ดันไทยติดสปอตไลต์เวทีโลก "ยุทธศาสตร์EEC"

30 ส.ค. 2561 | 09:31 น.
เรียกว่าโครงการ พัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรืออีอีซี เป็นนโยบายของรัฐบาลที่ดูจะโดดเด่นที่สุด เกี่ยวข้องทั้งระบบ และมีความคืบหน้าเป็นระยะสะท้อนให้เห็นว่ารัฐบาลนี้เอาจริงกับการสนับสนุน พัฒนาและยกระดับให้ จังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง มีการลงทุนในพื้นที่อย่างคึกคักและจะยึดโมเดลนี้ขยายไปสู่จังหวัดอื่นต่อไป

804

“ฐานเศรษฐกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ นฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์  รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ในฐานะหนึ่งในผู้อยู่เบื้องหลังการขับเคลื่อนสิทธิประโยชน์การลงทุน ยุคอินดัสตรี 4.0 เครื่องมือในการกระตุ้นการลงทุนมองถึงภาพรวมของผลที่เกิดขึ้น
5ยุทธศาสตร์ปลุกลงทุน

นฤตม์ ตั้งข้อสังเกตว่า ถ้ามองในแง่ของสำนักงาน จุดเน้นของบีโอไอมี 5 มิติ ประกอบด้วย 1.อุตสาหกรรมเป้าหมายรวม 11 กลุ่ม (รวมอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ) ที่รัฐบาลเน้น โดยทุกหน่วยงานต้องยึดเป้าเดียว กันในการทำงานแบบบูรณาการร่วมกันเพื่อผลักดันให้เกิดผลจริงๆ ซึ่งใน 11 กลุ่มอุตสาหกรรมนี้มีหลายมิติ เพราะใน 11 กลุ่มนี้มีทั้ง 5 กลุ่มอุตสาหกรรมเดิม และ 6 กลุ่มอุตสาหกรรมใหม่ ที่เราต้องการผลักดันให้ใช้ไทยเป็นทั้งแหล่งผลิต และหันไปเน้นส่วนหัวด้วยในด้านการวิจัยและพัฒนา การพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมมากขึ้น โดยเราต้องการให้เกิดการต่อยอดไปทางอุตสาหกรรมที่มีนวัตกรรม มีความไฮเทคมากขึ้น ส่วนกลุ่มใหม่ที่เราต้องการสร้างฐานขึ้นมา ว่าจะเป็นฐานของด้านอุตสาหกรรมอากาศยาน เรื่องหุ่นยนต์ ระบบอัตโนมัติ ด้านดิจิตอล ด้านเทคโนโลยีชีวภาพ เหล่านี้รัฐบาลและบีโอไอต้องการส่งเสริม

2.เรื่องของเทคโนโลยี เป้าหมาย ซึ่งตอนนี้เราทำงานอย่างมีเป้าหมายชัดเจน โดยในส่วนนี้ทำงานร่วมกับกระทรวง
วิทยาศาสตร์ฯ กำหนด 4 ด้านที่ประเทศไทยมีศักยภาพ คือเรื่องไบโอเทคโนโลยี นาโนเทคโนโลยี วัสดุขั้นสูง และด้านดิจิตอล เป็น 4 ด้านที่เราต้องการสร้างให้เกิดขึ้น โดยจะให้สิทธิประโยชน์สูงเป็นพิเศษมากกว่ากิจการทั่วไป ดังนั้นโครงการใดก็ตามที่มีการพัฒนา 4 ด้านนี้ จะได้สิทธิประโยชน์ด้านยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นเวลา 10 ปี จากเดิมที่เป็นกิจการทั่วไปเราจะให้สิทธิประโยชน์ด้านนี้เพียง 8 ปีเท่านั้น

3.พื้นที่เป้าหมาย ที่มีทั้งการพัฒนาพื้นที่อีอีซี และพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน 10 แห่ง และพื้นที่ภาคใต้ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี อยากมีกิจกรรมทางเศรษฐกิจเกิดขึ้น อุทยานวิทยา ศาสตร์ โครงการเมืองนวัตกรรมอาหาร หรือฟู้ดอินโนโพลิส ที่ในส่วนนี้มีการขยายไปสู่ภูมิภาคแล้ว และครอบคลุมพื้นที่ภูมิภาคด้วย สมัยก่อนจะมีอยู่ที่เดียวที่จังหวัดปทุมธานี และตอนนี้กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯทำงานร่วมกันกับเครือข่ายมหาวิทยาลัยภูมิภาค ประกาศพื้นที่ฟูดอินโนโพลิส เพิ่มอีก 7 แห่ง ในทั้งภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคใต้ บีโอไอจึงประกาศให้พื้นที่เหล่านี้เป็นพื้นที่เป้าหมายในการที่จะให้สิทธิประโยชน์เพิ่มเติมสำหรับการลงทุนในพื้นที่เหล่านี้ โดยบวกลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล 5 ปีให้
ดีมานด์ของคนต้องชัดเจน

4.เรื่อง “คน” ที่จะไปตอบสนอง 3 มิติแรก โดยคนเรามีมาตรการในการพัฒนาบุคลากรไทย และบางส่วนที่เราไม่สามารถสร้างในระยะสั้นได้ก็อำนวยความสะดวกในการนำเข้าผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ หรือเป็นบุคลากรที่มีทักษะสูง เอาเข้ามาพัฒนาประเทศ เช่น เรามีสมาร์ทวีซ่า มีเรื่องลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลธรรมดาสำหรับผู้เชี่ยวชาญที่ทำงานอยู่ในอีอีซี เรามีมาตรการจากกระทรวงการคลังที่ลดหย่อน ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เหล่านี้เป็นมาตรการที่ดึงดูดผู้เชี่ยวชาญเข้ามา

“เรากำลังมองเรื่องอุตสาหกรรม 4.0 ดังนั้นจำเป็นต้องสร้างคนขึ้นมารองรับ ตอนนี้เรากำลังทำงานร่วมกับสำนักงานอีอีซี กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงแรงงาน กระทรวงวิทย์ในการทำดีมานด์ของคนให้ชัดเจนว่า ตกลง ความต้องการของคนเพื่อเข้าไปรองรับ 11 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย รองรับอีอีซีนั้นตลาดมีความต้องการกี่คน และเป็นคนประเภทไหน ซึ่งตรงนี้ผลกำลังออกมา โดยสำนักงานอีอีซีเป็นเจ้าภาพเรื่องนี้ ตรงนี้จะเป็นตัวตั้งต้นเลย ต้องตอบให้ได้ว่าแต่ละอุตสาหกรรมต้องการเท่าไหร่ ต้องมีวุฒิการศึกษาระดับไหน ซึ่งในเบื้องต้นน่าจะเป็นอาชีวะประมาณ 70% และเป็นระดับปริญญา 30% ข้อมูลเหล่านี้จะเป็นตัวตั้งต้นในการทำงาน

5. การยกระดับประสิทธิภาพการผลิตโดยเฉพาะกับกลุ่มเอสเอ็มอีไทย ที่เราต้องการยกระดับโรงงานต่างๆ ที่ทำอยู่แล้วให้มีมาตรฐาน มีประสิทธิภาพสูงขึ้น เช่น การปรับเปลี่ยนเครื่องจักรโดยใช้ระบบอัตโนมัติ
ผลจากมูลค่าคำขอ

090861-1927-9-335x503-3

รองเลขาธิการบีโอไอฉายภาพให้เห็นอีกว่า ผลที่เกิดขึ้นจากมาตรการขับเคลื่อนทั้งหมดนั้น จุดแรกต้องให้เครดิตกับทีมของรัฐบาลที่ประกาศนโยบายส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่อีอีซี ที่ทำให้ประเทศไทยกลับมาอยู่ในสปอตไลต์ของเวทีโลกอีกครั้ง ซึ่งวันนี้คนเริ่มจับตามองประเทศไทยมากขึ้น คนทั่วโลกพูดถึงอีอีซีกันเยอะ ตั้งแต่เราเริ่มมีนโยบายอีอีซีมาตั้งแต่ปี 2559 จนถึงปัจจุบัน สิ่งที่สะท้อนกลับมาแล้วคือ มีเม็ดเงิน ที่มาจากคำขอรับการส่งเสริมลงทุนโดยเฉพาะพื้นที่อีอีซีเข้ามาแล้ว 7 แสนล้านบาท ในจำนวนนี้เราเทียบกับ 2 ปีที่แล้ว พบว่าปี 2559 มีประมาณ 2 แสนล้านบาท ปี 2560 ประมาณ 3 แสนล้านบาท ปี 2561 ครึ่งปีแรก ยอดพุ่งแล้ว 1.8 แสนล้านบาท โดยตั้งเป้าปี 2561 ทั้งปีเอาไว้ว่าจะมีเม็ดเงินที่ยื่นขอรับการส่งเสริมเข้ามาไม่ตํ่ากว่า 3 แสนล้านบาท จะเห็นว่าความสนใจใน การเข้ามาลงทุนในพื้นที่อีอีซีนั้นมีมากขึ้น

ทั้งนี้ถ้าเจาะลงมาในขั้นอุตสาหกรรมการผลิตของเซ็กเตอร์ที่เราเป็นฐานการผลิตที่เข้มแข็งมาแต่แรก ก็น่าจะเป็นกลุ่มรถยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ ด้านเคมี ไปยังอุตสาหกรรมด้านการเกษตร การแปรรูปเกษตร ตรงนี้จะพบว่าช่วงหลังๆ จะเป็นโครงการที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง หรือเป็นโครงการวิจัย-พัฒนาเข้ามามากขึ้น และในภาคบริการก็เห็นชัดเจนว่าเมื่อ 6 ปีที่แล้ว ภาคบริการมีคำขอรับการส่งเสริมที่เข้ามายังบีโอไอเป็นภาคบริการประมาณ 20-30% ต่อปี ที่เหลือ 70-80% เป็นภาคการผลิต แต่ในช่วง 2-3 ปีหลังมานี้สัดส่วนในภาคบริการเพิ่มขึ้นเป็น 40-50% ส่วน 50-60% ก็จะเป็นภาคการผลิต ตรงนี้เห็นการเปลี่ยนแปลงชัดเจน และเป็นภาคบริการที่มีมูลค่าสูง

หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,396 วันที่ 30 สิงหาคม - 1 กันยายน 2561

e-book-1-503x62-7