาก็หาทางช่วยเหลือเยียวยาความเสียหายของประชาชน ดูแลประชาชนอย่างเต็มที่ตามกรอบอำนาจ หน้าที่ของเทศบาลที่สามารถกระทำได้

090861-1927-9-335x503-3
วอนรัฐบาล 2 ชาติร่วมแก้ไข

มีรายงานว่า คณะกรรมการประสานงานชายแดนส่วนท้องถิ่นไทย-เมียนมา ได้นำเรื่องการแก้ไขปัญหานํ้าท่วมแม่สาย-ท่าขี้เหล็ก เข้าสู่การหารือกันมาแล้วหลายครั้ง แต่ที่ผ่านมายังไม่สามารถดำเนินการใดๆ เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาทั้งในระยะสั้นและระยะยาวได้ เนื่องจากแม่นํ้าสายเป็นแม่นํ้าที่เป็นพรมแดนระหว่างประเทศ การดำเนินการใดๆ จำเป็นต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐบาลของทั้ง 2 ประเทศเสียก่อน ซึ่งเกินอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการประสานงานชายแดนส่วนท้องถิ่น จึงทำได้แค่เพียงทำรายงานเสนอขึ้นไปตามลำดับเท่านั้น

หากรัฐบาลของทั้ง 2 ชาติมีเป้าหมายเดียวกัน คือ อยากให้ประชาชน 2 ฝั่งแม่นํ้าสายหลุดพ้นจากความสูญเสียที่เกิดขึ้นจากอุทกภัย นํ้าท่วมแม่สาย-ท่าขี้เหล็ก ภาครัฐและเอกชนในเมืองแม่สายและเมืองท่าขี้เหล็กเห็นพ้องต้องกัน อยากจะขอวิงวอนให้รัฐบาลของทั้ง 2 ประเทศ เร่งนำปัญหาขึ้นมาสู่โต๊ะการเจรจาเพื่อหาทางแก้ไขร่วมกันอย่าง เป็นระบบทั้งระยะสั้นและระยะยาว

หน้า 21 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,396 วันที่ 30 สิงหาคม - 1 กันยายน 2561

e-book-1-503x62-7