ชป.แจงชาวนาอุทัยฯอ่วมข้าวยืนต้นตายกว่าพันไร่อ่างทับเสลาส่งน้ำไม่ถึงปลายน้ำ

28 ส.ค. 2561 | 10:48 น.
กรมชลประทาน ชี้แจงข่าวกรณีในหลายพื้นที่ของจังหวัดอุทัยธานี เกิดฝนทิ้งช่วงติดต่อกันนานเกือบ 2 เดือน ส่งผลให้นาข้าวขาดน้ำและข้าวทยอยยืนต้นตายอย่างต่อเนื่อง ถึงแม้โครงการชลประทานอุทัยธานีได้ปล่อยน้ำจากอ่างเก็บน้ำทับเสลาลงมาช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรใน 5 อำเภอแล้ว แต่ปริมาณน้ำที่ไหลลงมากลับไม่ถึงพื้นที่เพาะปลูกที่อยู่ท้ายน้ำ ทำให้ข้าวยืนต้นตาย นาข้าวเสียหายไปแล้วกว่า 1,000 ไร่

thong

ดร. ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน ชี้แจงกรณีที่เกิดขึ้นว่า จากปัญหาภาวะฝนทิ้งช่วงนานกว่า 2 เดือน ในพื้นที่จังหวัดอุทัยธานี ส่งผลให้พื้นที่การเกษตรทั้งในเขตชลประทานและนอกเขตชลประทานได้รับผลกระทบใน 5 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมือง อำเภอทัพทัน อำเภอลานสัก อำเภอหนองขาหย่าง และอำเภอหนองฉาง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพื้นที่เพาะปลูกข้าว ซึ่งนาข้าวหลายหมื่นไร่ที่อยู่ระหว่างตั้งท้องออกรวง เสี่ยงขาดน้ำไปหล่อเลี้ยงต้นข้าว ทั้งนี้ เพื่อเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรในพื้นที่ดังกล่าว กรมชลประทาน โดยโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาทับเสลา โครงการชลประทานอุทัยธานี ได้จัดการประชุมคณะทำงานบริหารและจัดการน้ำอ่างเก็บน้ำทับเสลา ร่วมกับกลุ่มตัวแทนผู้ใช้น้ำในเขตชลประทาน ไปเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2561 ณ ห้องประชุมโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาทับเสลา จังหวัดอุทัยธานี

ทั้งมีมติให้ทำการระบายน้ำเพื่อช่วยเหลือพื้นที่นาปี ครั้งที่ 3/2561 โดยเริ่มระบายน้ำจากอ่างเก็บน้ำทับเสลา ตำบลระบำ อำเภอลานสัก ตั้งแต่วันที่ 3 สิงหาคม 2561 ที่ผ่านมา ปริมาณน้ำรวม 30 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่ปรากฏว่า เมื่อได้ดำเนินการระบายน้ำจนครบตามมติที่ประชุมแล้ว ปริมาณน้ำก็ยังส่งไปไม่ถึงพื้นที่ด้านท้ายน้ำ เนื่องจากพื้นที่การเกษตรที่ขาดแคลนน้ำมีเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในพื้นที่หมู่ 2 ตำบลหนองนางนวล อำเภอหนองฉาง กรมชลประทานไม่ได้นิ่งนอนใจกับปัญหาที่เกิดขึ้น

090861-1927-9-335x503

จึงได้ขอมติจากคณะทำงานฯ อีกครั้ง เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรพื้นที่ดังกล่าว โดยขอเพิ่มปริมาณการระบายน้ำจากเดิมอีกจำนวน 7 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งเป็นปริมาณน้ำมากที่สุดที่จะสามารถระบายน้ำให้กับพื้นที่การเกษตรได้ เนื่องจากปริมาณน้ำใช้การคงเหลือเพียง 15% ของปริมาณน้ำใช้การทั้งหมดเท่านั้น จึงจำเป็นต้องเก็บกักน้ำไว้ใช้เพื่อการอุปโภค-บริโภค และรักษาระบบนิเวศ

อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันปริมาณน้ำได้ส่งถึงพื้นที่ด้านท้ายน้ำในเขตตำบลหนองนางนวลเป็นบางส่วนแล้ว ประกอบกับมีฝนตกลงมาในพื้นที่เป็นจำนวนมาก สามารถบรรเทาความเดือดร้อนจากภาวะภัยแล้ง และคาดว่าจะมีน้ำเพียงพอหล่อเลี้ยงต้นข้าวไม่ให้เกิดความเสียหายเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ชลประทานในพื้นที่ ได้ทำการแจ้งเตือนเกษตรกร ผ่านตัวแทนผู้ใช้น้ำและผู้นำในพื้นที่ ให้ทำการประชาสัมพันธ์ทำความเข้าใจแก่เกษตรกรทั้ง 5 อำเภอ ว่า หากจะมีการเพาะปลูกข้าวรอบใหม่ จะมีความเสี่ยงต่อภาวะน้ำหลาก นาข้าวอาจถูกน้ำท่วมได้รับสร้างความเสียหาย ทั้งนี้ การระบายน้ำดังกล่าวยังเป็นการพร่องน้ำออกจากอ่างเก็บน้ำทับเสลา เพื่อรองรับน้ำในช่วงฤดูฝนนี้อีกด้วย

e-book-1-503x62-7