ทางออกนอกตำรา : ‘นกแอร์’ ทำพิลึก ใช้มหาชนสร้างหนี้ อุ้ม ‘พาที-มั่งคั่ง’

28 ส.ค. 2561 | 12:33 น.
ท่านผู้ถือหุ้นนกแอร์โปรดทราบ วันที่ 30 สิงหาคมนี้ ไปแจ้งชื่อใช้สิทธิ์เข้าร่วมประชุมวิสามัญฆาตกรรมผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 1/2561 เพื่อเข้าประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นในวันที่ 4 ตุลาคม 2561 ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กันให้เต็มที่นะครับเพราะถ้าท่านผู้ถือหุ้น 9,200 คน พลาดไป ไม่มีใครรับประกันว่าจะมีใครมาล้วงเงินในกระเป๋าของท่านได้...ขอบอก
                 

ทำไมเป็นเช่นนั้น...เพราะปัจจุบันสายการบินนกแอร์ถูกขึ้นเครื่องหมายC เนื่องจากบริษัทมีส่วนของผู้ถือหุ้นติดลบจำนวน 406 ล้านบาท เกิดจากหนี้สินทั้งหมด 6,623 ล้านบาท สูงกว่าสินทรัพย์ที่มีอยู่ 6,217 ล้านบาท ขณะที่ขาดทุนสะสมมากถึง 6,196 ล้านบาท ดังนั้น ในวาระการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 1/2561 ในวันที่ 4 ตุลาคม 2561 เวลา 09.00 น. ณ ห้องจูปิเตอร์ ชั้น 3 โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น เลขที่ 99 ถนนกำแพงเพชร 6 เขตหลักสี่ แขวงตลาดบางเขน กรุงเทพฯ 10210 โดยมีระเบียบวาระการประชุมดังนี้

วาระที่ 1 เรื่องที่ประธานแจ้งให้ที่ประชุมทราบ

วาระที่ 2 อนุมัติการเข้าลงทุนเพิ่มเติมในบริษัท สายการบินนกสกู๊ต จำกัด และการเข้าทำรายการได้มาซึ่งสินทรัพย์ของบริษัทจดทะเบียนและรายการที่เกี่ยวโยงกัน
                 

วาระแรกไม่มีปัญหา ผมทำนายได้ว่า น่าจะเป็นการอธิบายว่าในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2561 (ม.ค.-มิ.ย.) นกแอร์มีรายได้ 7,671.53 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 26% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน รายได้จากค่าโดยสารเพิ่มขึ้น 3.48% และรายได้จากการให้บริการเพิ่มขึ้น 32.43% จากการที่มีปริมาณผลิตด้านผู้โดยสาร เพิ่มขึ้น 13.22% ส่งผลให้อัตราบรรทุกผู้โดยสารอยู่ที่ 91.22%

 

แต่การที่ราคานํ้ามันอากาศยานที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ จากระดับ 63.54 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 83.30 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรลในครึ่งปีแรก หรือเพิ่มขึ้น 31% ขณะที่ค่าใช้จ่ายของบริษัทเพิ่มขึ้น 7.27% ส่งผลให้ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2561 บริษัทมีผลขาดทุนสุทธิ 774 ล้านบาท ขาดทุนลดลง 14.78% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2560 ที่มีผลขาดทุนสุทธิ 909 ล้านบาท ขาดทุนลดลงจากงวดเดียวกันของปีก่อนเท่ากับ 134.32 ล้านบาท หรือขาดทุนลดลง 14.78%

 
วาระต่อมาก็คือ แจ้งให้ทราบสาเหตุที่คณะกรรมการมีมติอนุมัติให้ นายปิยะ ยอดมณี ผู้ประกาศตนว่า NOK AIR  มาจากการที่ นายพาที สารสิน อดีตซีอีโอ ตั้งชื่อสายการบินตามชื่อเล่นของ “ปิยะ” ออกจากตำแหน่งกรรมการ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หรือซีอีโอ และกรรมการชุดย่อยต่างๆ ทุกคณะของบริษัท ตั้งแต่วันที่ 23 สิงหาคม 2561 และได้แต่งตั้ง นายประเวช องอาจสิทธิกุล กรรมการบริษัท และประธานกรรมการบริหาร เป็นรักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ระหว่างรอการสรรหาซีอีโอคนใหม่

นกเเอร์
แต่นั่นคงไม่ใช่สาระผมอยากชี้โพรงให้ผู้ถือหุ้นเห็น แต่ที่ผมจะนำเสนอให้ท่านระวังตัวคือ การนำ “เงินกู้โดยบริษัทมหาชน” ที่เอาเงินจากผู้ถือหุ้นจ่ายดอกเบี้ย ไปอุ้มชูดูแลนิติบุคคลที่กลุ่มตัวเองได้ประโยชน์.....นี่แหละอันตราย
                 

ทำไมเป็นเช่นนั้น เพราะการประชุมรอบนี้จะขอมติผู้ถือหุ้นอนุมัติกู้ยืมเงิน 500-1,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 6% จาก คุณหทัยรัตน์ จุฬางกูร ซึ่งเป็นญาติสนิทของผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัทซึ่งทำให้มีฐานะเป็นบุคคลที่เกี่ยวโยงของบริษัท และทำให้การเข้าทำรายการดังกล่าว เข้าข่ายเป็นการทำรายการที่เกี่ยวโยงกันของบริษัทจดทะเบียนตามประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนที่ ทจ. 21/2551 เรื่อง หลักเกณฑ์ในการทำรายการที่เกี่ยวโยงกัน และประกาศคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยมีขนาดรายการเท่ากับ 2.87% ของมูลค่าสินทรัพย์ที่มีตัวตนสุทธิ โดยจะลงนามสัญญาเงินกู้ยืมภายในเดือนสิงหาคม 2561 เรียกว่าขอมติย้อนหลัง...

ผู้ถือหุ้นนกแอร์

เงินกู้นี้เอาไปทำอะไร ปิยะ ยอดมณี กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ NOK ที่ลาออกไปอธิบายว่า คณะกรรมการบริษัทวาระพิเศษได้มีมติอนุมัติการเข้าลงทุนเพิ่มเติมในสายการบินนกสกู๊ต และการเข้าทำรายการได้มาซึ่งสินทรัพย์ของบริษัทจดทะเบียนและรายการที่เกี่ยวโยงกัน โดยลงทุนเพิ่มในสายการบินนกสกู๊ต 490 ล้านบาท ผ่านบริษัท นกมั่งคั่ง จำกัด บริษัทย่อยของนกแอร์

 
บริษัท นกมั่งคั่งฯ จะนำเงินที่กู้ยืมจากบริษัทเข้าลงทุนเพิ่มเติม โดยการซื้อหุ้นเพิ่มทุนในสายการบินนกสกู๊ต ทั้งหมดนี้เป็นไปตามเงื่อนไขของสัญญาร่วมทุนระหว่างบริษัท Scoot Pte. Ltd. บริษัท นกมั่งคั่ง จำกัด และ บริษัท เพื่อนนํ้ามิตร จำกัด และ บริษัท สายการบินนกสกู๊ต จำกัด ที่ได้ลงนามไว้

 
ไม่เห็นอะไรในกอไผ่ใช่มั้ยครับ....มาดูนี่ ผมแปลภาษาผู้บริหารนกแอร์ให้เป็น “ภาษาคนเล่นหุ้น และคนที่เล่นกับเงิน” ให้เข้าใจชัดมากขึ้นดังนี้  บริษัท นกแอร์ฯกู้ยืมเงินผู้ถือหุ้นมา 500-1,000 ล้านบาท โดยยอมจ่ายดอกเบี้ย 6% เป็นเวลา 1 ปี เหตุที่กู้ยืมผู้ถือหุ้นเพราะยืมเงินจากธนาคาร สถาบันการเงิน หรือออกตั๋วอื่นๆ ขายในตลาดจากรายอื่นได้ เพราะเครดิตจากเจ้าหนี้ไม่มี เพราะขาดทุน หนี้สินล้นพ้นตัว

 
นกแอร์เอาเงินกู้ก้อนนี้อย่างน้อย 490 ล้านบาท ไปให้ บริษัท นกมั่งคั่งฯ ที่ บริษัท นกแอร์ จำกัด (มหาชน) ถือหุ้น 49% แต่มี “พาที สารสิน” อดีตซีอีโอ และ นริศรา อุษณาจิตต์ ถือหุ้นบุริมสิทธิ์อยู่ 51% นำไปซื้อหุ้นเพิ่มทุนในนกสกู๊ต.... พาที สารสิน
ตามทันมั้ยครับ ให้บริษัทมหาชนกู้เงินผู้ถือหุ้นนำเงินไปให้บริษัท ที่ “พาที” ถือ “หุ้นบุริมสิทธิ” ที่มีสิทธิ์เหนือหุ้นสามัญแต่ไม่มีอำนาจบริหารนำไปลงทุนในสายการบินนกสกู๊ตโดยที่ผู้ถือหุ้นบุริมสิทธิที่เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ไม่ใส่เงินสักบาทเดียว

TV-นกแอร์
และในสายการบินนกสกู๊ตนั้นทาง บริษัท เพื่อนนํ้ามิตรฯ ที่มี ปิยะ ยอดมณี กับเพื่อนอีก 2 คน ถือหุ้นอยู่อีก 2-3% แปลง่ายๆว่า ใช้ความเป็นบริษัทมหาชนที่มีหนี้สินล้นพ้นตัว “ลำพังตัวเองก็เลี้ยงไม่รอด” ไปกู้หนี้ยืมสินเขามาใช้เพิ่มทุนในสายการบินนกสกู๊ต ที่พลพรรค“พาที สารสิน-ปิยะ ยอดมณี” มีส่วนได้ส่วนเสีย
090861-1927-9-335x503

ผมละมึนกับการหาทางออกแบบว่า ใช้บริษัทที่ขาดทุนย่อยยับกู้เงินไปช่วยบริษัทสายการบินที่ดีอู้ฟู่ มีกำไรจ่ายคืนผู้ถือหุ้น โดยมีเหตุผลว่าการเพิ่มทุนของบริษัท สายการบินนกสกู๊ตฯ จะช่วยสร้างโอกาสให้กับนกแอร์ ในการขยายธุรกิจการบินราคาประหยัดมากขึ้นด้วยการเพิ่มจำนวนรอบการบินและขยายเส้นทางการให้บริการ และเป็นการสร้างเส้นทางที่เป็นจุดเชื่อมต่อให้กับนกแอร์ได้

 

สมเหตุ สมผล พิลึกกึกกือ.....

ทางออกนอกตำรา โดย...บากบั่น บุญเลิศ ฉบับ 3396 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 30 ส.ค.-1ก.ย.2561

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว