สศอ.เปิดดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมก.ค.61ขยายตัวเพิ่ม4.64%

28 ส.ค. 2561 | 13:19 น.
สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม เผยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนกรกฎาคม 2561ขยายตัวร้อยละ 4.64 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยขยายตัวเป็นบวกติดต่อกันเป็นเดือนที่ 15 โดย 7 เดือนแรกของปี 2561 MPI ขยายตัวร้อยละ 4.0 ( 7 เดือนแรกของปี 2560 ขยายตัวร้อยละ 0.9 )

นายณัฐพล รังสิตพล ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (Manufacturing Production Index - MPI) ประจำเดือนกรกฎาคม 2561 ขยายตัวร้อยละ 4.64 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ขยายตัวเป็นบวกติดต่อกันเป็นเดือนที่ 15 เป็นผลจากการส่งออกของไทยในเดือนกรกฎาคม 2561 มีมูลค่า 20,424 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 8.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นการเติบโตต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 17 โดยการส่งออกไปยังตลาดสำคัญขยายตัวดีโดยเฉพาะตลาดญี่ปุ่น สหภาพยุโรป อินเดียและอาเซียน

mpi

นอกจากนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคและดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมสูงสุดในรอบ 62 เดือน ขณะที่ 7 เดือนแรกของปี 2561 MPI ขยายตัวร้อยละ 4.0 ( 7 เดือนแรกของปี 2560 ขยายตัวร้อยละ 0.9) มีอัตราการใช้กำลังการผลิต เดือนกรกฎาคม 2561 อยู่ที่ร้อยละ 67.23 โดยอุตสาหกรรมสำคัญที่ส่งผลบวกในเดือนกรกฎาคม 2561 ได้แก่ รถยนต์และเครื่องยนต์ น้ำตาลทราย ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ น้ำมันปิโตรเลียมและผลิตภัณฑ์ยาง

อุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลบวกต่อดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ประจำเดือนกรกฎาคม ได้แก่ รถยนต์และเครื่องยนต์ ขยายตัวร้อยละ 13.17 จากรถบรรทุกปิคอัพ เครื่องยนต์ดีเซล รถยนต์นั่งขนาดไม่เกิน 1800 ซีซี ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศ การกระตุ้นตลาดด้วยการเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ รวมทั้งการส่งออกที่ยังเติบโตได้ดี การผลิตรถยนต์เดือนกรกฎาคมปี 2561 มีจำนวน 183,119 คัน แบ่งเป็นการผลิตรถยนต์นั่ง ร้อยละ 40 รถกระบะ 1 ตันและอนุพันธ์ ร้อยละ 58 และรถยนต์เพื่อการพาณิชย์อื่น ๆ ร้อยละ 2 น้ำตาลทราย ขยายตัวร้อยละ 82.26 จากปีนี้มีปริมาณผลผลิตอ้อยจำนวนมาก ทำให้แปรสภาพน้ำตาลทรายดิบเป็นน้ำตาลทรายขาวได้มากขึ้น

mpi1

ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ขยายตัวร้อยละ 9.18 จาก PCBA และ other integrated circuits (IC) ตามความต้องการของตลาดอิเล็กทรอนิกส์โลกที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง น้ำมันปิโตรเลียม ขยายตัวร้อยละ 14.24 จากน้ำมันแก๊สโซฮอล 95 น้ำมันเครื่องบินและน้ำมันเตาจากการเร่งผลิตตามความต้องการใช้ในภาคการขนส่งและภาคอุตสาหกรรมที่ขยายตัว ส่วนการส่งออกที่เพิ่มขึ้นจากน้ำมันเบนซิน 91 เป็นหลัก มีโรงกลั่นบางรายจะปิดซ่อมบำรุงในเดือนสิงหาคม จึงเร่งผลิตในเดือนกรกฎาคม

ผลิตภัณฑ์ยาง ขยายตัวร้อยละ 9.82 จากยางแท่งเป็นหลัก เนื่องจากปีนี้มีน้ำยางออกสู่ตลาดมาก ราคายางจึงปรับตัวลดลง ทำให้ลูกค้าจีนมีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้น โดยการจำหน่ายในประเทศเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.76 ส่วนการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 20.46 แต่ในส่วนของการผลิตยางรถยนต์ที่หดตัว เนื่องจากผู้ประกอบการส่วนใหญ่กำลังปรับผลิตภัณฑ์ให้ได้มาตรฐาน ตามมาตรฐาน มอก. ใหม่ ที่คาดว่าจะประกาศใช้ในปีนี้

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว